‘ธนาธร’ ย้ำการเมืองท้องถิ่นไทยแค่ 1.0 เหตุผู้มีอำนาจกลัวกระจายอำนาจ

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ชุมพร นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่(อนค.) เข้าร่วมเสวนาเรื่อง “การเมืองท้องถิ่นยุคใหม่เพื่อพัฒนาประเทศไทยยุค 4.0” และพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ชุมพร โดยนายธนาธร กล่าวตอนหนึ่งว่า การเมืองท้องถิ่นในประเทศไทยไม่เคยเกิดขึ้นอย่างจริงจัง การเมืองระดับชาติคือการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ส่วนการเมืองท้องถิ่นคือการเลือกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หลายคนยังเข้าใจผิดว่าการเลือกผู้แทนราษฎร เช่น ส.ส.ชุมพร จะเข้าไปทำหน้าที่บริหารงานจังหวัด แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ เพราะ ส.ส.ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อออกกฎหมาย

นายธนาธรกล่าวว่า การกระจายอำนาจถูกเขียนและเกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 ซึ่งทำให้มีการเลือกตั้ง อบต.และ อบจ.เกิดขึ้น โดยก่อนหน้านี้ข้าราชการส่วนภูมิภาคมีอำนาจปกครองท้องถิ่น เมื่อมี อบต.และ อบจ. เข้ามาแบ่งอำนาจ จึงเกิดความตึงเครียดระหว่างอำนาจเก่ากับใหม่ ภายหลังการทำรัฐประหารปี 2549 และปี 2557 กลุ่มคนผู้มีอำนาจในสังคมก็เกลียดกลัวการกระจายอำนาจมาก เพราะเป็นการลดบทบาทของภาครัฐที่มีต่อประชาชน แม้จะมีความพยายามสร้างการเมืองระดับท้องถิ่น แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นสมบูรณ์ในประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่สามารถพูดได้ว่าการเมืองท้องถิ่นตอนนี้เป็นยุค 4.0 เพราะที่ผ่านมายังก้าวไม่พ้น 1.0 เลย

“ไม่มีวิธีใดที่จะอธิบายการกระจายอำนาจได้ดีไปกว่าเรื่องเงิน เราทุกคนต่างเสียภาษีไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง อาจเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ในปัจจุบันงบประมาณถูกกำหนดโดยส่วนกลาง จริงๆ แล้วท้องถิ่นสามารถเก็บภาษีได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นกลไกที่จะทำให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้ คนต่างจังหวัดกลายเป็นคนรับเคราะห์กรรมจากการพัฒนา แต่ผลประโยชน์จากการพัฒนาตกไปอยู่ที่คนอื่น เพราะท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากร เช่น เมื่อมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้น ผู้ที่ต้องได้รับผลกระทบก็คือคนท้องถิ่นที่ต้องเสียวิถีชีวิต เสียสุขภาพ พี้นที่ที่ใช้ไฟฟ้าเยอะคือภาคอุตสาหกรรม แต่คนที่รับมลพิษคือคนที่บ้านอยู่ข้างโรงไฟฟ้า” ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กล่าว

นายธนาธรกล่าวถึงสถิติจากรายงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในประเทศไทยของธนาคารโลกว่า การจัดสรรงบประมาณของกรุงเทพฯ ที่แม้จะมีประชากร 17% ของประเทศและทำรายได้ 26% ของ GDP ทั้งหมด แต่กลับได้รับงบประมาณถึงกว่า 72% ของงบประมาณทั้งหมด ในทางกลับกันภาคอีสานที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศถึง 34% และทำรายได้ถึง 11% แต่กลับได้รับงบประมาณเพียง 6% ของงบประมาณใช้จ่าย

“เห็นชัดเลยว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาและความไม่เสมอภาคสูงมาก ทุกจังหวัดในประเทศไทยที่ยากจน ไม่ใช่เพราะคนต่างจังหวัดขี้เกียจ ไม่ใช่เพราะไม่มีศักยภาพ แต่เกิดจากอำนาจที่มีไม่เท่ากัน ภาษี รายได้ทั้งหมด ถูกเอาไปพัฒนากรุงเทพฯเยอะเกินไป” นายธนาธรกล่าว

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์