‘พงศ์เทพ’ สวน พรรคการเมืองไม่ได้ใช้ จีที 200 เลือกผู้สมัคร อัด พวก 0.4 ห้ามโซเชียล

เมื่อวันที่ 1 กันยายน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไพรมารีโหวตตามแบบฉบับของสภานิติบัญัติแห่งชาติ(สนช.) ไม่ได้เป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชนตั้งแต่ต้น ไม่ได้วางระบบไว้อย่างบริสุทธิ์ใจ แต่ต้องการเพิ่มความยุ่งยาก สร้างปัญหาให้แก่พรรคการเมือง เพราะ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับใหม่ ส่งผลให้แต่ละพรรคการเมืองเหลือสมาชิกไม่มาก สุดท้ายจะกลายเป็นไพรมารีปาหี่ เนื่องจากให้สมาชิกพรรคไม่กี่คน เป็นคนเลือกผู้รับสมัคร พร้อมมัดมือกรรมการบริหารพรรค ซึ่งอาจไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนวิธีการให้สมาชิกพรรคได้มีส่วนร่วม ในการเลือกผู้รับสมัครครั้งนี้ บ่งชี้ 2 อย่าง 1.ชี้ให้เห็นว่าระบบที่ทำมาตอนต้นนั้น ไม่มีความรอบคอบ 2.การคิดระบบประหลาดเช่นนี้ออกมา หวังสร้างปัญหาให้พรรคการเมือง แต่กลับทำให้พรรคพวกตัวเองก็มีปัญาหาด้วย จึงเป็นไปได้ที่ คสช.จะเห็นแล้วว่าไพรมารีโหวตที่คิดมาแต่แรกนั้น พรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่สามารถดำเนินการได้ จึงต้องแก้ไขปัญหาแบบขอไปที เพื่อพรรคพวกตัวเอง แม้ทำให้พรรคอื่นได้รับประโยชน์ด้วยก็ตาม

“ไม่ต้องมีไพรมารีโหวต ทุกพรรคก็อยากให้ผู้สมัครของตัวเองได้คะแนนเยอะๆกันทั้งนั้น ก่อนส่งผู้สมัครเขาก็จะพยายามฟังเสียงประชาชนอยู่แล้ว ว่าควรส่งใครลง วิธีการคิดและฟังประชาชนของพรรคการเมืองมันดีกว่าไพรมารีปาหี่นี้อีก พรรคการเมืองไม่ได้นั่งเทียนแล้วส่งคนนั้นคนนี้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เขาไม่ได้เอาจีที 200 มาชี้ว่าคนไหนควรจะเป็น กฎหมายที่ออกมาสมัย คสช.มีปัญหาเยอะไปหมด เป็นเรื่องหนักของรัฐบาลชุดต่อไปที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา เพราะ คสช.ยังบีบให้แก้ยากด้วย”

นายพงศ์เทพ กล่าวถึงการที่จะมีการควบคุมการหาเสียงในโซเชียลมีเดียว่า รัฐบาลพยายามนำประเทศไปสู่ 4.0 แต่คนที่ทำล้วนมาอยู่ในยุค 0.4 ทั้งสิ้น เพราะคนเหล่านี้ไม่เคยรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเลย ทั้งนี้เราควรสนับสนุนให้พรรคการเมืองมีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงน้อยที่สุด เพราะการใช้เงินน้อยในการหาเสียง ย่อมเป็นประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลควรส่งเสริมให้ใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าการปิดกั้น หากกลัวว่าจะมาผลกระทบในแง่ลบตามมา รัฐบาลก็จะสามารถตีกรอบการใช้ได้ด้วย เช่น ให้ผู้สมัครมายืนยันการใช้สื่อออนไลน์ของตัวเอง ซึ่งจะง่ายต่อการตรวจสอบของ กกต.หากมีการบิดเบือนข้อมูล ที่แล้วมาบรรดานักการเมือง ต่างก็มีการใช้สื่อออนไลน์ติดต่อสื่อสาร เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ว่าจงใจเปิดกันมากในช่วงนี้ เพราะมีการทำกันมากแล้ว

 

ที่มา มติชนออนไลน์