ชทพ. จี้ รบ.จะคุมเข้มหาเสียงโซเซียล คำนึงถึงความเป็นไปในโลกออนไลน์ด้วย

วันนี้ (1 ก.ย.) นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลคสช.เตรียมหามาตรการคุมเข้มการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียว่า เชื่อว่า หากมีมาตรการในกรณีนี้ออกมาทุกพรรคการเมือง ทั้งเก่า และใหม่ คงจะมีผลกระทบกันถ้วนหน้า แต่ก่อนที่ถึงมีมาตรการออกมา ตนอยากขอความชัดเจนจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่า การหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย คืออะไร เพราะที่ผ่านมา กิจกรรมต่างๆ เช่น การลงพื้นที่ พบปะชาวบ้าน หรือ แม้แต่ตนที่ร่วมทำกิจกรรมกับมูลนิธิบรรหาร-แจ่มใส แจกทุกการศึกษาแก่นักเรียนผู้ยากไร้มาเป็น 10 ปีแล้ว ก็นำรูปมาโพสต์บอกกล่าวกับแฟนเพจได้ทราบทุกครั้ง สิ่งเหล่านี้เป็นการสื่อสารไปในสาธารณะ แม้ขณะนี้คสช.จะยังไม่อนุญาติ แต่เมื่อถึงวันที่มีการคลายล็อกให้ เราก็ไม่สามารถจำกัดให้แค่เฉพาะสมาชิกพรรคเท่านั้นที่สามารถติดตามเรา

“โลกโซเชียลเป็นอะไรที่ซับซ้อน การกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์บางกรณีที่ผ่านมาต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความจริงนาน บางกรณีพิสูจน์ไม่ได้ เพราะอาจโพสต์มาจากภายนอกประเทศ ดังนั้น การจำกัดการใช้ช่องทางนี้ จึงต้องพิจารณาถึงความเป็นไปในโลกออนไลน์ด้วย” นายวราวุธ กล่าว และว่า สำหรับพรรคการเมือง หากมองในแง่ดีถือเป็นช่องทางที่ประหยัด แต่ก็ไม่ใช่ว่า ไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะถ้ามีการเพิ่มยอดแฟนเพจก็ต้องเสียเงินเพิ่ม จึงอยากขอความชัดเจนว่า สิ่งเหล่านี้ต้องนำมาคิดคำนวนเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคหรือไม่

ด้าน นายภราดร ปริศนานันทกุล อดีตส.ส.อ่างทอง ชทพ. กล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย ทั้งโอกาสของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทั้งโอกาสการปฏิรูปการเมืองผ่านระบบหรือวิธีการใหม่ๆ หากกติกาห้ามก็อาจถูกมองว่าปิดกั้น ดังนั้น ตนมองว่าคสช.อย่าไปกลัวกับการสื่อสารสมัยใหม่ ภายใต้การควบคุมด้วยกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การที่นักการเมืองจะสื่อสารอะไร หรือกระจายข่าวอะไรต้องคำนึงถึงการเขียน การพูดที่ตรงกับข้อเท็จจริงอยู่แล้ว คสช.ไม่ควรออกกฎหมายที่ซ้ำซ้อน มิเช่นนั้นจะเป็นการทำลายบรรยากาศหาเสียง ที่จะเป็นสิ่งกระตุ้นให้คนตื่นตัวออกมาใช้สิทธิ

ส่วนกรณีที่ กกต.ล่าสุดจะนำนโยบายของพรรค และหมายเลขผู้สมัครส่งไปยังประชาชนแทนการหาเสียงของนักการเมืองนั้น กกต.เคยใช้มาแล้ว แต่ผลคือ คนไม่รับรู้นโยบาย หมายเลขผู้สมัคร และนโยบาย เพราะ กกต.ใช้วิธีประชาสัมพันธ์ผ่านรูปแบบของราชการ คนเข้าไม่ถึง จึงคิดว่า กกต.ควรกำกับ และดูแลไม่ให้มีผู้ใดทำผิดกฎหมายเลือกตั้งจะเหมาะสมกว่า

 

ที่มา มติชนออนไลน์