“อีเวนต์การเมือง” หลังคลายล็อก ปรับ ครม. “บิ๊กตู่ 6” พท.-ปชป.หาหัวหน้าใหม่

เดือน ก.ย. 2561 ปี่กลองการเมืองจะกลับมาคึกคัก-ดังขึ้นอีกครั้ง

เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมใช้อำนาจพิเศษแก้คำสั่ง 53/2560 “คลายล็อก” การเมือง

ตามข้อเสนอ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ในฐานะหมอกฎหมายรัฐบาล ชงแนวทางคลายปมให้พรรคการเมืองได้เอ็กเซอร์ไซส์ก่อนเลือกตั้ง หลังจากถูกห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองมาร่วม 4 ปี

ภายใต้สูตร 6 ข้อ + 9 เรื่อง เช่น ให้พรรคจัดประชุมใหญ่เพื่อรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติมได้ ตั้งกรรมการเพื่อสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ และให้มีกรรมการสรรหา 11 คน คัดคนลงเลือกตั้งแทนการทำไพรมารี่โหวตรวมถึงให้มีการประชุมใหญ่แก้ข้อบังคับได้ เลือกตั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และกรรมการพรรค

แต่ “คำสั่งพิเศษ” ดังกล่าวจะปรากฏโฉมต่อเมื่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. … และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. …ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะอยู่ในช่วงกลางเดือน ก.ย.

ดังนั้น สเต็ปการเมืองหลังคลายล็อกตั้งแต่เดือน ก.ย.เป็นต้นไป มีอย่างน้อย 3 เรื่องที่น่าจับตา

ลุ้น “บิ๊กตู่” เผยอนาคตการเมือง

เรื่องที่ 1 การเปิดโรดแมปการเมืองส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์

ย้อนกลับไป 21 มิ.ย.ช่วงที่ “พล.อ.ประยุทธ์” เดินสายโรดโชว์ประเทศที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นายกฯ นายพล หล่นประโยคการเมืองกับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก “กำลังพิจารณาเข้าร่วมพรรคการเมืองหนึ่งเพื่อรับประกันว่านโยบายต่าง ๆ ของเขาจะถูกสานต่อภายใต้รัฐบาลใหม่”

“บางทีผมอาจให้คำตอบกับคุณได้ในเดือนกันยายน ในตอนนั้นผมอาจมีความชัดเจนกว่านี้ ผมยังมีเวลา”

ผ่านมา 2 เดือน “พล.อ.ประยุทธ์” ตอบคำถามนักข่าววันที่ 14 ส.ค. 2561 เมื่อถูกถามเรื่องการเปิดเผยอนาคตการเมืองในเดือน ก.ย.ว่า “ก็โอเค ตอนนี้ยังไม่ถึงเดือน ก.ย.ก็ไม่ต้องถามตอนนี้ ถ้าถึงก็รู้เอง ผมไม่เคยลืมพูดอะไร ซึ่งผมบอกแล้วยังไม่รู้ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ จะอยู่อย่างไร ต้องไปดูกฎหมายรัฐธรรมนูญ การจะอยู่ต้องดูว่าอยู่เพื่ออะไร ทำอะไร จำเป็นหรือไม่ แล้วจะไปอยู่พรรคไหนก็อีกเรื่อง จะไปอยู่ได้อย่างไร ข้อสำคัญจะไปอยู่พรรคไหนก็ตาม ถ้าประชาชนไม่เลือกพรรคนั้นแล้วจะมาได้อย่างไร ตอนนี้ยังไม่รู้พรรคไหน จะเอาคำตอบให้ได้หรือ”

แต่ท่าทีล่าสุดเมื่อ 28 ส.ค. 61 “พล.อ.ประยุทธ์” กล่าวอีกครั้งว่า วันนี้บอกไว้ได้เลยว่า จะติดตามความเคลื่อนไหวของทุกพรรคการเมืองว่าเป็นอย่างไร เราถึงจะสามารถกำหนดบทบาทของตัวเองได้อย่างเหมาะสมถูกต้องก็เท่านั้น วันนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจอะไรทั้งสิ้น เพราะยังมีเวลาอีกตั้งหลายเดือน

คำพูดของ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังตัดสลับไป-มา ยังยืนยันรอความชัดเจน

จับตาการปรับ ครม.

เรื่องที่ 2 กระแสการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)

เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เปรียบเป็น “นั่งร้าน”ให้ “พล.อ.ประยุทธ์” กลับมาเป็นนายกฯรอบ 2 ผ่านกลไกเลือกตั้ง

ซึ่งมีชื่อของ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พาณิชย์ และ “อุตตม สาวนายน” รมว.อุตสาหกรรม 2 รัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล เตรียมลุกจากเก้าอี้เพื่อนั่งเป็นหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค โดยมี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เป็นดีลเมกเกอร์การเมืองคนสำคัญ

แม้ว่า “อุตตม” แคนดิเดตหัวหน้าพรรค จะออกมาปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า “ยังมีเวลาอีกหลายเดือนในการตัดสินใจ ก่อนจะใกล้เลือกตั้ง ยังไม่ได้มีอะไรชัดเจน เพราะเป็นเรื่องของอนาคต ผมเคยพูดไว้ในเรื่องการที่จะทำประโยชน์ให้บ้านเมือง เพียงแต่จะเป็นในรูปแบบไหน อย่างไร ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่ขอยืนยันว่าไม่ได้ลาออกอย่างที่เป็นข่าว และไม่ได้มีแผนที่จะลาออกในเวลาอันใกล้นี้”

ขณะที่แคนดิเดตเลขาธิการพรรคอย่าง “สนธิรัตน์” กล่าวว่า เรื่องลาออกไม่เป็นความจริง ยืนยันจะทำงานต่อไป

“เมื่อถึงเวลาที่คิดว่าต้องตัดสินใจก็ต้องตัดสินใจ ส่วนเวลาที่เหมาะสมนั้นต้องดูสถานการณ์การเมืองตอนนั้นว่าเป็นอย่างไร จะมีการเลือกตั้งเมื่อไร เมื่อการเลือกตั้งชัดเจน สถานการณ์การเมืองชัดเจน จะดูว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นจะดำเนินการอย่างไร”

ต่อเมื่อมีควันย่อมมีเชื้อถึงความเป็นไปได้ เพราะเส้นตาย 180 วันที่พรรคพลังประชารัฐต้องมีหัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรค-กรรมการบริหารพรรค ใกล้งวดเข้ามาทุกขณะ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 6 ต.ค.นี้

ดังนั้น “ชวน ชูจันทร์” ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ได้ขอวันประชุมพรรคเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค หัวหน้าพรรค กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว รอเพียงการตอบรับจาก กกต.เท่านั้น ซึ่งจะเป็นช่วงกลางเดือน ก.ย. แต่ไม่เกินวันที่ 20 ก.ย. ซึ่งจะมีความชัดเจนเรื่องโครงสร้างพรรคแน่นอน เพราะไม่อยากให้ลากยาวจนถึงช่วงปลายเดือน จะกระชั้นกับกำหนด 180 วันมากเกินไป

เมื่อเงื่อนเวลาการเมืองบีบรัด อาจมีการปรับ ครม.ประยุทธ์ 6 ก็อาจเป็นได้

แอ็กชั่นการเมืองหลังปลดล็อก 

เรื่องที่ 3 การแอ็กชั่นทางการเมืองของพรรคการเมืองหลังการปลดล็อก โฟกัสที่ 2 พรรคใหญ่ที่มีเอฟเฟ็กต์ทางการเมืองสูงลิบเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์

ฟาก “เพื่อไทย” ทีมยุทธศาสตร์พรรคสั่งการให้ ส.ส.-ผู้สมัครของพรรคเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจขึ้นมา ทางหนึ่งไว้ติดต่อ-รับฟังปัญหากับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ ส.ส.ในต่างจังหวัดใช้เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารยุคใหม่ให้เกิดประโยชน์ในการทำพื้นที่ และอีกทางหนึ่งไว้เป็นช่องทาง ปะ-ฉะ-ดะ กับ คสช.

พท.ฝุ่นตลบหาผู้นำไม่จบ 

ทว่า…หลังจากเพื่อไทยกลายเป็นพรรคไร้หัวมาตั้งแต่รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 การหาบุคคลที่เป็นผู้ถือธงนำพรรคสู้ศึกเลือกตั้งจึงสำคัญ ที่ผ่านมาปรากฏชื่อของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เจ้าแม่ กทม.คั่วตำแหน่งคนถือธงนำพรรคมาตั้งแต่หลัง คสช.ยึดอำนาจ สลับกับชื่อคู่ท้าชิงหมุนเวียนสับเปลี่ยนทั้งจาตุรนต์ ฉายแสง-พงศ์เทพ เทพกาญจนา-ชัยเกษม นิติสิริ-พิชัย นริพทะพันธุ์ กระทั่ง “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกฯ เขยตระกูลชินวัตร

แต่เมื่อใกล้ถึงรอบไฟนอล ชื่อต่าง ๆ ที่เคยฟุ้งฝุ่นตลบจึงเหลือเพียงไม่กี่ชื่อ

“สุดารัตน์” ยังคงเกาะกระแสเหนียวแน่น ซึ่งเคยมีข่าวว่าได้รับไฟเขียวจากคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยานายใหญ่ทักษิณ ชินวัตร ให้การสนับสนุนในการเคลื่อนไหวถือธงนำ

ในงานแต่งงานของลูกชาย “ภูมิธรรม เวชยชัย” เลขาธิการพรรค จึงมีภาพคุณหญิงสุดารัตน์นั่งใกล้ชิดคุณหญิงพจมาน และเดินออกจากงานแทบจะพร้อมกันหลังเสร็จพิธี

“สมชาย” มีแบ็กอัพ คือ “เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” น้องสาวทักษิณเดินสายกล่อม ส.ส.ให้กลับมาสนับสนุนถือธงนำพรรคอีกครั้ง

ส่วนชื่อล่าสุด คือ “ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์” สามีเอม-นางพินทองทา ชินวัตร บุตรเขย”ทักษิณ” ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีข่าวว่าเป็นชื่อที่นายใหญ่รีเควสต์ขึ้นมาเอง เพื่อจุดกระแสรีแบรนดิ้งเพื่อไทยสู่ภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่

ที่สุดแล้ว “หัว” ของเพื่อไทยจึงขึ้นอยู่กับการตกลงกันเองภายในบอร์ดชินวัตร

ด้าน “ภูมิธรรม” เลขาฯเพื่อไทย มั่นใจว่า “ถ้า คสช.เปิดให้ทำกิจกรรมทางการเมืองภายใน 7 วัน ผมสามารถหาหัวหน้าพรรคได้ทันที โดยสมาชิกพรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจได้ รวมถึงชื่อนายกฯในบัญชี 3 ชื่อของพรรค”

ปชป.ปรับปรุงข้อบังคับพรรค

ฟากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทันทีที่ คสช.คลายล็อก กิจกรรมแรกคือ การปรับปรุง “ข้อบังคับพรรค” เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อตามที่ประชุมใหญ่ของพรรค และสิ่งที่จะทำควบคู่กันไป คือ การหาสมาชิกพรรคและการจัดตั้งสาขาพรรค รวมถึงการเลือกหัวหน้าพรรค การเลือกเลขาธิการพรรค และการเลือกกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.)

“องอาจ คล้ามไพบูลย์” รองหัวหน้าพรรค กล่าวว่า ข้อบังคับพรรค-อุดมการณ์พรรคไม่มีการเปลี่ยนตั้งแต่ พ.ศ. 2489 ขณะที่นโยบายอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ โดยมีนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคเป็นประธานนโยบายพรรค

ผุด “ไพรมารี่หัวหน้าพรรค”

สำหรับการเลือกหัวหน้าพรรค-กก.บห.พรรคจะเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรค แต่ความ “พิเศษ” ของ ปชป.ครั้งนี้คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ซึ่งหมดวาระการเป็นหัวหน้าพรรคตั้งแต่ต้นปี”61 ต้องการให้สมาชิกพรรคเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ได้โดยตรง หรือการใช้ไพรมารี่โหวตหัวหน้าพรรคเพื่อหยั่งเสียงเบื้องต้น

ดังนั้น ความแปลก-ใหม่ของ ปชป.ในครั้งนี้ จึงถือเป็นครั้งแรก ปชป.-การเมืองไทย ที่พรรคการเมืองจะใช้ระบบไพรมารี่โหวตหัวหน้าพรรคโดยที่ประชุมสมาชิกพรรคเป็นผู้เลือก

“ในที่ประชุมสมาชิกพรรคจะมีการเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นหัวหน้าพรรค หรือเสนอชื่อตัวเองขึ้นมาก็ได้ รวมถึงผู้ที่จะเสนอชื่อแข่งขัน ส่วนเลขาธิการพรรค และ กก.บห.พรรคใช้วิธีเลือกในที่ประชุมใหญ่จากตัวแทนสาขาพรรค ตัวแทนสมาชิก อดีต ส.ส. ตัวแทนสภาท้องถิ่นในนามพรรค ผู้บริหารท้องถิ่นและกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกพรรค” นายองอาจกล่าว

สรุปคือ ต้องเลือกหัวหน้าพรรคก่อนและหัวหน้าพรรคจะเป็นคนเสนอชื่อเลขาธิการพรรคที่หัวหน้าพรรคไว้ใจ-เป็นมือเป็นไม้ เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่เลือก

พร้อมไพรมารี่โหวต

สำหรับการเตรียมตัวเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคตามการไพรมารี่โหวตที่ คสช.ยัง “ไม่ตกผลึก” ว่าจะเป็นไพรมารี่โหวตแบบรายภาค หรือไพรมารี่โหวตแบบคณะกรรมการสรรหา แต่แนวโน้มจะเป็นการสรรหาโดย 11 กรรมการ

แต่ไม่ว่าใช้วิธีใด “องอาจ” ยืนยันว่า ปชป.ก็พร้อม

การเมืองเดือน ก.ย.จึงเข้มข้นทุกฉาก ทุกตอน