รีเซต กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น สกัด “นักการเมืองสีเทา” คืนสังเวียน

โรดแมปการเลือกตั้งท้องถิ่นเริ่ม “เด่นชัด” เมื่อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น จำนวน 6 ฉบับ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 ทุกฉบับ ได้แก่

ฉบับที่ 1 ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. … ฉบับที่ 2 ร่าง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่…) พ.ศ. …

ฉบับที่ 3 ร่าง พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่…) พ.ศ. … ฉบับที่ 4 ร่าง พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่…) พ.ศ. … ฉบับที่ 5 ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่…) พ.ศ. … และฉบับที่ 6 ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่…) พ.ศ. …

ไทม์ไลน์การเลือกตั้งท้องถิ่นถูก “ปักหมุด” ไว้หลังการเลือกตั้งระดับชาติ (24 ก.พ. 62) 90 วัน แบ่งออกเป็น 2 ขยัก ขยักแรก 40 จังหวัด เป็นพื้นที่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้งจากเดิม ขยักที่สองอีก “จังหวัดที่เหลือ” จนครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ

ความเข้มข้นของกฎหมายท้องถิ่นทั้ง 6 ฉบับ สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ “ฉบับปราบโกง” มาตรา 252 กำหนดว่า ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง… คำนึงถึงเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ยิ่งเมื่อนักการเมืองท้องถิ่นถูก “ตั้งธง-ตกเป็นจำเลย” ในข้อหาทุจริตติดอันดับ 1 ตลอด 8 ปีที่ผ่าน (ณ ปี”57) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีคดีอยู่ในสารบบ ป.ป.ช.

“เนื่องจากปัจจุบันปรากฏข้อเท็จจริงกรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นถูกร้องเรียนว่ากระทำการฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ แต่ในระหว่างกระบวนการสอบสวนมักมีกรณีผู้บริหารท้องถิ่นได้พ้นจากตำแหน่งด้วยการลาออกหรือครบวาระ หรือเหตุอื่นใด แต่ต่อมากลับปรากฏว่าผู้นั้นได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้บริหารท้องถิ่นอีก” ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีการะบุ

สำหรับความเข้มของกฎหมายท้องถิ่น 6 ฉบับ อาทิ 1.ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับผิดชอบจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่สามารถมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือมหาดไทยจัดการเลือกตั้งได้

2.ให้สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ยังคงมีอยู่ต่อไป 3.การได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่ประสงค์เลือกผู้ใด

4.กกต.สามารถตรวจสอบการเลือกตั้งในเชิงรุก หรือสามารถตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้งโดยไม่ต้องมีผู้มาร้องเรียน 5.ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ-เข้มงวดมากขึ้น เช่น ไม่มี “ชนักปักหลัง” คือ คดีความติดตัว ผลประโยชน์ทับซ้อน

6.กำหนดอำนาจหน้าที่ผู้บริหารท้องถิ่นในการใช้เงินแผ่นดิน เช่น การใช้งบประมาณ-ทรัพยากรของรัฐผิดลักษณะ-ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ 7.ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลจัดการจราจรได้ เพื่อรองรับการผ่องถ่ายอำนาจจากตำรวจจราจร

8.กกต.เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งก่อนการประกาศผลเลือกตั้งได้ 1 ปี เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งหลังเลือกตั้งได้ 10 ปี และให้ผู้กระทำความผิดทุจริตรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง

“สมมุติ อบจ.นครสวรรค์จะจัดงานในปากน้ำโพแต่ไปปิดป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ เชิญชวนไว้ตั้งแต่ทางด่วนแถวประตูน้ำพระอินทร์ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การอำนวยความสะดวก เช่น รถยนต์ให้กับประชาชนในการเดินทางข้ามจังหวัด หรือการจ่ายเงินสนับสนุนนักกีฬานอกเหนือจากเขตพื้นที่ตัวเอง” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียก case study กฎหมายท้องถิ่นทั้ง 6 ฉบับ จึงทำหน้าที่ทั้งกลั่นกรอง-สกัดนักการเมืองท้องถิ่นที่แปดเปื้อนคดีทุจริตไม่ให้กลับมาลงเลือกตั้งอีก