สมรภูมิเลือกตั้งภาคใต้เดือด “สุเทพ-วันนอร์-เพื่อไทย” รุมกินโต๊ะ “ประชาธิปัตย์”

รายงานพิเศษ

วัน ว. เวลา น. เลือกตั้ง เริ่มเห็นชัดขึ้นมาทุกขณะ

ทุกฝีก้าวของพรรคการเมืองทั้งพรรคเก่า พรรคใหม่ เริ่มขยับ ปรับทัพ เปิดศึกชิงตัวนักเลือกตั้งกันฝุ่นตลบ ก่อนระฆังการเมืองดังขึ้น

สนามเลือกตั้งภาคใต้ถือเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง ไม่แพ้เหนือ-กลาง-อีสาน

เพราะศึกครั้งนี้ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ของ “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ แตกออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าอาณานิคมการเมืองภาคใต้ กลายเป็นศึกระหว่างคนที่เคยเป็นพวกเดียวกัน

พรรครวมพลังประชาชาติไทย ของ “กำนันสุเทพ” รวบรวมไพร่พลมหามิตร กปปส.เครือข่ายอดีต ส.ว.สายสรรหา

มีส่วนผสมของ 2 ราชนิกุล ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่รับหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรค และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม.มีข้อต่อทำงานด้านปรองดอง “ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์”

“กำนันสุเทพ” ประกาศตัวเลข-ความหวังที่จะได้ ส.ส.ในการเลือกตั้ง ในการเป็นผู้สนับสนุนหลักให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

“สุเทพ” กล่าวผ่านสำนักข่าว บีบีซี ไทยถึงการปลุกปั้นรวมพลังประชาชาติไทยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลหน้าว่า

“เราเจียมตัว เราเป็นพรรคใหม่ มี ส.ส. ได้สัก 50-60 คนในสภา เราก็ดีใจแล้ว แต่ว่าเราพร้อมจะสนับสนุนใครก็ตามที่เป็นคนดีให้มาเป็นนายกฯ ภายหลังการเลือกตั้ง แต่มีข้อแม้นะว่าต้องรับเรื่องปฏิรูปประเทศของมวลมหาประชาชนไป”

ส่วนเพื่อไทย ที่ไม่เคยมี ส.ส.ในพื้นที่นานนับทศวรรษ ต้องปรับทัพการเมืองกันใหม่ ว่ากันว่ามีการแตกหน่อพรรคใหม่ชื่อว่า “พรรคประชาชาติ” มี “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” เป็นว่าที่หัวหน้าพรรค และ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” เป็นว่าที่เลขาธิการพรรค

แยกกันเดิน ร่วมกันตี แบ่งบทบาทกันเล่น แล้วมารวมคะแนนกันหลังเลือกตั้ง เป็นอีก 1 ข้างที่ไม่อาจมองข้าม

โดยเฉพาะ “พรรคประชาชาติ” หรือ ปช. สตาร์ตอัพพรรคกันที่ดินแดน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปลายด้ามขวานไทย มีกลุ่ม “วาดะห์” เป็นแกนกลาง ปักธงชิง ส.ส.เขตในภาคใต้

นับเป็นครั้งแรกที่ ส.ส.กลุ่มวาดะห์ กระโดดมาตั้งพรรค แทนการอาศัยอยู่ในพรรคของคนอื่น ตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์ ความหวังใหม่ ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย กระจายไปมาตุภูมิ

“นัจมุดดีน อูมา” แกนนำพรรคประชาชาติ ในฐานะว่าที่โฆษกพรรค เริ่มต้นอธิบายจุดกำเนิดของพรรค แต่ก่อนอื่นอยากให้ล้างภาพ “กลุ่มวาดาะห์” ออกจากพจนานุกรมการเมืองเสียก่อน

“ไม่อยากให้ใช้วาดะห์แล้ว เพราะพรรคประชาชาติมีอดีต ส.ส.จากพรรคอื่นมาร่วม และอดีต ส.ว.มารวมกัน ถ้าเรายังคงวาดะห์อยู่ เขาจึงไม่มา ไม่อยากใช้วาดะห์อีกต่อไป”

“ส่วนที่มาของพรรค เราเน้นทำโพลใน 11 เขตเลือกตั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 70 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยให้เราตั้งพรรคเอง จึงเกิดเป็นประชาชาติ”

การปรากฏตัวของพรรคประชาชาติ บนเส้นทางการเมือง เกิดขึ้นพร้อมกับข่าวลือว่า เป็น “เพื่อไทย สาขา 2” เขาปฏิเสธทันควัน

“ไม่ใช่เพื่อไทย สาขา 2 …เพียงแค่ว่าเรามีจุดยืนในการปกป้องประชาธิปไตยที่ตรงกัน ถ้าพรรคประชาธิปัตย์คิดปกป้องประชาธิปไตยเหมือนกัน ก็แปลว่าเป็นวิถีเดียวกัน ร่วมงานกันไม่ใช่ปัญหา”

“ประชาชาติ” แทงกั๊กร่วม พท.

“เราไม่จำเป็นต้องร่วมงานกับเพื่อไทยเสมอไป พอหลังเลือกตั้งเราจะอยู่ขั้วไหนขึ้นอยู่กับมติคณะกรรมการบริหารพรรคจะเห็นอย่างไร”

เขาวิเคราะห์เสียงวิจารณ์ว่า “ประชาชาติ” จะเป็น “นอมินี” ของเพื่อไทยเกิดขึ้นนั้น อาจจะเป็นไปได้ว่า อาจารย์วันนอร์ อยู่ที่นั่น และเราประกาศชัดเจนว่า เราสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยเท่านั้น คนก็มีสิทธิ์มองได้ว่าเป็นนอมินีเพื่อไทย แต่เรายืนยันว่า ขึ้นอยู่กับจำนวน ส.ส.ในอนาคตหลังเลือกตั้ง และมติกรรมการบริหารพรรค

หาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กลับมาเป็นนายกฯรอบสอง ถ้าประชาชาติไปร่วมรัฐบาลจะขัดหลักการปกป้องประชาธิปไตยไหม เขาตอบว่า

“อันนี้ก็… เราต้องเคารพในหลักการระบอบประชาธิปไตยเป็นหลัก แต่การตัดสินใจขึ้นอยู่กับมติกรรมการบริหารพรรคที่จะตัดสินใจตามสภาพนั้น ๆ อีกครั้ง ว่าอันไหนได้ประโยชน์ต่อประชาชน”

แต่หมุดการเมืองของ “ประชาชาติ” คือ ไม่เอาวิธีรัฐประหาร

“เราไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจนอกระบบ นอกวิถีประชาธิปไตย แต่ไม่ถึงขั้นไปล้างมรดก คสช.”

ที่พรรคประชาชาติต้องการแก้ไข คือ “รัฐธรรมนูญ” ในบางประเด็น เช่น การกระจายอำนาจ และ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. จะไม่ไปไล่เช็กบิลกับใคร เพราะไม่ได้เป็นวิถีของประชาชาติอยู่แล้ว

“นัจมุดดีน” กางยุทธศาสตร์ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ตัวเลข ส.ส.ที่ “ประชาชาติ” ตั้งเป้าไว้ว่าจะได้มาอยู่ในมือ คือ 20 คน มาจากคะแนนเลือกตั้ง 1.5 ล้านคะแนน แบ่งเป็น 50 เขตเลือกตั้งภาคใต้ ต้องได้ครึ่งหนึ่ง 7.5 แสนเสียง ที่เหลือคือจากภาคกลาง เหนือ อีสาน อีก 7.5 แสนเสียง แต่พื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ต่อสู้เน้น ส.ส.เขต เชื่อว่าได้ ส.ส.อยู่แล้ว 5-7 คน ใน 3 จังหวัดภาคใต้ อันดามัน 1-2 คน แต่ถ้าพื้นที่อื่นได้ ส.ส.เขตมาก็เป็นผลกำไร”

เขามั่นใจว่าส่วนผสมทั้งตัวผู้สมัคร และนโยบายพรรค ที่มาจากการทำโพลถามความต้องการของคนในพื้นที่จะเป็นคำตอบ ที่ทำให้ “ประชาชาติ” ได้ 20 ที่นั่ง

“นัจมุดดีน” ยังประเมินคู่แข่งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรครวมพลังประชาชาติไทยว่า เจ้าสนามคือประชาธิปัตย์ ส่วนประชาชาติขอ 3 จังหวัดตอนล่าง และอันดามัน เพราะในซีกใต้ตอนบน พูดตรง ๆ ว่าจะไปหวัง ส.ส.เขตคงยาก เพราะรวมพลังประชาชาติไทยของลุงกำนันสุเทพ ในพื้นที่สุราษฎร์ธานี มี ส.ส. 6 คน ต้องแบ่งให้ท่านอยู่แล้ว ไม่ 3-4 ที่นั่ง ก็ 5-6 ที่นั่ง แต่ที่อื่น ๆ ผมไม่แน่ใจ

“ประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส. ตั้งแต่ภาคใต้ตอนกลาง ๆ อันดามันบ้าง ตอนบนบ้าง คละกันไป แต่ต้องเป็นอันดับ 1 ในภาคใต้อยู่แล้ว”

“ส่วนประชาชาติอาจได้อันดับ 2 รองจากพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ ใครจะไปรู้”

ทว่า…เขาไม่กล้าประเมินว่า เพื่อไทย ที่ถูกมองว่าเป็น “พรรคต้นขั้ว” ของประชาชาติ จะได้ที่นั่ง ส.ส.ในภาคใต้หรือไม่

“ไม่กล้าพูดแทน ว่าจะส่งผู้สมัครรุ่นใหม่ ๆ อย่างไร ยังไม่รู้ ที่ผ่านมาตั้งแต่ไทยรักไทย จนถึงเพื่อไทย ไม่มี ส.ส. มีแค่ จ.พังงา ในยุคไทยรักไทย คือ คุณกฤษ ศรีฟ้า และมีกลุ่มวาดะห์ในภาคใต้ตอนล่าง”

พท.มีลุ้นได้ ส.ส.รอบ 13 ปี

แม้ในภาคใต้ พรรคบริวารของ “ทักษิณ ชินวัตร” หลังจากพรรคไทยรักไทยถูกยุบ ทั้งพรรคพลังประชาชน และเพื่อไทย ไม่มี ส.ส.ในภาคใต้เหลืออยู่เลย

ในการทำศึกเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อไทยมี “วีระ มุสิกพงศ์” อดีตประธาน นปช. เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมพื้นที่เลือกตั้ง กำลังเฟ้นหาผู้สมัครหน้าใหม่-เก่าลงทำศึก

“ก่อแก้ว พิกุลทอง” อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงาน “วีระ” และเพื่อไทย กล่าวถึงการเตรียมตัวสู้ศึกเลือกตั้งในภาคใต้ว่า เพื่อไทยให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง เพราะชาวใต้กำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างมาก ทั้งปัญหาราคาปาล์ม ราคายางตกต่ำ รวมถึงปัญหาประมง และท่องเที่ยว ซึ่งพรรคเพื่อไทยกำลังคิดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวให้คนใต้กลับมามีความหวังในชีวิตอีกครั้ง

ซึ่งการทำนโยบายเป็นนโยบายรวม ๆ ทั้ง 14 จังหวัด ไม่ได้เน้นเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งพรรคได้ทาบทามคนที่มีความรู้ความสามารถมากที่สุดมาลงรับสมัครเลือกตั้ง ให้ประชาชนได้เลือก

อย่างไรก็ตาม “ก่อแก้ว” ยอมรับว่า ภาคใต้ยังต้องยกให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นเต็ง 1 และหวังจะได้ ส.ส.ภาคใต้ครั้งแรกในรอบ 13 ปี

“ยอมรับว่าภาคใต้ยังเป็นฐานสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยเป็นอันดับ 2 มาตลอด พรรคเพื่อไทยพยายามเจาะแต่ไม่เคยสำเร็จ มีเพียงครั้งเดียวในปี 2548 ที่ได้ ส.ส. 1 ที่ ใน จ.พังงา”

“แต่เชื่อว่าครั้งนี้มีโอกาสจะได้ ส.ส.มากขึ้น เพราะประชาชนมีความผิดหวังที่พรรคประชาธิปัตย์ชวนคนมาไล่รัฐบาลที่แล้ว นำมาสู่การยึดอำนาจ แต่พอหลังจากยึดอำนาจ ปัญหาปากท้องของคนในพื้นที่ภาคใต้ก็ไม่ได้ดีขึ้น จึงเชื่อว่าครั้งนี้อาจได้ ส.ส.บางพื้นที่ แต่จะได้กี่เก้าอี้ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะคู่แข่งยังไม่เปิดตัว”

“ก่อแก้ว” เอ่ยถึงนักการเมืองกลุ่มวาดะห์เพื่อนเก่า ที่ขยับไปอยู่พรรคประชาชาติว่า “แม้เคยเป็นอดีตเพื่อนร่วมงานกัน แต่ก็สู้เต็มที่”

“ส่วนอนาคตจับมือกับประชาชาติหรือไม่ ในทางการเลือกตั้งทุกพรรคต้องแข่งขันกันเต็มที่ อยู่ ๆ จะมาเอาคะแนนให้กับพรรคคู่แข่งง่าย ๆ เป็นไปไม่ได้ แต่เพื่อไทยกับประชาชาติ คิดว่าเป็นพรรคที่พูดคุยกันรู้เรื่อง ไม่ยากที่จะจับมือกันในอนาคต แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง จะจับมือกันหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง”

ปชป.พลิกเกมเจาะนโยบายพื้นที่

ด้าน “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ กางเป้าหมายของพรรคว่าจะต้องรักษาอันดับ 1 ไว้ให้ได้

ที่ผ่านมา ส.ส.ประชาธิปัตย์ลงพื้นที่พบปะกับชาวบ้านอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาให้กับคนภาคใต้ ทั้งนี้ นโยบายแบ่งออกเป็น 2 ระดับ 1.ระดับจังหวัด หรือระดับพื้นที่ โดยพรรคมอบหมายให้ ส.ส.ไปคิดนโยบายเพื่อตอบสนองประชาชนในพื้นที่ เพราะการจะเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนในสภา จะต้องรู้ว่าประชาชนมีปัญหาอย่างไร

กับ 2.นโยบายภาพรวมในระดับภาค ซึ่งเป็นนโยบายที่แก้ปัญหาให้กับประชาชนที่เผชิญอยู่ ทั้งปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ปัญหาการทำประมง ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นการ “กระตุ้น” ส.ส.ให้ลงพื้นที่ เตรียมพร้อมรับศึกเลือกตั้ง

“ควบคู่กับการปรับแนวทางการหาผู้สมัครที่มีความเข้มแข็งในพื้นที่ ใครลงบัญชีรายชื่อ ใครลง ส.ส.เขต การจัดวางตัว ส.ส.ค่อนข้างลงตัว ไม่มีความขัดแย้งในพรรค ขณะเดียวกันยังต้องหาผู้สมัคร ส.ส.มาทดแทน อดีต ส.ส.ที่ถูกดูดไปประมาณ 6 คน ซึ่งอาจจะไปพรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือพรรคประชาชาติ”

ในสนามเลือกตั้งอย่างเป็นทางการปี 2554 ภาคใต้มี 53 เขตเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์กวาดไป 50 ที่นั่ง

ส่วนการเลือกตั้งที่จะเกิดในปี 2562 สนามภาคใต้ลดจำนวนลง 3 เขตเลือกตั้ง เหลือเพียง 50 เขตเลือกตั้ง

“นิพิฏฐ์” แสดงความมั่นใจแบบเข้มแข็งว่า พรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส.ในภาคใต้ ไม่ต่ำกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน คือ 50 ที่นั่ง

สนามภาคใต้จึงเดือดยิ่งกว่าเดือด