“บิ๊กตู่” ดับฝันกระทรวงน้ำ รวบ 30 กรม 10 กระทรวง แก้ท่วม-แล้ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ 2557 ดึงกรมทรัพยากรน้ำ จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มาอยู่ในอ้อมกอดเพื่อยุติปัญหาเกียร์ว่าง-ต่างคนต่างทำ ระหว่างกระทรวง-หน่วยงานแก้ปัญหาน้ำ

แม้จะมีเพียงกรมทรัพยากรน้ำ เพียงกรมเดียวเท่านั้น ที่ถูกดึงมาขึ้นตรงนายกรัฐมนตรี ทว่าเป็นการยึดอำนาจ 10 กระทรวง 30 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศมา “รวมศูนย์” ไว้ที่กองบัญชาการตึกไทยคู่ฟ้า

เปรียบเสมือนเป็นการยุบรวมหน่วยงานน้ำ มาตั้งเป็น “กระทรวงน้ำ” ในทำเนียบรัฐบาลกลาย ๆ

ความพยายามตั้ง “กระทรวงน้ำ” ให้เป็น “องค์กรพิเศษ” ในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ในยุครัฐบาล-คสช. ถูก “โยนหินถามทาง” มาเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ “พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์” รมว.ทส. เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจมาตรา 44 ยุบรวมกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในสังกัดเป็น “กรมใหม่” นอกจากนี้ ยังเสนอตั้ง “สภาพัฒน์น้ำ” เป็น “ศูนย์กลาง” การบริหารจัดการน้ำระดับประเทศ ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี

ทว่าความพยายามที่จะตั้ง “กรมน้ำ” ถูกคัดค้านจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จนต้องเลิกคิดไป ประกอบกับ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายรัฐบาล-คสช. เคยให้ความเห็นเมื่อครั้งแถลงผลงานครบ 1 ปีรัฐบาลว่า “นโยบายรัฐบาลนี้ไม่มีการปรับโครงสร้าง ดังนั้นการคิดตั้งกระทรวง แยกกระทรวง ยุบกระทรวง เป็นเรื่องของโครงสร้าง ขอให้ทำในช่วงท้าย หรือไม่ก็ปัดรอไปช่วงรัฐบาลหน้า”

วาระการตั้งกระทรวงน้ำ มีการพูดถึงอย่างจริงจัง ต้องย้อนกลับไปในสมัย “รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์” ภายหลังต้องประสบกับ “มหาอุทกภัย” จนประเทศต้องจมอยู่ใน “บาดาล” เกือบ 7 เดือนเต็ม มูลค่าความเสียหาย “มหาศาล” กว่า 1.44 ล้านล้านบาท

“ดร.โกร่ง” นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ในขณะนั้น ได้มอบหมายให้นายวิษณุ หนึ่งในกรรมการ กยอ. ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งองค์การมหาชน ให้เป็น “องค์กรพิเศษ” ในการรับมือมหาอุทกภัย-แก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ

ระยะเฉพาะหน้า คือ การออก พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การมหาชน ขึ้นมาเพื่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาฉุกเฉินเร่งด่วน แต่ไม่มีอำนาจเต็ม หัวใจของการตั้งองค์การมหาชนก็เพื่อสลัดการทำงานออกจากระบบราชการให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก ระยะที่สอง คือ การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกระดับองค์การมหาชน-มีอำนาจเต็ม โดยมีอำนาจ-หน้าที่ระยะแรกของการองค์การมหาชน คือ เป็นตัวกลางในการประสานกับกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ รวมถึงการประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อแก้วิกฤตน้ำ

ระยะต่อไปเมื่อเป็นออก พ.ร.บ.เพื่อยกระดับเป็นกระทรวงน้ำ มีอำนาจในการเวนคืนที่ดิน จัดการผังเมือง รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างกีดขวางลำน้ำ

ขณะที่ “ปลอดประสพ สุรัสวดี” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ออกมาวางโครงสร้าง “กระทรวงน้ำ” เป็นการระดมบุคลากรจากหน่วยงานทั่วประเทศ โดยเริ่มจากการปรับปรุงโครงสร้างสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สอบช.) มาขึ้นตรงกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและใช้ผังการบริหารงานของ กบอ.ที่มีรองนายกรัฐมนตรี และประธาน กบอ.ในฐานะผู้ดูแลกำกับนโยบาย เป็นแนวทางการบริหารงาน

นอกจากนี้ให้โยกย้ายกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ อาทิ กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า สถาบันจีสด้า สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงน้ำ รวมถึงตั้ง “กรมใหม่” อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมนโยบายน้ำ กรมส่งเสริมการใช้น้ำ กรมวิชาการน้ำ

ทว่าสุดท้ายก็ถูกพิษการเมืองเล่นงาน-คสช.ยึดอำนาจเสียก่อน

ย้อนไปไกลอีกไอเดียตั้งกระทรวงน้ำเกิดขึ้นตั้งแต่สมัย “รัฐบาลทักษิณ” แต่ไม่สำเร็จ เพราะแต่ละหน่วยงานต้องการเก็บภารกิจไว้ในกระทรวงตัวเอง