“อภิสิทธิ์” ชิงหัวประชาธิปัตย์ เปิดโหวต 2.2 ล้านคน เดิมพันนายกฯสมัยสอง

การ “หยั่งเสียง” ของ “สมาชิกพรรค” ผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อเลือก “หัวหน้าพรรค” ของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ฟังดู “สวยหรู” ในทางกลับกันอาจเป็นการ “ผูกขาด” เบอร์ 1 ภายในพรรคประชาธิปัตย์

“4 ปีที่ไม่มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกและในประเทศเกิดขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็ว ทำให้มีความจำเป็นที่จะให้สมาชิกพรรคและประชาชนในวงกว้างเข้ามามีส่วนร่วม มากกว่าการปล่อยให้การกำหนดตัวผู้บริหารและทิศทางของพรรค จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มอดีต ส.ส.และผู้บริหารพรรคในปัจจุบัน”

“การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งนี้ของประชาธิปัตย์ จึงเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของระบบการเมืองไทย ซึ่งผมหวังว่ากระบวนการนี้จะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ การแข่งขันที่จะเกิดขึ้น ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องของความขัดแย้ง เพราะหากมองเช่นนั้นเท่ากับเป็นการไม่สนับสนุนให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยในพรรคการเมือง”

นายอภิสิทธิ์โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว-“Abhisit Vejjajiva” หัวข้อ “ประชาธิปัตย์ยุคใหม่กับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคโดยสมาชิก” ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามเพจกว่า 2.2 ล้านคน

ขณะนี้จำนวนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อัพเดตแล้วมีจำนวน 1 แสนคน ขณะที่จำนวนสมาชิกก่อนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รีเซตมีจำนวน 2.8 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา นักการเมืองถูกแช่แข็ง-ล็อกประตูไม่ให้นักการเมืองได้เปล่งแสง-ฉายภาพความเป็นผู้นำภายในพรรค โดยใช้เวทีการเมืองทั้งใน-นอกสภาทาบรัศมี “เจ้าของตำแหน่ง” จนเกิดการแข่งขันกันภายในพรรค

เวที “ชิงหัว” ของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้จึงเหลือ “พื้นที่น้อย” ให้ “ผู้ท้าชิง” ตำแหน่งหัวหน้าพรรคได้ออกฟุตเวิร์ก-เรียกคะแนนจากประชาชน-ให้แฟนคลับยกป้ายไฟเชียร์

อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หรือนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค แม้กระทั่งนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่หันหัวไปหาขั้วอำนาจใหม่-คสช.

ก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ออกมาประกาศว่าถ้าไม่สามารถนำพรรคชนะการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ จะลุกออกจากเก้าอี้หัวหน้าพรรค จึงเป็นการ “ถอยในรุก” กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค “ถือธง” การเลือกตั้งครั้งหน้าอีกครั้ง

อีกนัยหนึ่ง คือ เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล-นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2

ยิ่งมีนายชวน หลีกภัย-นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สองผู้มีบารมีของพรรค “หนุนหลัง” จึงเป็นการ “การันตี” ว่า
“หัวขบวน” ประชาธิปัตย์คนใหม่ คงหนีไม่พ้นชื่อ “อภิสิทธิ์” คนหน้าเก่า-เจ้าเดิม

ดังนั้นกติกาเดิมที่ให้อดีต ส.ส. ประธานสาขาและผู้บริหารพรรคเป็นผู้เลือกหัวหน้าพรรค ฟังแล้วอาจดูเหมือนว่าไม่เป็นประชาธิปไตย-ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้-ประวัติศาสตร์การเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ ถูกจับตาเรื่องการแบ่งก๊ก-แบ่งเหล่ามาโดยตลอด จน “จุติ ไกรฤกษ์” เลขาธิการพรรคต้องออกมาสยบข่าว

“กรณีที่มีกระแสข่าวสามก๊กเกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์นั้น เป็นเพียงการวิจารณ์และคาดเดาเท่านั้น ยืนยันว่าพรรคมีความเป็นเอกภาพและไม่มีความแตกแยก ผมขอยืนยันว่าเราเป็นหนึ่งเดียว”

ฉะนั้นหากยังใช้ธรรมเนียมปฏิบัติเดิม เก้าอี้หัวหน้าพรรคของนายอภิสิทธิ์อาจสั่นคลอนได้ เพราะไม่มีอะไรรับประกันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีคลื่นใต้น้ำ-เขย่ากันภายในพรรค 

ฝั่งพรรคเพื่อไทย (พท.) ถูก “ผูกขาด” โดย “ตระกูล” ชินวัตร ตั้งแต่ในยุคพรรคไทยรักไทย-ทักษิณ ชินวัตร พลังประชาชนสมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เขยบ้านชินวัตร และเพื่อไทย-น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องทักษิณ

ขณะที่แคนดิเดต “หัวหน้าคนต่อไป” ยังมีชื่อ “ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์” สามีพินทองทา-ลูกเขยนายทักษิณติดโผ “หัวโขน” พรรคเพื่อไทยอีกคน

“ความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค พูดในนามของคนในพรรคเพื่อไทยคนหนึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย จึงมีความจำเป็นและเป็นโอกาสที่ดีที่จะสร้างพรรคเพื่อไทยให้เป็นสถาบันทางการเมือง ทุกคนเป็นเจ้าของ สมาชิกเป็นเจ้าของ ประชาชนเป็นเจ้าของ ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการกำหนดให้ใครเป็นผู้นำ กรรมการบริหารและนโยบาย” นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย-แคนดิเดตหัวหน้าพรรคกล่าวเลี่ยง-เรียบค่ายเมื่อถูกถามคำตอบการไพรมารี่โหวตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยพรรคบนเวทีครบรอบ 20 ปี สถาบันพระปกเกล้า

เป็นยกแรกของศึก (ใน) เลือกตั้งหลัง คสช.คลายล็อก