เปิดคำสั่ง “บิ๊กตู่” คลายล็อก 7 กิจกรรมการเมือง-ล้มไพรมารี่โหวต บี้พรรคเก่าหาหัวหน้าภายใน 90 วัน

ภายหลังมีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้ 2 วันเต็ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คสช. ใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ออกคำสั่ง 13/2561 เรื่อง เรื่อง กำรดำเนินกำรตำมกฎหมำยประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) คลายล็อกการเมืองเพื่อเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 ทั้งนี้ ในคำสั่งดังกล่าวมีสาระสำคัญ 9 ข้อ อาทิ

ข้อ 1 ให้พรรคการเมืองที่ตั้งก่อน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ใช้บังคับ ทำดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีทุนประเดิม 1 ล้านบาท ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่ คำสั่งฉบับนี้ใช้บังคับ
(2) จัดให้มีสมาชิกพรรค ไม่น้อยกว่า 500 คน ชำระค่าบำรุงพรรคการเมือง ปี 2561 ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่คำสั่งฉบับนี้ใช้บังคับ และให้พรรคการเมืองแจ้งกับนายทะเบียนทราบพร้อมด้วยหลักฐานการชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 50 วัน นับแต่วันพ้นระยะเวลาชำระค่าบำรุงพรรค

(3) จัดให้มีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 5 พันคนภายใน 1 ปีนับแต่ คำสั่งฉบับนี้ใช้บังคับ และให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคนภายใน 4 ปี นับแต่คำสั่งฉบับนี้ใช้บังคับ
ในกรณีที่ กกต.เห็นว่าพรรคการเมืองไม่สามารถจัดให้มีทุนประเดิม 1 ล้านบาท จัดให้มีสมาชิกพรรค ไม่น้อยกว่า 500 คน ชำระค่าบำรุงพรรคการเมือง ปี 2561 ภายใน 180 วัน รวมถึงมาตรา 141/1 (1) และ (2) ได้ทันตามเวลาที่กำหนด กกต.อาจมีมติให้ขยายเวลาออกไปได้อีก 1 เท่า ของระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละเรื่อง

เมื่อครบระยะเวลา ให้พรรคการเมืองที่ไม่สามารถดำเนินการได้ให้แล้วเสร็จสิ้นสภาพลง ทั้งนี ในระหว่างที่พรรคการเมืองยังปฏิบัติตาม ข้อ 1 และ 2 และ 141/1 (1) และ (2) ไม่ครบถ้วนจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้
การวินิจฉัยให้เป็นอำนาจของ กกต.ที่จะวินิจฉัย ในกรณีที่พรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยให้ด้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยของ กกต.

ข้อ 2 ให้เพิ่ม มาตรา 141/1 ลงใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยมีใจความสำคัญว่า ก่อนที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีผลใช้บังคับ พรรคการเมืองที่จะทำกิจกรรมทางการเมือง

(1.) แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง และนโยบายของพรรคการเมืองให้ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และให้สอดคล้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะบังคับใช้ด้วย
(2.) เลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนพรรคการเมือง และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง
(3.) จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
(4.) รับสมาชิกของพรรคการเมือง

(5.) จัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง
(6.) มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(7.) กิจกรรมทางการเมืองอื่นที่ คสช.กำหนด
โดยให้แจ้ง กกต.ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วัน เมื่อแจ้งเรื่องดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าได้รับอนุญาตจาก คสช.ตามประกาศ คสช.ที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่ต้องจัดประชุมใหญ่เพื่อการดำเนินกิจกรรม จะต้องมีกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของ กก.บห.เท่าที่มีอยู่ และสมาชิกพรรคการเมืองรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 250 คน ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุม

ให้พรรคการเมือง จัดประชุมพรรค แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง และนโยบายของพรรค รวมถึง เลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนพรรคการเมือง และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง ให้เสร็จภายใน 90 วัน นับตั้งแต่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (12 ก.ย.) ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 12 พ.ย.
และจะต้องตั้งสาขาพรรคให้เสร็จภาใน 1 ปี นับตั้งแต่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (12 ก.ย.) ตรงกับ 12 ก.ย.2562

สำหรับกรณีการทำไพรมารี่โหวตนั้น ภายใต้คำสั่งฉบับนี้ระบุอยู่ในข้อ 4 ให้ยกเลิกขั้นตอนไพรมารี่โหวตใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ทั้งหมดตั้งแต่มาตรา 47-56 โดยให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. จัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ประกอบด้วย กก.บห.พรรค 4 คน และตัวแทนสมาชิกพรรคการเมืองเลือก 7 คน มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาและเสนอแนะ กก.บห.พรรคให้ความเห็นชอบ
2. การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้พิจารณาจากสมาชิกพรรค ซึ่งยื่นความจำนงด้วยตัวเองและผู้ซึ่งสมาชิกพรรคเสนอ โดยให้คำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง ให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับฟังความคิดเห็นของหัวหน้าสาขาพรรค ตัวแทนพรรคการเมืองและสมาชิกพรรค ที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาในการสรรหา

3. ให้หัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองการส่งผู้คนที่ได้รับการสรรหาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยการส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อด้วย
4. ถ้า กก.บห.พรรคไม่ให้ความเห็นชอบคนที่คณะกรรมการสรรหาเสนอชื่อมา ให้คณะกรรมการสรรหายืนยันว่าจะเสนอชื่อบุคคลเดิม และประชุมร่วมกับ กก.บห. เมื่อที่ประชุมร่วมกันโดยลงคะแนนลับ ถ้ามีมติอย่างไรให้เป็นไปตามมตินั้น
5. ภายใน 7 วัน ที่ กก.บห.ให้ความเห็นชอบผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองเปิดเผยชื่อผู้เป็นผู้สมัคร ส.ส.ให้ทราบเป็นการทั่วไป
6. การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แทนการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะ หรือ เลือกตั้งใหม่ในกรณีที่ไม่มีผู้ไดได้รับเลือกตั้ง หรือ กรณีผู้สมัครตายก่อนปิดรับสมัครเลือกตั้ง หรือ ผู้สมัครเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่ง ให้ดำเนินการตามขั้นตอนใหม่

อย่างไรก็ตาม คำสั่งฉบับนี้ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียหาเสียง ให้ใช้เพียงติดต่อประสานงานภายในพรรคเท่านั้น โดยระบุใน ข้อ 6

“พรรคการเมืองจะประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อสารภายในพรรคการเมือง โดยวิธีผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ (ช่องทางออนไลน์) แต่ต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง โดย กกต.และ คสช.อาจกำหนดข้อห้ามของการประชาสัมพันธ์หรือการติดต่อสื่อสารที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือ สั่งให้มีการระงับการดำเนินการดังกล่าวก็ได้”

ส่วน ข้อ 7 ให้ กกต.ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งให้เสร็จก่อนวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้
ข้อ 8 นายกฯ อาจเสนอให้ คสช.แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้ และข้อ 9 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป