“จาตุรนต์” ซัด กรธ.แยกเบอร์ส.ส.เขต ชี้หวังทำพรรคการเมืองอ่อนแอ อยู่ใต้ระบบ คสช.

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองส่วนใหญ่คัดค้านข้อเสนอของคณะกรรมการร่าง รัฐธรรมนูญ(กรธ.)ที่กำหนดให้ผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.เป็นแบบต่างเขตต่างเบอร์ แม้พรรคเดียวกัน แทนแบบแบ่งเขตเบอร์เดียวว่า การอ้างเพื่อป้องกันการซื้อเสียง หรืออ้างเพื่อให้ผู้สมัครต้องตั้งใจสร้างผลงานมากขึ้น และอ้างเป็นระบบที่ใช้กันมานานในอดีต จริงๆเป็นเพียงข้ออ้างที่เขาพอจะนึกมาแก้ตัวสำหรับข้อเสนอนี้ แต่เจตนาจริงๆของผู้ที่กำลังร่างกฎหมายต้องการลดบทบาทของพรรค การเมือง ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และไม่สามารถเป็นกลไกตอบสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ประ กอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ทั้งนี้ความจริงเรื่องนี้เป็นมาตรการท้ายๆ ที่เขาคิดได้ แต่ถ้าเราดูทั้งระบบที่เขาทำกันอยู่จะได้เห็นภาพได้ชัด ตั้งแต่การกำหนดให้ต้องมีสาขาพรรค มีสมาชิกพรรคจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะสำหรับพรรคการเมืองใหม่ๆ จะพบว่าจำนวนที่กำหนดนั้นมากจนไม่สามารถปฏิบัติได้ การกำหนดให้สมาชิกพรรค และสาขาพรรคมีอำนาจและบทบาทในการที่จะกำหนดนโยบาย และการคัดเลือกผู้สมัครที่เรียกกันว่า ไพรมารีโหวต จะมีปัญหาทำให้การคัดเลือกผู้สมัครของพรรคการเมืองขึ้นอยู่กับสมาชิกพรรค โดยไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ รวมถึงการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ กรณีที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งบทกำหนดเหล่านี้ทำให้เกิดความขัดแย้งในพรรคการ เมือง และทำให้พรรคการเมืองทำงานยากมาก

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ขณะที่เงื่อนไขการกำหนดนโยบายที่จะทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถกำหนดนโยบาย ให้แตกต่างกันได้ และไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน คือเรื่องที่ต้องให้ชี้แจงของเงิน ความคุ้มค่าของนโยบาย ความสอดคล้องกับกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ยังรวมถึงการไม่ปลดล็อกการกิจกรรมการพรรคการเมือง จะทำให้พรรคการเมืองเสียโอกาสในการเตรียมร่างนโยบายที่ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญสำหรับการเลือกตั้ง และระบบรัฐสภา การกำหนดให้พรรคเดียวใช้หลายเบอร์ ทำให้ผู้ออกเสียงลงคะแนนมาเน้นให้ความสำคัญกับตัวบุคคล ลดน้ำหนักความสำคัญของพรรค การเมือง เขาคงหวังประชาชนลดความสนใจพรรคการเมืองและนโยบายของพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นโดยรวมทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่เป็นกลไกให้ประชาชนใช้เป็นกลไกกำหนดนโยบายของรัฐบาล และกำกับตรวจสอบการทำงานรัฐบาล ซึ่งเป็นสาระสำคัญของระบบรัฐสภา และระบอบประชาธิปไตย

“ท้ังนี้เป็นการทยอยทำทีละเรื่อง แต่ทุกเรื่องทำโดยประสานเชื่อมโยงกันเป็นระบบ โดยเรื่องที่เป็นพื้นฐานต่อเนื่องมาตลอด และดำรงอยู่ต่อไปอีกนานคือการไม่ปลดล็อกการทำกิจกรรมของพรรคการเมือง ซึ่งจะทำให้เป็นไปได้ยาก ที่พรรคการเมืองจะสามารถสร้างนโยบายหรือแนะนำผู้สมัครต่อประชาชน และให้ประชาชนมีปฏิสัมพันธ์กับพรรคการเมือง ซึ่งผู้ที่เสียประโยชน์มากที่สุดคือประชาชนนั้นเอง กระบวนการร่างกฎหมายลูกชัดเจนอย่างหนึ่ง คือการทำให้ประชาชนไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบายรัฐบาลหรือทิศทางในการออกกฎหมยของ รัฐสภา จุดมุ่งหมายนี้อาจทำให้เกิดเป็นผลได้โดย 2 ทางคือ สร้างระบบที่ป้องกันไม่ให้ประชาชนมีอำนาจจริง คือการออกกฎหมายลูกให้เป็นไปในทิศทางนั้น อีกทางหนึ่งการยืดเวลาการออกกฎหมายออกไป ซึ่งไม่ว่าจะทางไหนจะทำให้บ้านเมืองปกครองโดยคสช.และกลไกต่างๆที่คสช. การไม่ให้ประชาชนมีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีคนตั้งข้อสังเกตหรือแสดงความห่วงใยว่าการออก กฎหมายลูกจะล่าช้าออกไป แต่ไม่ว่าไปทางไหนคสช.จะมีอำนาจอยู่นาน ส่วนประชาชนมีสิทธิมีเสียงน้อย เพราะว่าระบบนี้ได้หาทางป้องกันการมีอำนาจของประชาชนไว้แล้ว

เมื่อถาม ว่า กรธ.ระบุว่าเป็นการการป้องกันการซื้อเสียงนายจาตุรนต์ กล่าวว่า ไม่เป็นเหตุผลเลย เพราะมีการวิจัยของนักวิชาการรัฐศาสตร์ที่พบว่า การซื้อเสียงถึงแม้จะมีอยู่ไม่น้อย แต่กลับมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนน้อยมาก เนื่องจากประชาชนมาให้ความสำคัญต่อนโยบายพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน การที่คณะผู้ที่กำลังร่างทั้งหลายกำลังทำกันอยู่คือการทำให้พรรคการเมืองไม่ ต่างกันในเรื่องนโยบาย สวนทางกับการพัฒนาพรรคการเมืองและกลับย่ังทำให้การซื้อเสียงได้ผลมากขึ้น เพราะเมื่อพรรคการเมืองมีนโยบายไม่ต่างกัน การซื้อเสียงก็ย้อมมีผลมากขึ้น นอกจากไม่เป็นไปข้ออ้าง ยังมีผลตรงกันข้าม

 

ที่มา มติชนออนไลน์