ระทึกเลือกตั้งในรอบ 8 ปี นักปฏิรูป-ขั้วประชารัฐแต่งตัวเข้าสภาสูง 250 คน

หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นับจากนี้เหลือไม่เกิน 240 วันจะถึงเลือกตั้งทั่วไป ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กาตัวเลขในปฏิทินการเมืองไว้คือ 24 ก.พ. 2562

ตอนนี้เป็นช่วง 90 วันที่สองหลังกฎหมายเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยรอให้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มีผลบังคับใช้ 12 ธ.ค. 2561 ตามคำปรารภของ “วิษณุ เครืองาม”  รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในช่วง 90 วันนี้ คสช.จะมีการ “คลายล็อก” ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมืองได้ 6 ข้อ+9 เรื่อง

ทั้งนี้ 6 ข้อ คือ 1.พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่เพื่อรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติมได้ 2.ให้ความเห็นเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ 3.สามารถดำเนินการเกี่ยวกับไพรมารี่โหวตได้ 4.ตั้งกรรมการเพื่อสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ 5.ติดต่อประสานงานกับสมาชิกได้ และ 6.การแก้ไขข้อบังคับพรรคการเมืองให้สามารถเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค เพื่อให้สามารถจัดประชุมใหญ่ได้ ส่วนอีก 9 เรื่อง อาทิ ขยายเวลาเรื่องทุนประเดิมและการหาสมาชิกพรรค ในระหว่างนี้ กกต.ก็จะออกประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง และให้พรรคการเมืองทำไพรมารี่โหวต

เมื่อถึงกลางเดือน ธ.ค.หลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งภายใน 150 วันอย่างเป็นทางการ คสช.ปลดล็อก-การเมืองจะกลับมาคึกคัก

กกต.จะเปิดรับสมัคร ส.ส. 14-18 ม.ค. โดยพรรคการเมืองจะต้องทำไพรมารี่ให้เสร็จก่อนการสมัคร หลังจากนั้นเป็นช่วงหาเสียง ถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 แต่ระหว่างที่พรรคการเมืองเตรียมพร้อมเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง กระบวนการการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เปลี่ยนผ่าน 250 คน ก็คิกออฟเริ่มต้นทันที เพื่อสอดรับกับการโหวตนายกฯในสภาผู้แทนราษฎร

ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีที่มาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่ม 1 เป็นกลุ่มที่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือก ส.ว.ด้วยวิธีการเลือกกันเองของผู้สมัครทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ตาม 10 อาชีพ

ประกอบด้วย 1.กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง 2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 3.กลุ่มศึกษาและการสาธารณสุข 4.กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน 5.กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน/อาชีพอิสระ

6.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม 7.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว 8.กลุ่มสตรี

ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ 9.กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างวรรณกรรม 10.กลุ่มอื่น ๆ

เมื่อเลือกกันเองได้ครบ 200 คน กกต.ส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้ คสช. ภายในวันที่ 22 ม.ค. 2561 จากนั้น คสช.จะเลือกให้เหลือ 50 คน กลุ่ม 2 เป็นก้อนที่ใหญ่ที่สุด และน่าจับตาที่สุด จำนวน 194 ที่นั่ง โดยมีขั้นตอนการสรรหา ส.ว. กลุ่มที่ 2 คสช.ตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 12 คน “คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศ” จํานวนไม่เกิน 400 คน ก่อนเสนอให้ คสช.เลือกให้เหลือ 194 คน

ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่ช้ากว่า 15 วันก่อนวันเลือกตั้ง ส.ส. คาดการณ์กันว่า 194 ที่นั่งเป็นเก้าอี้ที่กันไว้ในเครือข่ายนายทุน กลุ่มธุรกิจประชารัฐ กำลังสำคัญของรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงนักปฏิรูป ที่เคยนั่งอยู่ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศมานั่งใน ส.ว.ชุดนี้อาจเห็นคนการเมือง อดีตข้าราชการที่เคยเคลื่อนวาระการเมือง วาระปฏิรูปให้ คสช.เข้ามาเป็น ส.ว. 250 คน

ตัวอย่างเช่น วันชัย สอนศิริ-เสรี สุวรรณภานนท์-สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์-คำนูน สิทธิสมาน-บวรศักดิ์ อุวรรณโณ-ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา-สมชัย ฤชุพันธุ์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน

หรือนักธุรกิจเครือข่ายประชารัฐที่อยู่ใน สนช.อย่าง “อิสระ ว่องกุศลกิจ” ประธานกรรมการบริษัทกลุ่มมิตรผล-ศิริพล ยอดเมืองเจริญ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นนักธุรกิจที่นั่งเก้าอี้กรรมการ ที่ปรึกษาให้กับภาคเอกชน ฯลฯ

นักปฏิรูปที่เคยสวมบทเป็น สปท. สปช. สามารถมาสวมหัว ส.ว.ได้ทันที ส่วนคนที่เป็น สนช.สามารถสลับหมวกมาเป็น ส.ว.ได้ทันทีหลังประกาศรับรองผลเลือกตั้ง 3 วัน ตามรัฐธรรมนูญกำหนด

กลุ่ม 3 เป็นประเภท ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คน ทั้งหมดเป็นสายความมั่นคง ให้ผู้ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ

ถึงปี 2562 แผงกองทัพที่อยู่ใน ส.ว.จะปรากฏชื่อ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก-พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ-พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ-พล.อ.

ณัฐ อินทรเจริญ รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ที่สุด ส.ว.ทั้ง 3 กลุ่ม จะถูกเลือกโดย คสช.เป็น ส.ว. 250 คนที่มีอำนาจพิเศษ คุมการปฏิรูป โดยรัฐบาลเลือกตั้งจะต้องรายงานความคืบหน้าการปฏิรูปให้ ส.ว.ชุดนี้รับทราบทุก 3 เดือน

นอกจากนี้ ยังมีวาระอยู่โยง 5 ปี อยู่ในสภาเพื่อร่วมโหวตเลือกนายกฯ กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ถึง 2 วาระ


การเมืองเริ่มร้อนแรงนับตั้งแต่บัดนี้ เป็นการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 8 ปี