‘อดีต กกต.-นักวิชาการ’ ท้วงกฎเหล็ก‘คสช.’ ห้ามหาเสียงออนไลน์

หมายเหตุ – ความเห็นจากอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กรณีที่ คสช.มีคำสั่งคลายล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ และให้ใช้โซเชียลมีเดียในการติดต่อพูดคุยกันได้ แต่ห้ามใช้ในการหาเสียง

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร
อดีต กกต.

มองเป็น 2 ช่วง คือ 1.ช่วงก่อนจะมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ผมคิดว่าการดำเนินการต่างๆ ของฝ่ายการเมืองนั้น ในอดีตไม่เคยมีข้อห้ามใดๆ เพราะก่อน พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ก็จะเห็นว่าผู้สมัครเขาก็ไปพูดคุยกับชาวบ้าน สร้างความนิยมให้กับชาวบ้าน งานบวช งานแต่ง งานศพ เขาก็ทำกันตลอด

โดยหลักการที่จะห้ามหาเสียงในช่วงก่อนมี พ.ร.ฎ.นี้ โดยปกติก็ไม่มีการห้ามอยู่แล้ว เพราะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอะไร เพราะยังไม่เข้าสู่ช่วงการเลือกตั้ง ตรงนี้ผมไม่แน่ใจว่าจะใช้กฎหมายใดมาเป็นข้อบังคับ เพราะเวลาคนไปดำเนินการสร้างคะแนนนิยมส่วนตัวนั้น เราไม่มีทางรู้ว่าเขาจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการหาเสียงหรือไม่ หรือเป็นการสร้างคะแนนนิยมเพื่อประโยชน์อย่างอื่นใด

2.ช่วงหลังมี พ.ร.ฎ.แล้ว การหาเสียงทางสื่อสังคมออนไลน์ผมถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะใช้ในการหาเสียงได้ เพียงแต่ว่าทาง กกต.ต้องกำหนดกรอบกติกาในการดำเนินการและให้มีคำนวณค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน ไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ และถ้ามีการใช้สื่อดังกล่าวกระทำการแล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่อใคร ก็มีกฎหมายต่างๆ ที่ใช้ในการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาท

การห้ามหาเสียงทางสื่อออนไลน์เป็นสิ่งที่ผิดปกติ ต้องตามให้ทันเทคโนโลยีปัจจุบัน ยิ่งถ้าเราประสงค์ให้การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการเลือกตั้งที่มีต้นทุนต่ำ คนที่ไม่มีทุนรอนก็สามารถเข้าสู่ทางการเมืองได้ การหาเสียงทางออนไลน์นั้นเป็นการหาเสียงที่ต้นทุนต่ำ แทบจะไม่ต้องใช้เงินด้วยซ้ำถ้าหากรู้จักใช้อย่างเหมาะสม หากมีการดำเนินการจะเป็นการส่งเสริมให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว คือทำให้ต้นทุนในการเข้าสู่การเมืองนั้นน้อยลง

การระบุให้ติดต่อทางออนไลน์ได้ แต่ต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียงนั้น เป็นการสร้างความลำบากใจให้ กกต.เปล่าๆ เพราะ กกต.จะไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นการสื่อสารกับการหาเสียงได้ และอาจมีการร้องเข้ามา

ถ้าอยากทำเรื่องดังกล่าวให้เกิดผลที่ชัดเจนจริงๆ ในวันประชุมพรรคการเมืองวันที่ 28 กันยายนนี้ กกต.อาจต้องตอบคำถามพรรคการเมืองว่ามีตัวอย่างอะไรที่เรียกว่าหาเสียง ตัวอย่างอะไรที่เรียกว่าสื่อสาร เส้นแบ่งอยู่ตรงไหน ผมคิดว่า กกต.ตอบลำบากมาก


รศ.พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช
อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไม่เห็นด้วยที่ห้ามหาเสียงทางโซเชียล เหมือนกลับไปสู่โลกในยุคที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตหรือโซเชียล ซึ่งเราผ่านยุคนั้นมาถึงตรงนี้แล้ว
ถามว่าเหตุใดการหาเสียงทางโซเชียลจึงถูกตีความไปถึงผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น อาจเป็นเพราะคุณสมบัติของโซเชียลที่มีความรวดเร็วและมีอิทธิพลสูง ซึ่งจริงๆ แล้วผู้รับสารจากโซเชียลต้องมีการกลั่นกรอง และหาข้อมูลในหลายๆ ด้าน จึงค่อยพิจารณาว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ

การที่รัฐบาลออกมาห้ามปรามเรื่องนี้ อาจเพราะคิดว่าการห้าม ง่ายกว่าการคอยติดตามดูหรือไม่ คือห้ามไปเลยดีกว่า ง่ายดี อีกทั้งประเทศเราอาจจะยังไม่ทันในแง่ของการควบคุมดูแล จึงปรามไว้ก่อน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่ได้สวนกระแสเฉพาะกับประเทศอื่นๆ แต่สวนกระแสการพัฒนาของโลกด้วย โลกมาถึงตรงนี้แล้ว หากถือว่าโซเชียลเป็นสื่อประเภทหนึ่งก็ควรถูกใช้ได้ เพียงแต่ว่าจะใช้อย่างไร ส่วนตัวมองว่าควรรณรงค์ให้ใช้อย่างสร้างสรรค์ ถ้าใครใช้ไม่สร้างสรรค์ โกหก ใส่ร้าย บิดเบือน ก็ให้มีการลงโทษตามกฎหมายน่าจะถูกต้องกว่า

เรามักเชื่อคนมากกว่าระบบ ทั้งที่จริงๆ แล้วควรทำระบบให้เข้มแข็ง หากระบบเข้มแข็ง ใครดูแลก็จะดำเนินไปได้ รวมถึงกฎหมายต่างๆ ถ้าคนทำผิดแล้วพิสูจน์ผิดได้ ฟ้องกัน ต้องลงโทษอย่างยุติธรรมตามระบบ

สำหรับประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลยังสื่อสารได้ทุกช่องทาง โดยมีแนวโน้มว่าคนในรัฐบาลจะลงเลือกตั้งด้วยนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล แต่ควรแฟร์เพลย์ ทุกคนต้องมีสิทธิเท่าเทียมกัน


อนุสรณ์ ศรีแก้ว
คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ไม่แน่ใจว่า คสช.มีกำหนดการหรือแผนการอะไรมากน้อยแค่ไหน อย่างไร แต่ผมเห็นว่าการหาเสียงผ่านโซเชียลสามารถดำเนินการได้ เพียงแต่ต้องกำหนดเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียง อาจกำหนดขอบเขตว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร

ประเด็นที่เคยเป็นปัญหาในเรื่องของพวกประชานิยมหรือทำเกินนโยบายแบบประเภทที่ทำให้ประเทศชาติล่มจม ที่จริงอาจเป็นนโยบายชวนเชื่อ แต่ความเป็นจริงอาจทำไม่ได้ ตรงนี้อาจจะเป็นข้อห้ามหาเสียงผ่านโซเชียล เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหากับประเทศชาติได้

การหาเสียงผ่านโซเชียลจะสามารถเข้าถึงได้ง่ายและลงทุนน้อย โซเชียลมีเดียคือความเท่าเทียมกันมากกว่าการใช้แมสมีเดียหรือสื่อหลักที่ต้องใช้เงินมหาศาล การใช้โซเชียลมีเดียคนที่มีสตางค์น้อยก็สามารถเข้าถึงประชาชนได้ หากใช้สื่อเดิมอย่างเช่นสื่อทีวี ก็มีปัญหาว่าพรรคไหนมีสตางค์เยอะก็ไปซื้อสื่อได้เยอะ แต่ถ้าพรรคไหนไม่มีสตางค์ก็ไม่สามารถเข้าถึงชาวบ้านได้ แต่โซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่ใช้เงินน้อยและเข้าถึงคนได้เยอะ ผมคิดว่าไม่ควรจะห้าม

อีกทั้งโซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ง่าย แต่ต้องมีขอบเขตในการใช้สื่อ ไม่ใช่ว่าใช้สื่อโซเชียลแล้วด่ากัน ผมคิดว่าเป็นปัญหาเหมือนกัน เเต่จะต้องมีระดับการหาเสียงควรไปได้แค่ไหน อย่างไร มิฉะนั้นก็กลับไปสู่วังวนปัญหาเดิมๆ ที่เคยมีอยู่

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การใช้เครื่องมือการสื่อสาร แต่อยู่ที่ความน่าเชื่อถือของคนที่ใช้สื่อ ถ้าหากว่าคนทั่วไปอยากจะรับข่าวสารในด้านไหน กับการที่อีกฝ่ายหนึ่งมีสื่อค่อนข้างเยอะ แต่ถ้าหากคนไม่เปิดรับสื่อ เขาก็มีปัญหาอยู่เหมือนกัน ไม่ใช่พอถึงเวลาคนก็ไม่ดู

ดังนั้น ในแง่ของกระบวนการก้าวไปสู่ประชาธิปไตยต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้มากขึ้น ทั้งในแง่ของการซักถามและการแสดงความคิดต่างๆ จะต้องเปิดเพิ่มมากยิ่งขึ้น


ผศ.ดร.ฉลองรัฐ เฌอมาลย์ชลมารค
ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต

โซเชียลมีเดียมีทั้งด้านดีและไม่ดี ข้อดีก็คือสามารถเข้าถึงประชาชนจำนวนมาก ทำให้ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวางมากขึ้น หากเทียบกับในอดีตที่พรรคต่างๆ ต้องไปปักป้ายหรือขอเวลาโทรทัศน์ในการหาเสียง ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่อาจเข้าไม่ถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง
ส่วนข้อเสียนั้น ในบางครั้งการปลอมเฟซบุ๊กหรือการให้ข่าวปลอม ที่อาจเป็นการทำลายฝั่งตรงข้ามหรือคู่แข่ง ส่งผลต่อความไม่เป็นธรรมต่อหลายๆ กลุ่ม โดยเพจปลอมหรือเว็บปลอมอาจตรวจสอบยาก การใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สามารถตรวจสอบได้ แต่เข้าใจว่าทางภาครัฐอาจ มองว่าการตรวจสอบเรื่องพวกนี้อาจล่าช้า เนื่องจากเซิร์ฟเวอร์ของบางเว็บไซต์ไม่ได้มีฐานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย จึงเข้าใจว่าอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ห้ามหาเสียงในโซเชียลมีเดีย เพราะกลัวเรื่องการกลั่นแกล้ง และกลัวข้อมูลเท็จไหลสู่ประชาชน

แต่ต้องยอมรับว่าโซเชียลมีเดียทุกวันนี้เป็นสื่อที่อยู่ในมือประชาชน ต่อให้ปิดกั้น ห้ามปราม แต่จริงๆ แล้วยังมีช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อยู่ ซึ่งหน่วยงานรัฐอาจต้องพัฒนามาตรการในการตรวบสอบ กำชับ ดูแลข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพ มากกว่าที่จะห้าม อีกทั้งประชาชนที่ใช้สื่อออนไลน์ส่วนใหญ่นั้นมีวิจารณญาณ สามารถตรวจสอบข้อมูลด้วยตัวเองได้ในระดับหนึ่ง

หากทำกิจกรรมเพื่อสาธารณะ ไม่ว่ารัฐบาล หรือนักการเมืองคนใด เมื่อทำสิ่งดีๆ ให้สังคมย่อมเผยแพร่ได้ เช่น นำสิ่งของไปช่วยเหลือกรณีน้ำท่วมโดยไม่ได้หวังผลในการหาเสียง เพราะการทำสิ่งดีๆ ต่อสังคม ไม่ว่าใครก็สมควรทำและสามารถเปิดเผยเรื่องราวเหล่านั้นได้ เพราะเป็นสิ่งที่ดีต่อสังคม แต่อย่าไปโจมตีฝั่งตรงข้าม หรืออย่าไปโฆษณาชวนเชื่อให้มาเลือกพรรคตนเองโดยตรง

พรรคการเมืองทุกพรรคจะมีแนวทางทำกิจกรรมทางการเมืองและแนวทางการพัฒนาประเทศอยู่แล้ว การห้ามหาเสียง ต้องไปดูว่าอะไรคือสิ่งที่เข้าข่าย จริงๆ แล้ว รัฐบาลอาจต้องชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจนถึงคำว่าห้ามหาเสียงนั้น มีสิ่งใดที่เข้าข่ายบ้าง เพื่อให้ทุกพรรคสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

การเลือกตั้งทุกสมัย คนที่เป็นรัฐบาลเดิม จะได้เปรียบในแง่การมีสื่อ มีคอนเน็กชั่น มีคนสนับสนุนมากกว่าฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในการเมืองทุกประเทศ ดังนั้นถ้ารัฐบาลอยากให้ประชาชนรู้สึกอยากไปเลือกตั้ง ก็ต้องเปิดกว้างให้มีการใช้สื่อที่หลากหลาย ถ้าทำได้ก็จะเป็นผลดีต่อรัฐบาล ประชาชนก็จะรู้สึกว่าเป็นการแข่งขันในการเลือกตั้งที่เหมาะสม

แต่ถ้ามีการออกกฎหมายปิดกั้น หรือมีข้อบังคับมากเกินไป อาจไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล เพราะอาจถูกมองว่าการเลือกตั้งนั้นไม่เป็นธรรม และสร้างความรู้สึกไม่พอใจต่อรัฐบาลก็เป็นได้

ที่มา:มติชนออนไลน์