อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ชี้ระบบไพรมารีโหวต เป็นอุปสรรคเพิ่มนักการเมืองหญิงในสภา

ส.ส.หญิง ปชป.โวยไพรมารีโหวตทำลายฝันนักการเมืองหญิง วอน สนช.ฟังความเห็นต่าง เลิกสร้างอุปสรรคขวางผู้หญิงเข้าสภา

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่กำหนดให้ใช้ระบบไพรมารีโหวตในการพิจารณาผู้สมัครรับเลือกตั้งว่า การใช้ระบบไพรมารีโหวตคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อจะเป็นการทำลายฝันที่จะมีนักการเมืองหญิงเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้การส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง จึงอยากให้ สนช.รับเรื่องนี้ไปพิจารณาด้วย เพราะส่วนหนึ่งที่บ่งบอกถึงคุณภาพประชาธิปไตยและความสำเร็จด้านความเท่าเทียมกันระหว่างเพศคือจำนวน ส.ส.หญิงที่เข้ามานั่งในรัฐสภา จึงเป็นคำถามสำหรับวาระปฏิรูปการเมืองว่า สนช.จริงจังกับเป้าหมายที่จะให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเป็น ส.ส.แค่ไหน ถ้าตั้งใจจริงก็จะต้องมาสร้างระบบที่เอื้อให้ผู้หญิงเก่งเข้ามานั่งในสภา หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องไม่เพิ่มอุปสรรค

น.ส.รัชดากล่าวอีกว่า เจตนารมณ์ของระบบไพรมารีโหวตอาจดูดี แต่กลับเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายการเพิ่มนักการเมืองหญิง โดยเฉพาะกับผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แม้ในร่าง พ.ร.ป.จะมีเนื้อหาให้คำนึงถึงจำนวนสัดส่วนหญิงชาย แต่การขาดสภาพบังคับจึงไม่สามารถคาดหวังอะไรได้มาก สมมุติว่าพรรคการเมืองหนึ่งจัดอันดับผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน โดยสิบคนเป็นผู้สมัครหญิงหน้าใหม่มีความโดดเด่นในสาขาอาชีพของตนเองแต่คนนอกวงการไม่รู้จัก ซึ่งพรรคได้จัดผู้สมัครหญิงเหล่านี้ให้อยู่ในอันดับต้นๆ พอที่จะมีโอกาสได้เป็น ส.ส. แต่ด้วยระบบไพรมารีโหวต รายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อจะต้องถูกส่งไปที่สาขาพรรคและตัวแทนพรรคทั่วประเทศเพื่อให้พิจารณาจัดอันดับ 1-50 การที่ผู้สมัครหญิงเหล่านี้ไม่เป็นที่รู้จัก โอกาสติดลำดับที่ 1-50 คงมีไม่มาก แม้กรรมการสรรหาผู้สมัครของพรรคจะส่งเสริมหรือคำนึงให้มีจำนวนผู้สมัครหญิงมากแค่ไหน แต่ถ้าสาขาพรรคไม่เห็นด้วย โอกาสก็จบ แต่ในกรณีเป็นสาขาพรรคแบบจัดตั้งมา สมาชิกไม่ได้ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองจริงจัง การใช้ไพรมารีหรือไม่คงไม่สำคัญ จึงหวังว่า สนช.จะรับฟังข้อท้วงติงนี้ด้วย เผื่อในอนาคตจะได้มีตัวแทนประชาชนที่เป็นผู้หญิงมากด้วยความสามารถไปนั่งในสภามากขึ้น เพื่อส่งเสริมการทำหน้าที่การเป็นตัวแทนประชาชนอย่างครอบคลุม และนำเสนอมุมมองที่หลากหลายแตกต่างจากนักการเมืองชาย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์