ทุบฐานเสียง “ทักษิณ” ตัดแต้ม ส.ส. เปิดทางพรรค คสช.กวาดเสียงปาร์ตี้ลิสต์

แฟ้มภาพ

การเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 ตามปฏิทินเบื้องต้นของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลายเป็นการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในรอบ 8 ปี นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งทั่วไป 3 ก.ค. 2554

พลันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ออกประกาศเรื่องจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 เขต ออกมา ผลปรากฏว่า มีถึง 23 จังหวัด ที่มีเขตเลือกตั้ง-ที่นั่งผู้แทนราษฎรลดฮวบ

ที่ลดหนักที่สุด คือ ภาคอีสาน ลดถึง 10 ที่นั่ง เดิมมี ส.ส. 126 คน ลดเหลือ 116 คน ต่อมาคือ ภาคกลาง ลด 6 ที่นั่ง จากเดิมมี ส.ส. 82 คน ลดเหลือ 76 คน ภาคเหนือ ลด 3 ที่นั่ง เดิมมี ส.ส. 36 คน เหลือ 33 คน ภาคใต้ ลดไป 3 ที่นั่ง เดิมมี ส.ส. 53 คน ลดเหลือ 50 คน และ กทม. จากเดิม 33 คนลดเหลือ 30 ที่นั่ง หายไป 3 ที่นั่ง

ส่วนภาคที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลง คือ ภาคตะวันออก มี ส.ส. 26 คน และภาคตะวันตก มี ส.ส. 19 คน

ดังนั้น พรรคที่ได้รับผลกระทบจากการแบ่งเขตของ กกต.มากที่สุด คือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งมี “ทักษิณ ชินวัตร” คู่ปรับ คสช.เป็นผู้มีบารมีนอกพรรค โดยฐานที่มั่นอยู่ในภาคอีสาน คะเนจากการเลือกตั้งปี 2554 เคยได้ ส.ส.ในภาคอีสานทั้งหมด 104 คนจาก 126 เขตเลือกตั้ง

เมื่อจำนวนเขตเลือกตั้งลดลง โอกาสที่จะได้ ส.ส.ก็ลดลงตามไปด้วย ขณะที่พรรคการเมืองอื่น ๆ ที่มีฐานอยู่ในอีสานเช่น ภูมิใจไทย ชาติพัฒนา ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ไม่รุนแรงเท่าเพื่อไทย

ส.ส.เพื่อไทย จำใจลงปาร์ตี้ลิสต์

10 จังหวัดในภาคอีสานที่ลดลง ได้แก่ 1.ชัยภูมิ จากเดิมมี ส.ส. 7 คน จะเหลือ 6 คน ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย 6 เขต ประกอบด้วย เขต 2-7 มีเพียง เขต 1 ที่เป็นของพรรคภูมิใจไทย คือ นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย

2.นครราชสีมา จังหวัดใหญ่ในภาคอีสาน มีจำนวน ส.ส.เป็นรองแค่ กทม. เดิมมี 15 คน ลดไป 1 ที่นั่ง เหลือ ส.ส. 14 คน โดยมี 3 พรรคครองส่วนแบ่งในพื้นที่ ทั้งนี้ จากผลคะแนนปี”54 มีพรรคเพื่อไทยได้มากที่สุด 8 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนา 4 ที่นั่ง และภูมิใจไทย 3 ที่นั่ง ยังไม่รู้ว่าหวยจะล็อก ลดลงในเขตพื้นที่ของพรรคการเมืองไหน

3.บุรีรัมย์ ฐานที่มั่นของพรรคภูมิใจไทย มี ส.ส.ลดไป 1 คน จาก 9 คนเหลือ 8 คน ที่ผ่านมาเป็นพรรคภูมิใจไทย ของอนุทิน ชาญวีรกูล ผู้ซึ่ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยกให้เป็น 1 ในทีมประชารัฐ ครองเก้าอี้ ส.ส.ได้ถึง 7 เขต ขณะพรรคเพื่อไทยคู่แข่งสำคัญ สามารถแชร์ที่นั่งได้ 2 เขต แต่ครั้งนี้ลดไป 1 เขต เพื่อไทย-ภูมิใจไทย แย่งเก้าอี้กันสนุก

4.อุบลราชธานี ลดจำนวน ส.ส.จาก 11 คน เหลือ 10 คน เป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง มีหลายพรรคจับจองแย่งชิงพื้นที่ ทั้งชาติไทยพัฒนา เพื่อไทย ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ ในเงาของกลุ่มสามมิตร เพียงแค่ยกแรกของการเมือง พรรคเพื่อไทยก็แตกเป็น 3 ก๊ก โดนกลุ่มสามมิตรดูดไปเป็นพวกแล้ว 2 ก๊ก คือ กลุ่มของสุพล ฟองงาม-พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ กับกลุ่มสิทธิชัย โควสุรัตน์ อดีต รมช.มหาดไทย เครือญาติวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวฯคนปัจจุบัน ส่วนกลุ่ม “เกรียง กัลป์ตินันท์” รองหัวหน้าเพื่อไทย ยังปักหลักอยู่ที่เดิม ดังนั้น การชิง 10 ที่นั่ง ในอุบลฯ จึงเดือดยิ่งกว่าเดือด

5.สุรินทร์ เดิมมี ส.ส. 8 คน เหลือ 7 คน ตามผลเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยกวาดได้ 7 ที่นั่ง แบ่งให้ภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง แต่เที่ยวนี้จำนวน ส.ส.ลดลง อาจไม่สะเทือนถึงภูมิใจไทย เพราะไม่ว่าอย่างไร ภูมิใจไทยก็ส่ง “ปกรณ์ มุ่งเจริญพร” ลงสมัคร ส.ส.เขต แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยย่อมได้รับผลกระทบจากการลดจำนวน ส.ส. เพราะต้องมีผู้เสียสละไปลง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

อีก 5 จังหวัดในภาคอีสานที่ถูกลดจำนวน ส.ส. แต่เป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยแบบยกจังหวัด ตามผลการเลือกตั้งปี 2554 ทำให้มี ส.ส.บางรายต้องจำใจไปลงบัญชีรายชื่อ ได้แก่

6.ร้อยเอ็ด มีจำนวน ส.ส.ลดลง 1 เก้าอี้ จาก 8 คน เหลือ 7 คน หายไป 1 ที่นั่ง เช่นเดียวกับ 7.อุดรธานี จากเดิม 9 คน เหลือ 8 คน หายไป 1 ที่นั่ง

8.สกลนคร มี ส.ส. 7 คน เหลือ ส.ส. 6 คน หายไป 1 ที่นั่ง จังหวัดที่ 9.กาฬสินธุ์ จาก 6 ที่นั่ง 5 ที่นั่ง หายไป 1 ที่นั่ง และจังหวัดที่ 10.เลย เดิมมี ส.ส. 4 คน เหลือ 3 คน หายไป 1 ที่นั่ง พื้นที่ดังกล่าวอยู่ใน การดูแลของ “ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข” อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีข่าวว่าไปซบกับกลุ่มสามมิตร ซึ่งทีมของ “ปรีชา” ชนะเลือกตั้งเขต 1 คือ “ปรีชา” เขต 3 คือ “เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข” และเขต 4 คือ “วันชัย บุษบา” ส่วนเขต 2.นันทนา ทิมสุวรรณ ยังปักหลักอยู่กับเพื่อไทย ดังนั้น จึงยังต้องลุ้นว่าการแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตไหนจะถูกยุบหรือถูกเกลี่ยพื้นที่กันใหม่ ระหว่างเขตของปรีชา หรือของเพื่อไทย

ภาคเหนือ เพื่อไทยหาย 2 ที่นั่ง

ด้านภาคเหนือ มี 3 จังหวัด ที่จำนวน ส.ส.ลดลง จังหวัดละ 1 คน คือ เชียงใหม่ แพร่ และเพชรบูรณ์ ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งปี 2554 เชียงใหม่ มีที่นั่ง ส.ส.ทั้งหมด 10 เก้าอี้ เพื่อไทยกวาดเรียบได้ทั้งจังหวัดแต่การเลือกตั้งในปี 2562 จะเหลือเพียง9 ที่นั่ง เป็นอีกจังหวัดที่ต้องมีคนเสียสละเช่นเดียวกับ จ.แพร่ ที่เคยมี ส.ส.อยู่ 3 ที่ ถูกหั่นเหลือ 2 ที่นั่ง

ขณะที่เพชรบูรณ์ เคยมี ส.ส.ได้ 6 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยกวาด ส.ส.ไป 5 คน แบ่งให้ประชาธิปัตย์ 1 คน แต่ในเขตเลือกตั้งใหม่ ถูกหั่นลงไป 1 ที่นั่ง เหลือ 5 ที่นั่งเท่านั้น ซึ่งพรรคที่ได้รับผลกระทบก็คือ เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ และแน่นอนว่า เพื่อไทยจะมี ส.ส.ลดลงจากเดิม 2 เก้าอี้

ภาคกลางกระทบทุกพรรค 

ขยับมาที่ภาคกลาง มี 6 จังหวัดที่ถูก กกต.ลดจำนวน ส.ส. ประกอบด้วยนนทบุรี เดิมมี 7 คน เหลือ 6 คนเป็นพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยทั้งหมด พระนครศรีอยุธยา เดิม 5 คน เหลือ 4 คน เป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย 4 เขต และพรรคชาติไทยพัฒนา 1 เขต

สระบุรี เดิมมี ส.ส.ได้ 4 คน เหลือ 3 คน มีพรรคที่ได้รับผลกระทบถึง 3 ค่าย โดยพรรคเพื่อไทย เป็นเจ้าของพื้นที่เดิม 2 เขตเลือกตั้ง คือ เขต 2 และเขต 4 ขณะที่ประชาธิปัตย์ เป็นเจ้าของพื้นที่ในเขต 1 ส่วนภูมิใจไทย คุมเขต 3

สุพรรณบุรี ฐานบัญชาการของพรรคชาติไทยพัฒนา เดิมมี ส.ส.ได้ 5 คน เหลือ 4 คน ซึ่งในการเลือกตั้ง 2554 พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ ส.ส. 4 คน จาก 5 เขตเลือกตั้ง โดยเสียเขตเลือกตั้งที่ 5 ให้กับพรรคเพื่อไทย แต่งวดนี้เขตเลือกตั้งเหลือแค่ 4 เขต ผู้สมัครจากเพื่อไทยคงต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อรักษาเก้าอี้ ส.ส.ในสุพรรณฯให้อยู่ในกำมือต่อไป

อ่างทอง เดิมมี ส.ส.ได้ 2 คน เหลือ 1 คน แทบจะแบเบอร์สำหรับอ่างทอง เพราะมี “ภราดร-กรวีร์” ปริศนานันทกุล เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมในเขต 1 และ 2 ถ้าไม่ล็อกถล่มทางการเมือง ครอบครัว “ปริศนานันทกุล” เจ้าของพื้นที่เดิมก็ยังป้องกันแชมป์ แต่กระนั้น การลดจำนวน ส.ส.ไป 1 คน เท่ากับ ส.ส.ในเขตอ่างทองของชาติไทยพัฒนา ที่ว่าได้แน่ ๆ หายไปด้วย

ภาคใต้ ปชป.ลุ้นเหนื่อย 

เขตเลือกตั้งภาคใต้ต้องยกให้พรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี 2554 มีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 53 เขตเลือกตั้ง พรรคสีฟ้าแห่งนี้กวาด ส.ส.ได้ 50 ที่นั่ง ปล่อยให้เก้าอี้ ส.ส. 3 ที่นั่ง ในโซน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตกไปอยู่ในมือของพรรคมาตุภูมิ ชาติไทยพัฒนา และภูมิใจไทย

มาเที่ยวนี้จังหวัดที่ถูกลดจำนวน อยู่ในพื้นที่ของประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น คือ กระบี่ ลดจาก 3 คน เหลือ 2 คน ตรัง เป็นพื้นที่นายหัวชวน-ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ลดจาก 4 คน เหลือ 3 คน และนครศรีธรรมราช เดิม 9 คน เหลือ 8 คน

ตามที่ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ดูแลพื้นที่ภาคใต้ กางเป้าจำนวน ส.ส.ไว้ว่า จะต้องได้ไม่ต่ำกว่าเดิม คือ 50 ที่นั่ง

ทว่า…พรรคประชาธิปัตย์อาจต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ท่ามกลางการถูกกินโต๊ะจากพรรคเก่าอย่างชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย เพื่อไทย และพรรคเกิดใหม่อย่าง ประชาชาติ และ รวมพลังประชาชาติไทย

กทม.ส.ส.หาย 3 ที่นั่ง

ส่วนเมืองหลวง-กรุงเทพมหานคร ลดจำนวน ส.ส.ไป 3 ที่นั่ง จาก 33 เหลือ 30 ที่นั่ง จำนวนผู้แทนราษฎรในสนาม กทม. ก่อนการรัฐประหารปี 2557 ตกไปอยู่ในกำมือของพรรคประชาธิปัตย์ ถึง 24 ที่นั่ง ขณะที่พรรคเพื่อไทยทำได้ 9 ที่นั่งเท่านั้น ไม่มีแบ่งส่วนให้พรรคอื่น ส.ส.ทั้ง 2 ค่ายยังต้องจับตาการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. อย่างใจจดใจจ่อ

“นิพิฏฐ์” ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งว่า ความได้เปรียบเสียเปรียบก็เหมือนกันทุกพรรค เพราะมีผลกับทุกพรรคการเมืองเหมือนกัน ส่วนไหนที่จำนวน ส.ส.ลดลงก็มีผลกระทบ

ด้าน “สามารถ แก้วมีชัย” อดีต ส.ส.เชียงราย และคณะทำงานติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าการแบ่งเขตนั้นเขาใช้จำนวนประชากรเป็นตัวตั้ง บิดไปจากนี้ไม่ได้ จำนวน ส.ส.เดิม คือ 375 คน ตอนนี้เหลือ 350 ดังนั้น ต้องเฉลี่ยประชากรใหม่ ตนมองว่าไม่มีผลทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะจำนวน ส.ส.ลดลง ก็จำเป็นที่จะต้องลดเขต

อย่างไรก็ตาม การจะได้เปรียบหรือไม่อยู่ที่การแบ่งเขต โดยใช้แท็กติกไปแบ่งเขตที่เป็นฐานเสียงของเราออก ซึ่งเรื่องนี้เราก็กำลังให้ ส.ส.แต่ละเขตติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเขาจะมีการเปิดให้แสดงความคิดเห็น ก่อนที่ กกต.จังหวัดจะส่งข้อมูลเข้ามาให้ส่วนกลางอยู่

การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เท่ากับการทุบฐานเสียงพรรคการเมือง ขณะเดียวกันสูตรเลือกตั้ง แบบกาบัตรใบเดียวได้ทั้ง ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์จะเป็นช่องทางให้ พรรคการเมืองนอมินี คสช. อาศัยเป็นช่องทางกวาด ส.ส.ในระบบปาร์ตี้ลิสต์แทนการได้ ส.ส.เขต