“วิษณุ” ยัน ล่มยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้ แต่ปรับแก้ได้

เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ระบุว่าจะไม่ยอมให้ยุทธศาสตร์ชาติล่ม ว่า ถูกต้องแล้ว การล่มในที่นี่หมายถึงทุกอย่างมีอยู่ แต่ไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งแบบนี้ทำไม่ได้ แต่ถ้าทำให้ถูกกระบวนการก็สามารถแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ หรือทุก 5 ปี ก็อาจจะมีการทบทวนอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นการเอาประเทศมาล่ามโซ่ผูกไว้ 20 ปี สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่จะมายกเลิกยุทธศาสตร์ 6 ข้อแล้วเปลี่ยนใหม่มาเป็นยุทธศาสตร์ 12 ข้อก็ทำได้ แต่จะทิ้งทั้งหมดโดยไม่มียุทธศาสตร์เลยไม่ได้ เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องมียุทธศาสตร์ชาติ หรือไม่ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ

เมื่อถามถึงการจัดตั้งสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) นายวิษณุ กล่าวว่า มีการรายงานปัญหาเข้ามายังรัฐบาลว่าเมื่อมีการลงมือทำจริงในการปฏิรูปใครจะเป็นคนทำ คำตอบคือ กระทรวง ทบวง และกรม จะต้องทำ จึงเกิดการปฏิบัติใน 2 ระดับคือ ระดับนโยบาย ในการกำหนดแผน และกำหนดยุทธศาสตร์ ส่วนระดับล่าง คือ ระดับกระทรวงผู้ปฏิบัติ คำถามคือ ถ้าระดับกระทรวงไม่ปฏิบัติ ระดับนโยบายไม่สามารถลงไปดูได้ทั่วถึง และต่อไปเราคาดการณ์ว่าประชาชนจะไปร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมว่ากระทรวงนั้น กระทรวงนี้ยังไม่ได้ทำตามแผนปฏิรูป ทำให้อาจมีการร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งไม่มีส่วนใดจะเข้าไปดำเนินการตรงนี้

จึงได้มีการจัดตั้งสำนักงานดังกล่าว ขึ้นมาเป็นส่วนราชการเล็กๆ คาดว่าจะมีคนประมาณ 5-10 คน และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกด้วย โดยการทำงานจะเป็นการทำงานแบบระบบคณะกรรมการ ซึ่งจะนำคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน (กขป.) คณะกรรมการติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล (คตน.) และสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) เป็นต้น ยกรวมมาทั้งหมดประมาณ 10-20 คณะให้อยู่ภายใต้สำนักงานดังกล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับการทำหน้าที่ของสำนักงานดังกล่าว จะบูรณาการข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิรูป ยุทธศาสตร์และปรองดอง รวมถึงรับเรื่องร้องเรียนว่าใครปฏิบัติไม่ปฏิบัติ และเป็นตัวเชื่อมโยงว่าในเวลาที่กระทรวงต่างๆออกมาบอกว่ายินดีที่จะปฏิบัติตาม แต่ขาดเงินสนับสนุน ขาดคน และไม่สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจคนในพื้นที่ที่มาต่อต้านได้ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานดังกล่าวในการลงพื้นที่ไปประสาน ขณะเดียวกันยังมีหน้าที่ในการจัดฝึกอบรมข้าราชการตามหลักสูตรป.ย.ป.ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)กำลังดำเนินการจัดทำ ถือเป็นการเพิ่มหน่วยงานในระดับกลาง

“กำหนดให้หน่วยงานดังกล่าวมีอายุ 5 ปีแล้วยุบ และหัวหน้าสำนักงานจะเป็นข้าราชการระดับซี 11 ขึ้นตรงต่อนายกฯ ส่วนอัตรากำลังถือไม่มาก งบประมาณในการดำเนินการเรื่องนี้ใช้ไม่เยอะถึงหมื่นหรือเปล่ายังไม่รู้เลย แต่เชื่อว่าคุ้มค่าและไม่ได้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอะไร” นายวิษณุ กล่าว

 


ที่มา มติชนออนไลน์