ครม.ไฟเขียว ร่างพ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล คาด5 ปี 3หมื่นล.ยกเครื่องระบบราชการ

วันที่ 2 ตุลาคม 2561 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติครม.ว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ…. ตามที่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล(องค์การมหาชน) (สพร.) ตามนโยบายที่เน้นการขับเคลื่อนประเทศไทยแลนด์ 4.0 ตามเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้า
แต่ปัจจุบันการทำงานของหน่วยงานรัฐไม่สามารถนำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกเท่าทันความเจริญ ทั้งการเก็บข้อมูลที่ต่างกัน ไม่เชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน ทำให้การติดตต่อราชการติดขัด ซึ่งสืบเนื่องจากพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกทางราชการ 2558 ที่ช่วยให้ประชาชนสะดวก มีระยะเวลาชัดเจน แต่ติดปัญหาเอกสารหลักฐานในการยื่นขอใบอนุญาต คำร้อง ที่ทางราชการออกให้ทั้งสิ้น
รัฐบาลจึงต้องการยกระดับการดำเนินงานของรัฐ โดยหลักการของกฎหมายมีการกำหนดให้มีคณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัลมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จัดแผนพัฒนาที่ต้องให้คณะกรรมการกำหนด สอดคล้องกับแผนต่างๆ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ นโยบายสำคัญ มีกลไกกำกับติดตามการดำเนินงานของหน่วยงาน มีการจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง ในการแลกเปลี่ยนเอกสารระหว่างหน่วยงาน แลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลกัน
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนหน่วยงานรัฐ ต้องจัดทำข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลไปยังหน่วยงานอื่น เพื่อประมวลผลต่อเนื่องกัน หากจัดทำก่อนกฎหมายบังคับใช้ และไม่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ต้องแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัลด้วย รวมทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลภาครัฐระบบดิจิทัลต่อสาธารณะ อะไรเปิดเผยได้ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร จะต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงโดยง่าย แต่ต้องไม่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลและกระทบภาคส่วนอื่นๆ
“ในร่างพ.ร.บ.มีบทเฉพาะกาลให้หน่วยงานที่ต้องดำเนินการตามหน่วยงานต้องทำเสร็จภายใน 5 ปีนับแต่วันที่กฎหมายบังคับใช้ หากไม่สำเร็จให้ทำแผนเสนอคณะกรรมการ และครม.ต่อไป เพื่อขยายระยะเวลาในบางหน่วยงาน ซึ่งมีการคาดการในเบื้องต้นว่าต้องใช้งบประมาณ 3 หมื่นกว่าล้าน เป็นการคำนวณคร่าวๆในการนำข้อมูลไปแปลงเป็นดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้”

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงอีกว่า นอกจากนี้ เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)เสนอมาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน ด้วยการไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้จากประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากคำสั่งคสช. ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ถ้ามีผู้ยื่นขอจดแจ้ง อนุญาต และจำเป็นต้องใช้เอกสารทางราชการ ให้เป็นหน้าที่ของผู้มีหน้าที่อนุมัติหรือออกใบอนุญาตต้องดำเนินการนำสำเนาเอกสารมาประกอบการอนุญาตเอง โดยไม่ผลักเป็นภาระของประชาชนซึ่งเป็นผู้จดแจ้ง

โดยมาตรการแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะเร่งด่วน ซึ่งต้องเสร็จภายในวันที่ 5 พ.ย. 2561 นี้ โดยให้หน่วยงานรัฐที่มีกฎหมาย กฎระเบียบ ที่ต้องส่งสำเนาเอกสาร ดำเนินการเชื่อมข้อมูลกันโดยไม่ต้องทำเอ็มโอยู ให้เจ้าหน้าที่พิมพ์เอกสารจากระบบเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ลงนามรับรองโดยเจ้าหน้าที่ โดยประชาชนไม่ต้องนำสำเนาและลงนามสำเนา ส่วนการให้บริการที่เป็นตัวเงินกับประชาชนแม้กระทั่งค่าปรับ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ กรรมการ อนุกรรมการ ดำเนินการผ่านระบบเนชั่นอีเปย์เมนท์
ทั้งนี้การปฏิบัติให้มีผลเป็นตัวชี้วัดในการปฏิบัติงานของหัวหน้าหน่วยงาน รวมทั้งให้สำนักงานกพร.เปิดช่องทางผ่านโซเชียลมีเดียร์รับเรื่องร้องเรียนว่ามีหน่วยงานไหนบ้างที่ยังขอสำเนาเอกสาร ไม่ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว เพื่อแจ้งให้รัฐมนตรีว่ากล่าวตักเตือนหรือปรับรูปแบบ
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนระยะกลาง ต้องแล้วเสร็จภายในปี 2562 ให้หน่วยงานที่พัฒนาระบบสารสนเทศ หรือแอพพลิเคชั่นที่บริการประชาชน เชื่อมโยงข้อมูลจากกรมการปกครอง เพื่อดึงข้อมูลกรอกลงในแบบคำร้องอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเวลามีคนมาติดต่อราชการเดิมทีจะต้องกรอกเอกสาร อาจจะต้องกรอก 10 ข้อ แต่เมื่อหน่วยงานนั้นต้องเชื่อมโยงและดึงข้อมูลมา จะลดการกรอกของประชาชน
และระยะที่ 3 ต้องแล้วเสร็จภายในปี 2563 ให้สำนักงาน กพร. และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล(องค์การมหาชน) (สพร.) เชื่อมโยงเอกสารมากขึ้นเพื่อให้หน่วยงานเรียกดูเอกสารและสามารถให้บริการผ่านออนไลน์ได้