“วิษณุ” นัดถกเตรียมพร้อมก่อนดีเดย์นัดแรกประชุม คกก.ปฏิรูป ขู่.รบ.เลือกตั้งจะเปลี่ยนตัวตามใจชอบไม่ได้

เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทำงานของคณะกรรมการปฎิรูปประเทศ 11 ด้าน ว่า คณะกรรมการปฏิรูปมีภารกิจ 1.ยกร่างแผนการปฏิรูปประเทศให้เสร็จภายในเวลา 8 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จและบังคับใช้ได้ ภายในเดือนเมษายน 2561 2.จากนั้นจะทำภารกิจติดตามการทำงานของหน่วยงานของรัฐทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ว่าปฎิบัติหรือเดินตามแผนการปฏิรูปหรือไม่ หากพบว่าหน่วยงานใดไม่ทำตามสามารถแนะนำตักเตือนให้ปฎิบัติตามอย่างถูกต้อง ถ้ายังไม่ทำตามให้รายงานนายกรัฐมนตรี หากไม่ได้ผลให้รายงานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายต่อไป ด้วยการแจ้งไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) หรือใช้มาตรการของตัวเอง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ไปดำเนินการ 3.เรื่องใดที่กรรมการปฏิรูปต้องทำเอง เช่น ยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูป ก็สามารถทำได้เลย

นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลสามารถเปลี่ยนตัวคณะกรรมการปฏิรูปได้ ถ้าพบว่ามีพฤติกรรมที่บกพร่อง ไม่สุจริต แต่ไม่ใช่เอาออกได้ตามใจชอบ หากเอาออกโดยอ้างว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ก็อาจถูกฟ้อง นายกฯเน้นหลายครั้งว่า หากแผนการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติเป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้อง ทุกหน่วยงานควรปฏิบัติตาม ขณะที่ฝ่ายรัฐไม่ควรเอาโทษมาข่มขู่ เรื่องนี้เป็นของใหม่หลายหน่วยงานอาจยังไม่ชิน ดังนั้นถ้าไม่ปฏิบัติตามอาจเตือนก่อนเพื่อให้แก้ไข อย่างไรก็ตาม ยังตอบไม่ได้ว่าการปฏิรูปจะสำเร็จหรือไม่ เพราะยังไม่รู้ว่าคณะกรรมการแต่ละด้านจะเสนอแนวทางการปฏิรูปอย่างไร ในกฎหมายกำหนดว่าต้องทำภายใน 1 ปี หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ โดยจะต้องรายงานผลต่อครม.ทุกปี

“สำหรับการนัดประชุมครั้งแรก ใน 1-2 วันนี้ ผมจะนัดเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มาหารือว่าจะเริ่มประชุมได้เมื่อใด ซึ่งการประชุมครั้งแรกประธานในแต่ละคณะมาคุยกันกัน เพื่อวางแนวทางร่วมกัน โดยต้องประชุมภายในเวลา 15 วัน ซึ่งกฎหมายระบุว่าให้ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ส่งคณะกรรมการคนใดคนหนึ่ง มาทำหน้าที่การประชุมก่อน หากจำเป็นจริงๆ ให้กรรมการปฏิรูปประชุมกันไปก่อนได้ ขณะนี้ยังไม่มีรายชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะมีการเสนอเข้าครม.เห็นชอบในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ ส่วนการประชุมย่อยของกรรมการแต่ละคณะ สามารถแยกย้ายกันไปประชุมในสถานที่ที่สะดวกได้ โดยอาจใช้ห้องประชุม สศช.เดิม หรือที่ศูนย์ราชการได้ เป็นต้น” นายวิษณุ กล่าว

รองนายกฯ กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูป ไม่ต้องแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าคณะกรรมการส่วนใหญ่เคยเป็นอดีต สปท.ไม่เป็นความจริง เพราะแต่ละครั้งมีโควต้ากำหนดไว้แล้วว่า จะต้องมีอดีต สปท.ไม่เกินกี่คน ตอนที่ตั้ง สปท.ได้คัดเลือกคนดีเข้าไป ต่อมาตั้งคณะกรรมการปฏิรูป จึงต้องมีคนเหล่านี้เข้ามา และคณะกรรมการที่เข้ามานั้นดูจากการเข้าประชุม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แต่ไม่ถือว่าเป็นหัวกะทิของสปท.

“การจะทำปฏิรูปนั้นต้องคิดลงมือทำงาน ไม่ใช่ฝันเพราะถ้าฝันต้องอยู่ในกรรมการยุทธศาสตร์ และกรรมการการปฏิรูปไม่มีสิทธิเป็นส.ว.สรรหา 250 คน นอกจากจะลาออกแล้วจะตั้งใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่เลือกซ้ำกันมาทำงาน ”

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์