เพื่อไทยแตก 4 พรรคร่วม-มวลชน แยกกันเดิน-ช่วยกันตี พลิกเกมเลือกตั้ง

แผนพรรคพี่-พรรคน้อง เป็นยุทธศาสตร์ที่แกนนำพรรคเพื่อไทยเปิดตำราแก้แท็กติกกติกาเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

ใช้ระบบเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยอาจได้แต่ ส.ส.เขต แต่ไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แม้แต่แต้มเดียว

เพราะการใช้บัตรใบเดียวเลือก ส.ส.เขต แล้วนำคะแนนเขตทั้งหมดมาคำนวณ เพื่อคิดจำนวน ส.ส.รายชื่อตามความนิยมของพรรค เป็นสูตรที่คิดหาจำนวน “ส.ส.พึงมี” ของแต่ละพรรคควรจะได้ ส.ส.เท่าไหร่ โดยเคาะสูตรกันที่คะแนนเลือกตั้ง 70,000 คะแนน จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ถ้าพรรคใดชนะเลือกตั้งในเขตมาก ๆ โดยที่คะแนนไม่ถึง 70,000 คะแนน เช่น 20,000-30,000 คะแนน พรรคนั้นก็จะได้คะแนนเฉพาะ ส.ส.เขต ไม่ได้บัญชีรายชื่อ

ซึ่งคะแนนของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งปี 2554 ที่ได้ ส.ส.เขต 204 คน ส่วนใหญ่มีคะแนน 40,000-50,000 คะแนนเท่านั้น

วิธีการแก้แท็กติกของเพื่อไทยคือ แตกพรรค เป็นพรรคพี่-พรรคน้อง โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคพี่ และมีพรรคที่สร้างขึ้นใหม่เป็นพรรคน้อง คือ พรรคเพื่อธรรม มี “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” เป็นหัวหน้าพรรค-นลินี ทวีสิน รองหัวหน้าพรรค และ พงศกร อรรณนพพร เป็นเลขาธิการพรรค ว่ากันว่าพรรคเพื่อธรรม มีฐานบัญชาการคือบ้านใหญ่ตระกูล “วงศ์สวัสดิ์” ย่านแจ้งวัฒนะ

แต่จากพรรคพี่-พรรคน้อง แตกสูตรไปอีกเป็นพรรคหลัก-พรรคร่วม-พรรคมวลชน

ทั้งหมด เป็นตามสูตรที่แกนนำเพื่อไทย อธิบายกับ ส.ส.ในพรรค ถึงแท็กติกแบบเข้าใจง่ายที่สุดว่า “รวมกันเราแพ้ แยกกันเราชนะ” 

ตามแผนจ็อบเดสคริปชั่น 4 พรรค ขณะนี้ถูกแบ่งให้พรรคเพื่อไทยกลายเป็นพรรคหลัก ให้ “บิ๊กเนม” ระดับแกนนำพรรค อาทิ ภูมิธรรม เวชยชัย-จาตุรนต์ ฉายแสง-พงศ์เทพ เทพกาญจนา-โภคิน พลกุล ลง ส.ส.เขต กวาดคะแนนพ็อปพูลาร์ของพรรคในระดับเขตให้ชนะคู่แข่งมากกว่า 70,000 แต้ม

พรรคร่วม คือ พรรคเพื่อธรรมและพรรคประชาชาติ สำหรับพรรคเพื่อธรรม ถูกวางให้เป็นพรรคที่เก็บแต้ม โดยวางเป้าให้เฉพาะปาร์ตี้ลิสต์ เปิดทางให้ผู้สมัครที่พลาดหวังจากการที่ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคเพื่อไทยไปลงเพื่อธรรม พร้อมกับให้คนระดับบิ๊กเนมบางส่วนไปอยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรค ซึ่งมีข่าวว่า หนึ่งในนั้นคือ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกฯ

ส่วนพรรคประชาชาติ ถูกวางไว้เก็บคะแนน ส.ส.เขตภาคใต้ 50 ที่นั่ง แต่คาดหวังมากที่สุดใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่มีที่นั่ง ส.ส.ถึง 13 ที่นั่ง ซึ่งแกนนำพรรคตั้งเป้าว่าจะกวาดได้ครบจำนวน ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ที่ต้องฟาดฟันกับพรรประชาธิปัตย์ และรวมพลังประชาชาติไทย แม้ไม่หวังชนะ แต่หวังเก็บแต้มให้มากที่สุด

แทนยี่ห้อพรรคเพื่อไทยที่ขายไม่ออกในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งได้คะแนนแค่ 3-4 แสนคะแนน ในการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งคิดเป็นตัวเลขตามสูตรเลือกตั้งระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” จะได้แค่ 5 ที่นั่งเท่านั้น

ขณะที่พรรคเพื่อชาติ จดจัดตั้งเมื่อ 18 ก.ย. 2556 มี “เถลิงยศ บุตุคำ” เป็นหัวหน้าพรรค ไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองภาพใหญ่ แต่ปัจจุบันพรรคเพื่อชาติ มี “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานรัฐสภา “สงคราม กิจเลิศไพโรจน์” นายทุนพรรคเพื่อไทย บวก “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช.เข้ามาคุมจังหวะการเคลื่อนไหว พรรคเพื่อชาติถูกวางไว้เป็นพรรคมวลชน เปิดพื้นที่ให้แกนนำคนเสื้อแดง แนวร่วม ผู้เคยร่วมงานกับคนเสื้อแดง ลงเลือกตั้ง ไม่ว่าได้คะแนนเท่าไหร่ถือเป็นกำไรเพื่อนำมาคำนวณเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

“จตุพร” กล่าวว่า ตนไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรค หรือลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของพรรค ซึ่งมีการพูดคุยในวงสนทนาบรรดาหมู่มิตรการเมือง หารือกันแล้วว่าพรรคเพื่อชาติจะเป็นพรรคที่เปิดโอกาสคนที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยเดียวกันเข้ามาสมัครลงเลือกตั้ง เบื้องต้นพรรคเพื่อชาติจะส่ง ส.ส.ครบทั้ง 350 เขต

ย้อนกลับไปในวงประชุม กรธ.ตอนที่คำนวณสูตรเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม มีเสียงลือจากห้องประชุมว่า มี กรธ.บางรายหันไปถามผู้แทนจาก กกต.ว่า สูตรนี้จะทำให้พรรคที่ได้คะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เขตเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ 

กกต.ยืนยันว่า “ทำได้” แม้มีเสียงท้วงว่าพรรคการเมืองอาจ “รู้ทัน” แตกพรรคย่อยออกมาแก้เกม แต่ กรธ.ของ “มีชัย” ก็เชื่อตาม กกต.