ศึกสามเส้าชิงหัวประชาธิปัตย์ “หมอวรงค์” : ล้ม “อภิสิทธิ์”-กู้วิกฤตผู้นำ !!

รายงานพิเศษ

การชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ระเบิดศึกอย่างเป็นทางการ เบอร์ 1 “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แชมป์เก่า เบอร์ 2 “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และเบอร์ 3 “อลงกรณ์ พลบุตร” ผู้ท้าชิง

นายอภิสิทธิ์ชูสโลแกน “มุ่งมั่นเรื่องอุดมการณ์ มุ่งหน้าเพื่ออนาคตของประเทศ” นพ.วรงค์ชูมอตโต “กล้าเปลี่ยน” ขณะที่นายอลงกรณ์ชู “สูตร 456” 4 ปฏิรูป 5 กฎเหล็ก 6 ยุทธศาสตร์

“การแข่งขันย่อมมีการกระทบกระทั่งบ้าง แต่ถึงจะกระทบกระทั่งกันอย่างไร ขอให้อยู่ในกติกา แข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์ อย่าไปกลัวว่าแข่งขันแล้วมีปัญหา ไม่เช่นนั้นจะไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยกันได้” นายอภิสิทธิ์ตัดริบบิ้นในฐานะแชมป์เก่า-ครองตำแหน่งยาวนาน 13 ปี

ระเบิดศึกสามเส้า 

นอกจากความเข้มข้นของการเลือกหัวหน้าพรรคโดยการหยั่งเสียงจากสมาชิกทั่วประเทศครั้งแรกแล้ว ท่ามกลางความระส่ำระสายของพรรคเก่าแก่ที่สุด เกิดปรากฏการณ์ “เลือดไหลออก” และภาพจำ “แพ้เลือกตั้ง” ทำให้การช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนที่ 8 ดุเด็ดเผ็ดร้อนทวีคูณ

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” ผู้สมัครรับการหยั่งเสียงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 2 “ผู้กล้า” ออกมาท้า “ชิงดำ” กับนายอภิสิทธิ์-แชมป์เก่า

การ “ออกสตาร์ต” ด้วยการ “เปิดตัว” ครั้งแรกของ “หมอวรงค์” ที่ จ.พิษณุโลก เพราะเป็น “บ้านเกิด” ทางการเมืองของอดีต ส.ส.พิษณุโลก ปชป. 3 สมัย-มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง-สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นธงชัย-สัญลักษณ์การ “กอบกู้วิกฤต”

“พรรคเรามีวิกฤต ประเทศเราก็มีวิกฤต วิกฤตของพรรค คือต้องยอมรับว่า พรรคตกต่ำ ความนิยมของพรรคไม่มาก พรรคถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายอย่าง เกิดสภาพเลือดไหลออก สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่น”

“เสร็จจากพิษณุโลก คือ สุโขทัย บ้านเกิด อบอุ่น อารมณ์คนพิษณุโลกกับสุโขทัยไม่แตกต่างกัน คือ ดีใจ ตื่นเต้น ที่เห็นคนบ้านเราชิงหัวหน้าพรรค”

“ถัดมาลงใต้ เริ่มต้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เหตุผลสำคัญ คือ บ้านท่านถาวร (เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา) อยู่ที่นั่น พูดง่าย ๆ คือ ว่าที่เลขาฯ ถ้าผมได้รับการเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรค คนสงขลาจะได้เป็นเลขาธิการพรรค”

ชู “ต้านโกง”-“กล้าเปลี่ยน”

“เราสัมผัสอารมณ์ประชาชน ความรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงสูงมาก แม้แต่อดีต ส.ส. ถ้าคุยเป็นการส่วนตัว ทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ถามว่ามีคนกล้ากี่คน” จึงเป็นที่มาที่ไปของสโลแกนว่า “กล้าเปลี่ยน”

“ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อนให้อดีต ส.ส.กับประธานสาขาโหวต พอที่จะคอนโทรลได้ แต่รอบนี้ให้สมาชิกทั้งประเทศโหวต ฉะนั้น หัวใจสำคัญ คือ ต้องไปพบประชาชนและสมาชิกให้ได้มากที่สุด นำกระแสของประชาชนไปสู่การเปลี่ยนแปลง”

“ถ้าเราเดินไปเรื่อย ๆ ขายความคิดการทำพรรคให้เข้มแข็ง ขายฝันให้เห็นว่าจะนำพาประเทศให้หลุดไปสู่…เป็นประเทศชั้นนำของโลก ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาที่สองในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยศึกษาการสร้างชาติของจีนและสิงคโปร์”

“จุดร่วมที่เด่นที่สุดของ 2 ประเทศนี้ คือ การต่อต้านโกง การปราบการทุจริตและการสร้างคน ถ้าประเทศเราปราบโกง เอาจริงเอาจัง ประเทศจะหมุนเร็วขึ้น สร้างคน สร้างมาตรฐานขึ้นมาใหม่ จัดโครงสร้างใหม่ กระจายอำนาจ คือ การปฏิรูปโครงสร้างราชการ ประเทศที่เจริญแล้วเพราะการสร้างหัวเมืองใหญ่ให้กระจายทั้งประเทศเพื่อให้เป็นมหานคร”

“การปราบโกงเปรียบเสมือนร่มใหญ่ การแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนต้องไม่แฝงการทุจริต ปฏิรูปการศึกษาต้องไม่แฝงการทุจริต กระจายอำนาจต้องไม่แฝงการทุจริต ปรับโครงสร้างพื้นฐานต้องไม่แฝงการทุจริต ทุกนโยบายที่ทำ อย่าโกงนะ”

ตีฐานเสียง “อภิสิทธิ์” 

หลังจากนี้ “หมอวรงค์” จะเดินสายขอคะแนนเสียงทุกภาค เพื่อให้ประชาธิปัตย์เป็น “พรรคของคนทุกภาค” โดยเฉพาะภาคใต้และกรุงเทพมหานคร โดยใช้กลยุทธ์ “ชนบท-ป่าล้อมเมือง”

“เราตั้งใจให้เป็นพรรคของคนทุกภาค การเดินสายต้องเดินให้ครบทุกภาค ช่วงนี้เป็นช่วงสร้างกระแส ไปภาคเหนือ ไปภาคใต้แล้ว ต่อไปจะไปภาคอีสานหลายครั้งหน่อยเพราะเป็นภาคใหญ่ ตะวันออก ภาคกลาง และตามเก็บที่ภาคใต้อีก 1 รอบ”

“ต้องยอมรับว่าภาคใต้เป็นฐานเสียงของประชาธิปัตย์ เป็นภาคที่ประชาชนจะเป็นคนตัดสิน ฉะนั้นช่วงโค้ง 7 วันสุดท้าย เป็นช่วงเก็บคะแนน เราจะเดินอีกแบบหนึ่ง สุดท้ายจะปิดที่กรุงเทพฯ”

“ต้องไปย้ำ เวลาจะเก็บคะแนนต้องลงไปย้ำ พื้นที่ไหนที่เคยไปแล้วต้องไปซ้ำ ภาคใต้ต้องไปซ้ำแน่นอน เพราะเป็นฐานเสียงของประชาธิปัตย์เยอะ”

“สุดท้ายแล้วต้องลงไปที่ฐานข้อมูลสมาชิก จังหวัดใดมีสมาชิกโหวตมากน้อยขนาดไหน ตอนนี้ยังไม่นิ่ง จะนิ่งในวันที่ 15 ต.ค.นี้ เมื่อถึงตอนนั้นเรารับรู้แล้ว เราจะเดินอีกรอบหนึ่งเพื่อลงลึกไปเก็บคะแนน ถึงเป็นรองแต่สูสี”

นักสังเกตการณ์ที่มองจากนอกเวทีการแข่งขัน หากเป็นเวทีมวย “หมอวรงค์” ถูกเปรียบเสมือนเป็น “มวยรอง”

“ตอนเปิดตัว คนมองว่าเราเป็นมวยรอง ยิ่งท่านหัวหน้า (อภิสิทธิ์) เป็นแชมป์มา 13 ปี เราก็ต้องขยันมากขึ้น แต่นิสัยคนไทย เราเกิดต่างจังหวัด โตต่างจังหวัด ทำงานในชนบทมาก่อน คนไทยชอบเชียร์มวยรองที่ขยัน ถ้ารักษาโมเมนตัมได้ เราจะชนะ”

วิกฤตผู้นำ-แพ้เลือกตั้ง

3 สิ่งแรกที่ “กล้าจะเปลี่ยน” หาก “หมอวรงค์” ถึงฝั่งฝัน-คว้าเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนที่ 8 มาครอง คือ หนึ่ง การบริหารภายในพรรค ต้องทำงานเป็นทีม ไม่ทำงานแบบ “วันแมนโชว์”

สอง การกระจายอำนาจเพื่อสร้างคน เพื่อให้พรรค “ไม่ขาดผู้นำ” สาม “ภาวะผู้นำ” หลักการทำงานต้องวางเป้าหมายและกล้าที่จะทำ โดยเอาความกล้ามาเป็นตัวนำ

“ผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ภาวะผู้นำมันมาแต่กำเนิด ผู้นำที่ถูกสร้างมาแต่ไม่มีมาแต่กำเนิด พอเกิดวิกฤตจะแก้ปัญหาไม่ค่อยเก่ง แต่ผู้นำที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เวลาเกิดวิกฤตจะรู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร”

เขาจึงเชื่อว่า การแก้วิกฤตเลือดไหลออก-แพ้เลือกตั้งซ้ำซาก หัวใจ คือ ความเชื่อมั่นในผู้นำ-ฝีมือจะนำไปสู่แลนด์สไลด์

เมื่อสนามเลือกตั้งหัวหน้าพรรคถูกผูกโยง-ขมวดปมเป็นสนามเลือกตั้งระดับประเทศ ที่วาง “เดิมพัน” สูงถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี-การถูกเผด็จการทหารขยายอำนาจรุกล้ำกล้ำเกินภายในพรรคประชาธิปัตย์

“คำถามนี้ถามมาเท่ากับผมแพ้การเลือกตั้งจึงต้องไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่ผมเชื่อในประสิทธิภาพของผม ผมเชื่อว่าจะเกิดปรากฏการณ์แปลก ๆ ที่ทำให้ผมชนะ ผมต้องเป็นฝ่ายเลือก ผมจะไม่อยู่ในเกมที่ต้องการให้ผมเป็นฝ่ายแพ้ เราต้องกำหนดเกมของเราเอง ตั้งเป้าว่ามีโอกาสชนะ”

“เป็นคำถามที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อหวังผลทางการเมือง ประชาธิปัตย์ตอบซ้ายก็มีปัญหา ขวาก็มีปัญหา และถูกกดเป็นฝ่ายแพ้ไปโดยตลอด ฉะนั้น เราต้องมีความหวังเป็นผู้ชนะ เราต้องเป็นฝ่ายเลือกว่าเราจะเอาใครมาทำงานกับเรา”

โหวตสวน 2 ครั้ง ชนะ 2 ครั้ง 

ทว่าภาพจำของ “หมอวรงค์” สนับสนุนรัฐธรรมนูญ “เท่ากับ” สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

“ผมไม่เคยพูดว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ แต่สนับสนุนรัฐธรรมนูญจริง เพราะต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ซึ่งผมดีใจที่เห็นตรงกับประชาชน 60 เปอร์เซ็นต์”

“ผมโหวตสวนกับหัวหน้า 2 ครั้ง ชนะทั้ง 2 ครั้ง หนึ่ง รับร่างรัฐธรรมนูญ สอง นำกฎหมายไพรมารีโหวตมาใช้ในการเลือกตั้ง และการเลือกหัวหน้าพรรค ถ้ามองทางการเมือง ผมถือว่าผมเป็นผู้ชนะ”

เขาตบท้ายก่อนจะทิ้งคำ “ปริศนา” ว่า จารีตของพรรค คือ การเสนอหัวหน้าพรรคเป็นนายก ฯ แต่ท้ายที่สุดการตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ จะจบลงที่มติพรรคทุกครั้ง

5 พ.ย.จะเป็นวันที่ได้รู้ว่า “หัวหน้าพรรคคนที่ 8” จะนอนมาหรือพลิกโผ