ตัวแทนบิ๊กตู่-สนช.วางพวงมาลา รำลึก 14 ตุลา ยกย่องเหล่าวีรชน แนะคนรุ่นหลังรักษา ปชต.

เมื่อเวลา 09.20 น. วันที่ 14 ตุลาคม ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ จัดงานรำลึกและปาฐกถา 45 ปี 14 ตุลา โดยช่วงเช้ามีพิธีตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 14 รูป จากนั้นมีพิธีกรรม 3 ศาสนา และพิธีวางพวงมาลา พร้อมกล่าวรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยผู้แทนจากหลายภาคส่วน อาทิ นายยงยุทธ สุทธิชื่น ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนนายกรัฐมนตรี นายสุรัตน์ หวังต่อลาภ รองเลขาธิการวุฒิสภา ผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตัวแทนพรรคการเมือง ตลอดจนผู้แทนญาติวีรชน 14 ตุลา

นายยงยุทธกล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกถึงวีรกรรมผู้กล้าที่เสียสละชีวิต เลือดเนื้อ เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย โดยอุดมการณ์และความเสียสละของเหล่าวีรชนจะคอยย้ำเตือนคนรุ่นหลังให้จดจำและตระหนักถึงความสำคัญของการมีประชาธิปไตย ความรัก ความสามัคคี และร่วมกันรักษาไว้ให้ยั่งยืน

“จนถึงวันนี้เป็นเวลา 45 ปีแล้ว นับเป็นโอกาสอันดีที่เราทั้งหลายจะได้ตระหนักถึงการใช้สิทธิเสรีภาพให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ตลอดจนการผลักดันให้ประชาชนเข้าใจวิถีประชาธิปไตยที่แท้จริง มีส่วนร่วม มีบทบาทในการคิด ตัดสินใจ กำหนดนโยบายเพื่อสร้างความยุติธรรม ความเจริญก้าวหน้า และประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวม เนื่องในโอกาสรำลึกถึง 14 ตุลาคม 2561 จึงขอเชิญชวนประชาชนคนไทยร่วมไว้อาลัยให้วีรชนผู้กล้าหาญทุกท่าน โดยวีรกรรมครั้งนั้นยังบันทึกอยู่ในความทรงจำของคนไทยตลอดไป ขอให้ร่วมกันสืบสานเจตนารมณ์ในการต่อสู้ของเหล่าวีรชนต่อไป” นายยงยุทธกล่าว

นายสุรัตน์กล่าวว่า ในนามของ สนช.ขอยกย่องเชิดชูวีกรรม ความกล้าหาญ เสียสละ และวิญญาณของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และสืบทอดเจตนารมณ์สู่คนรุ่นหลัง โดยร่วมกันสร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีแนวคิดหลักที่สำคัญคือการเคารพสิทธิเสรีภาพ การเคารพกฎหมาย ความเชื่อในการเท่าเทียม ตลอดจนการตระหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยรวม

“เหตุการณ์ 14 ตุลา ยังเป็นอุทาหรณ์ให้ทุกคนได้เรียนรู้ถึงเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย อันเกิดขึ้นจากการรวมพลังของนิสิต นักศึกษา ประชาชนที่ร่วมกันเดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการศึกษาถอดบทเรียนอย่างถ่องแท้ ไร้การพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิด วิจารณ์ ซึ่งสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์ หรือการรับฟังความเห็นที่แตกต่าง มองเห็นความขัดแย้งอย่างเป็นปกติ ด้วยวิธีการใช้ปัญญา ความคิด และเหตุผลมากกว่าอารมณ์ นำมาสู่ความปรองดอง สมานฉันท์ และเกิดความสันติสุขต่อคนในชาติอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุรัตน์กล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์