ประธานกสม.เรียกร้อง สนช.พิจารณาเหตุผลให้ถ่องแท้ก่อนลงมติร่าง พรป.กสม.วาระสองและสาม

วันที่ 17 สิงหาคม เวลา 10.00 น. นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้สัมภาษณ์กรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า กสม.ไทยไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศทำให้ต้องไปประชุมในฐานะทีมงานของกระทรวงการต่างประเทศว่า เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ขอยืนยันว่า กสม.ไม่ได้ไปประชุมในฐานะทีมงานของกระทรวงการต่างประเทศ ต่างคนต่างมีบทบาทของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการประจำอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี กสม.ไทยถือว่ามีศักดิ์และสิทธิเท่าเทียมกับประเทศภาคีสมาชิกอื่น

ส่วนที่ กรธ.ต้องการเซตซีโร่ กสม. โดยอ้างว่าวิธีการได้มาซึ่ง กสม.ชุดปัจจุบันไม่สอดคล้องกับหลักการสากลนั้น นายวัสกล่าวว่า ไม่ถูกต้องทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพราะเมื่อปี 2557 คณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation – SCA) ประเมินสถานะ กสม.ไทยชุดที่แล้ว ได้ให้เวลาในการแก้ไขปัญหา 1 ปี โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่ง กสม. และให้ความคุ้มกันในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้มีหลักประกันความเป็นอิสระและความหลากหลายของ กสม. ซึ่งกระบวนการสรรหา กสม.ชุดปัจจุบันที่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปลายปี 2558 เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า กสม.ชุดปัจจุบันมีความหลากหลายตามหลักการปารีส

“เป็นที่น่าสังเกตว่า กรธ.อ้างเหตุผลจากต่างประเทศเพื่อเซตซีโร่ กสม.ชุดนี้ แต่จุดยืนของ กสม. ไม่นิ่ง เห็นได้จากในร่าง พรป.กสม.ของ กรธ.ฉบับวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 มีบทบัญญัติเรื่องความคุ้มกันการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต กสม.ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งหรือทางอาญา แต่ในร่างที่ กรธ. ส่งเข้า สนช. กลับถอดหลักเกณฑ์ข้อนี้ออกไป ครั้นมี สนช.สอบถามในการประชุมพิจารณาวาระแรกขั้นรับหลักการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ฝ่าย กรธ.กลับตอบว่าใส่หลักเกณฑ์ข้อนี้ไม่ทัน จะขอไปใส่ในชั้น สนช. และเป็นผู้แทนของ กสม.ที่ได้เสนอขอให้ใส่ความคุ้มกันกลับเข้าไปในร่าง พรป.กสม. เพราะหากไม่มีมาตรการดังกล่าวนี้ กสม.ไทยจะไม่มีทางเรียกสถานะ A กลับคืนมาได้” ประธาน กสม. ระบุ

นายวัสกล่าวด้วยว่า กสม.ชุดปัจจุบันมีผลงานเป็นที่ชื่นชมในเวทีระหว่างประเทศและได้รับคำชมเชยว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และที่สำคัญ ได้ดำเนินการผลักดันให้รัฐบาลและภาคธุรกิจร่วมกันลงนามในปฏิญญาว่าจะนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมาปฏิบัติใช้ในประเทศ อันเป็นกลไกผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน จนเลื่องลือไปยังสหภาพยุโรปและทั่วโลก จึงอยากให้ สนช. พิจารณาเหตุผลให้ถ่องแท้ เพราะการเซตซีโร่หรือแม้กระทั่งลดวาระการดำรงตำแหน่งของ กสม.ชุดปัจจุบัน อาจจะสร้างความคลางแคลงใจแก่สถาบันสิทธิมนุษยชนในอาเซียนและองค์การระหว่างประเทศได้

 


ที่มา : มติชนออนไลน์