ภูมิใจไทย ล้างภาพพรรค “ประชานิยม” “อนุทิน” ปั้น Sharing Economy ลุยเลือกตั้ง

พรรคภูมิใจไทย ที่มี “อนุทิน ชาญวีรกูล” เป็นหัวหน้า ใช้ “ประชานิยม สังคมเป็นสุข” มาครบ 1 ทศวรรษ

เมื่อคำว่า “ประชานิยม” กลายเป็น “พิษ” เป็นของแสลงหูตั้งแต่เหตุการณ์ยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557

อนุทิน-ภูมิใจไทย จึงต้องเปลี่ยนมอตโต้ของพรรคใหม่ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจให้ประชาชน”

“sharing economy” คือทิศทางในพาร์ตหนึ่งที่ อนุทิน-ภูมิใจไทย กำลังใช้เป็นแคมเปญในการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน พร้อมกับได้มือเทคโนโลยี “พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ” ที่ลุกออกจากตำแหน่งประธาน กสทช. มาคุมนโยบาย world digital สร้างแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ให้ภูมิใจไทยสู้ศึกเลือกตั้ง

“อนุทิน” กล่าวว่า “ปัญหาทั้งหลายในประเทศนี้มีจุดเริ่มจากที่เดียวคือ เงินไม่พอ ท้องไม่อิ่ม แก้ไขในจุดเริ่มต้นของปัญหา อย่ามาแก้จุดปลาย ถ้าแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้ จะนำไปสู่ความสงบสุข ความสามัคคี ความมั่นคงในทุกด้าน ต่อไปนี้ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ภูมิใจไทยจะไม่พูดเรื่องการเมือง แต่จะพูดถึงการแก้ไขปัญหาปากท้อง”

“ต้องทำทุกอย่างให้เกิดความสะดวกความสบายในการประกอบธุรกิจ ลดอำนาจรัฐ ไม่ใช่ลด power ของรัฐ แต่เป็นการลดขั้นตอนที่ทำอะไรของรัฐ ที่ผ่านมาพิธีการมาก ต้องติดกฎระเบียบมากมาย สุดท้ายกว่าประชาชนจะได้อะไรจากภาครัฐ หลายกรณีสายเกินไป ปัญหาของประเทศไทยทั้งหมด”

บนธีมของ “sharing” อนุทินยกตัวอย่างแรก Thailand university sharing เพราะทุกคนเข้าถึงสารสนเทศ เรียนผ่านดิจิทัลได้ ฝันที่จะเห็นว่าประเทศไทยจะมี Thailand sharing university เรียนฟรีตลอดชีพ ไม่ต้องไปเอนทรานซ์ เรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยมีระบบองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ใช้คำว่าแชริ่ง ไม่ต้องเป็นมหาวิทยาลัย ก. ข. ค. แต่เป็น world global knowledge เพื่อให้คนเข้าถึงการศึกษามากที่สุด ของเหล่านี้มีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้นำมาบูรณาการเกิดเป็นเรื่องราว

ตัวอย่างที่สอง profit sharing แก้ปัญหาเกษตรกรรายได้น้อย เพราะไทยมีเกษตรกรชาวนาชาวไร่ที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาความล้มเหลวต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาปากท้องของชาวนา ชาวไร่ เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมที่สุดในสายตาของผม เคยนึกภาพว่าเกษตรกรในประเทศไทย คือ ผู้ที่ทำงานหนักที่สุด ถูกเอาเปรียบมากที่สุด ได้รายได้น้อยที่สุด เป็นหนี้มากที่สุด เราอิ่ม มีของกินทั้งข้าว พืชผัก ผลไม้ เนื้อ มาจากเกษตรกร แต่คนที่ทำอาหารให้กินกลับลำบากที่สุด ในขณะที่เราอิ่ม โคตรไม่แฟร์เลย

“ต้องใช้ระบบ profit sharing เหมือนที่อ้อยและน้ำตาลทำ ทำตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ไม่เห็นว่าจะมีการจำนำอ้อย มีปัญหากับรัฐบาลมากมายเหมือนพืชเศรษฐกิจอื่น ข้าว อ้อย ยาง มัน ปาล์ม อ้อยทำให้เห็นว่าเอารายได้มากอง โรงงานเท่าไหร่ เกษตรกรเท่าไหร่ งานนี้สบายใจมาก คนที่มารับผิดชอบ คือ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค”

ตัวอย่างสาม ใช้ sharing economy มาใช้กับการบริการด้านท่องเที่ยว ปลดล็อกกฎหมายให้คนใช้สินทรัพย์ของตัวเองให้เป็นประโยชน์ เพิ่มรายได้ให้เจ้าของรถ เจ้าของบ้าน แพลตฟอร์ม Grab และ Airbnb จะนำมาใช้ “อนุทิน” ยกตัวอย่าง “บุรีรัมย์” ใช้เวลา 8 ปี กลายมาเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงกีฬา รองรับนักท่องเที่ยวมากกว่า 2 แสนคน

“ช่วงที่ผมว่างงานการเมืองคุยกับท่านเนวิน และนายศักดิ์สยาม ท่านเนวินอยากทำสนามบอล อยากทำให้บุรีรัมย์เจริญ จึงมาระดมสมองกัน ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวจะมาบุรีรัมย์ เปลี่ยนจากจังหวัดผ่าน ให้เป็น destination วันนี้เกิดขึ้นเป็นจริง งานแข่งขันโมโต จีพี เงินสะพัด 3 พันกว่าล้าน จากเงินลงทุน 1 ล้านบาท สนามบินบุรีรัมย์ที่มี 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ปัจจุบันเป็น 4-5 เที่ยวต่อวัน เวลานี้ยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติแล้ว” 

เบื้องหลังการคิดแคมเปญธีม sharing มี “เนวิน ชิดชอบ” ครูใหญ่ภูมิใจไทย เป็นหนึ่งในแกนหลักคำหรู เป็นแนวนโยบาย ยกบุรีรัมย์ให้เป็นเมืองต้นแบบ แล้วกระจายไปจังหวัดอื่น ๆ

ในวงคิดแคมเปญ มีการยกตัวอย่างการจัดการแข่งขันโมโต จีพี 2018 ที่บุรีรัมย์ รัฐบาลให้เงินลงทุนแค่ 1 ล้านบาท รถที่ใช้บริการสาธารณะในเมืองบุรีรัมย์ก็มีจำนวนน้อย ไม่พอกับการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมาใช้บริการ ไอเดีย sharing จึงเกิดขึ้น โดยประสานงานกับ Grab กลายเป็น Grab บุรีรัมย์

“เนวิน” ต้องการบรรจุวาระ “บุรีรัมย์โมเดล” กระจายไปตามหัวเมืองท่องเที่ยว

แนวคิดธีม sharing ที่ “อนุทิน” แจกแจง จึงเป็นธงหลักของภูมิใจไทยในการสู้ศึกเลือกตั้ง