ตัวแทน 4 พรรคการเมือง พร้อมหนุนการศึกษาไทยให้เกิดความเท่าเทียม

ตัวแทน 4 พรรคการเมือง พร้อมหนุนการศึกษาไทยให้เกิดความเท่าเทียม อนค.ชูนโยบายเงินเดือนเยาวชน-หั่นงบทหารเสริมการศึกษา ด้าน ปชป.แนะตั้ง คกก.การอ่านหนังสือแห่งชาติ เพิ่มทุนนักเขียนเปิดพื้นที่การอ่าน

วันนี้ (19 ต.ค.) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 13 มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “เสียงที่ไม่ (เคย) ได้ยิน” เวทีภาคการเมือง ซึ่งมีตัวแทนจากพรรคการเมือง อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พรรคเพื่อไทย (พท.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ดำเนินรายการโดยนายมกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แต่ละพรรคการเมืองได้แสดงความเห็นว่า หากในอนาคตได้เป็นรัฐบาลจะมีนโยบายดำเนินการส่งเสริมการอ่านหนังสืออย่างไร โดย น.ส.รัชดา ตัวแทนจากพรรค ปชป.กล่าวว่า จะส่งเสริมเรื่องของการศึกษาให้ดีขึ้น เพราะหากเด็กอ่านไม่ได้ก็เป็นนักเขียนไม่ได้ จึงต้องส่งเสริมให้เด็กสนใจการอ่าน ที่สำคัญต้องปรับปรุงระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็ก ไม่ให้เรียนในสิ่งที่ยากเกินไป จนไม่อยากทำ และสุดท้ายก็จะไม่สามารถเขียนหนังสือได้ เราจะตั้งคณะกรรมการการอ่านหนังสือแห่งชาติ พร้อมจะส่งเสริมนักเขียน นักแปลที่มีคุณภาพ และให้ทุนการศึกษาในการพัฒนาผลงาน ที่สำคัญต้องมีพื้นที่ให้แสดงผลงาน

ด้านนายกิตติรัตน์กล่าวว่า นักเขียนที่ดีควรจะมีพื้นที่ในการแสดงผลงาน และเพื่อให้ผลงานที่ดีส่งถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น หรือสามารถส่งผลงานดีๆ ให้กับทุกโรงเรียนให้เด็กได้อ่าน และหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะขยายพื้นที่ในการจัดสัปดาห์หนังสือให้กระจายไปในส่วนภูมิภาคด้วยและจะพยายามผลักดันให้นักเรียนใช้แท็บเล็ตในการเข้าถึงเนื้อหาของหนังสือ นอกจากนี้ยังจะให้ทุกคนได้เข้าถึงห้องสมุด

ขณะที่นายประสาร ตัวแทนพรรค รปช. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่ควรปล่อยให้เรื่องของการอ่านกลายเป็นสิ่งที่เด็กต้องแสวงหาเอง ควรจะเปิดกว้างให้เด็กสามารถอ่านหนังสือได้อย่างเสรี

เมื่อถามว่า ถ้าพรรคการเมืองของท่านเป็นรัฐบาลจะจัดการกับระบอบหนังสือและพัฒนาความรู้อย่างไรนั้น นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ความรู้มีความสำคัญเป็นอันดับ 1 แต่ต้องจัดการสิ่งพื้นฐานให้คนยากลำบาก หากคนเหล่านั้นมีท้องอิ่ม มีรายได้พอประมาณและดูแลตัวเองได้ ก่อนที่จะผลักดันให้สนใจในเรื่องความรู้ซึ่งก็เป็นสิ่งจำเป็น

ด้านนายปิยบุตรกล่าวว่า การพัฒนาความรู้ประกอบด้วย 3 หลักการ คือ 1.เสรีภาพในการศึกษา 2.ความเท่าเทียมในการศึกษา และ 3.ความหลากหลายในการศึกษา ส่วนเรื่องความเท่าเทียมในการศึกษาที่มีปัญหามานานว่าประเทศไทยไม่มีงบประมาณเพียงพอนั้น พรรคอนาคตใหม่มีแนวคิดจะทำนโยบายเงินเดือนเยาวชนเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดยมีเงื่อนไขว่าเงินนี้จะต้องเอาไปเรียนหนังสือเท่านั้น ซึ่งจะนำงบมาจากการลดงบประมาณของกองทัพ เชื่อว่ากองทัพที่ทันสมัยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณและนายพลเยอะขนาดนี้ ซึ่งบทบาทของพรรคการเมืองที่จะช่วยพัฒนาชาติด้วยความรู้ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งและการไปอยู่ในสภาเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วการเมืองต้องทำงานตลอดเวลา ในอนาคตพรรคอนาคตใหม่จะตั้งมูลนิธิทำงานขับเคลื่อนสังคมร่วมกับภาคส่วนต่างๆ โดยไม่ต้องมีภาครัฐ วิธีการดังกล่าวจะทำให้พรรคการเมืองมีชีวิตตลอดเวลา ไม่ใช่มีบทบาทแค่ช่วงเลือกตั้ง

ด้านนายประสารกล่าวว่า เราควรให้เด็กอ่านหนังสือสัปดาห์ละ 1 เล่ม เพื่อสร้างนิสัยรักการอ่าน ไม่ใช่การยัดเยียดให้เด็ก แต่ต้องมีวิธีการนำเสนอ เราสนับสนุนให้สร้างนิสัยการอ่านทั้งแผ่นดิน ส่วนที่พรรคอนาคตใหม่เสนอให้ลดงบของกองทัพแล้วเพิ่มงบการศึกษานั้น คงทำไม่ได้ เพราะการจัดสรรงบประมาณนั้น ไม่สามารถหยิบจากกระทรวงหนึ่ง มาให้อีกกระทรวงหนึ่ง อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการก็ได้งบประมาณสูงสุดอยู่แล้ว ส่วนกระทรวงกลาโหมได้งบมาเป็นอันดับ 4 จากทุกกระทรวง

น.ส.รัชดากล่าวว่า หากพรรค ปชป.ได้เป็นรัฐบาล จะพัฒนาชาติด้วยการศึกษา 3 วิธี 1.ปรับการเรียนการสอนให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์เป็น พร้อมนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ 2.แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยให้โรงเรียนขนาดเล็กในชนบทมีคุณภาพ มีปริมาณครูที่เพียงพอ พร้อมจัดสรรงบประมาณตามฐานความขาดแคลน และให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับโรงเรียนในท้องถิ่น 3.พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ สร้างค่านิยมไม่ให้คนไม่ยึดติดใบปริญญา เพราะทุกคนสามารถหาความรู้ได้จากแหล่งต่างๆ นอกจากนี้ ทุกพรรคการเมืองควรจริงจังกับการสนับสนุนให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้กับลูกฟัง

เมื่อถามว่า พรรคการเมืองของท่านตระหนักถึงความรู้ของประชาชน และจะนำหนังสือมาช่วยอย่างไร นายกิตติรัตน์กล่าวว่า เชื่อว่าการสร้างสิ่งแวดล้อมและโอกาสในการเข้าถึงจะช่วยให้คนอยากรู้มากขึ้น เพราะเรื่องที่ควรจะรู้ก็ไม่รู้ แต่เรื่องที่ควรรู้กลับไม่รู้ เช่น ความสามารถในการอ่านทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทำให้ไม่สามารถไปไขว่คว้าความรู้ในเรื่องอื่นได้ แต่ก็มีความรู้ที่มาจากรายการโทรทัศน์บางรายการที่ฉายทุกช่อง แต่คนไม่ดู

นายปิยบุตร​กล่าวว่า​ ความรู้มี​ 2 แบบ​ คือ​ 1.ความรู้เพื่อการดำรงชีวิต​ และ​ 2.ความรู้เพื่อพัฒนาปัญญา​ รัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนความรู้ทั้ง​ 2 แบบ​ เพราะถ้าเรียนแค่ความรู้แบบแรก​ คนจะกลายเป็นหุ่นยนต์ไปหมด​ ในทางกลับกัน​ ความรู้แบบที่สองจะทำให้คนรุ่มรวย​ ลุ่มลึก​ อย่างไรก็ตาม​วันนี้ประเทศไทยถูกกดทับไม่ให้คนแสดงออกได้อย่างที่คิด​ ดังนั้น​ กฎหมายที่ปิดกั้นเสรีภาพต้องถูก​ยกเลิก​ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นอกจากนี้​ ในแง่โครงสร้าง​ ความรู้ของไทยถูกรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง​ เป็นความรู้ชุดเดียว​ ทั้งที่ท้องถิ่นอาจมีความรู้เฉพาะพื้นที่​ ดังนั้น​ เราสนับสนุน​ให้มีการกระจายอำนาจ​ และเปิดโอกาสให้มีชุดความรู้ที่หลากหลาย​ ส่งเสริมสวัสดิการเพื่อให้ประชาชนไม่ต้องเอาตัวรอดไปวันๆ​ แต่ต้องมีเวลาและสมองเพื่อได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์​ ซึ่งรัฐบาลที่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้ต้องเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย​เท่านั้น

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์