อภิสิทธิ์ : คิดโจทย์แก้วิกฤตเลือกตั้ง ฮั้วชิง 376 เสียง เสี่ยงซ้ำรอย 14 ตุลาฯ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

สัมภาษณ์พิเศษ

วาระใหญ่-เดิมพันการเมืองสูงสุดของประชาธิปัตย์ ตกอยู่ในมือ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อีกครั้ง

จังหวะก้าวของเขานับจากนี้ ไม่เพียงสมาชิกพรรคที่ระทึก

กระทั่งพรรคคู่แข่ง-คู่แค้น ก็คิดเกมสู้พัลวัน

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับเขาในจังหวะที่เร่งเร้าที่สุดก่อนขึ้นเวที “ดีเบต” 

เวทีที่ใครก็ยากจะต่อกรกับ “อภิสิทธิ์”

Q : การดีเบตหัวหน้าพรรค เล่นจริง เจ็บจริงแค่ไหน

เราเล่นกันจริงนะ แต่หวังว่าจะไม่เจ็บ แข่งขันกันจริงจัง ผู้สมัครทุกคนตั้งใจแข่งขันกันเต็มที่ ไม่ได้แข่งกันเล่น ๆ เพราะหลายคนเดินสายหาเสียงกันจริงจัง เหมือนกับการแข่งขันกันทางการเมืองทั่วไป

ที่บอกว่า หวังจะไม่เจ็บ คือเราคุยกันไว้ว่า อยากจะแข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์ เราอยากจะเป็นต้นแบบให้พรรคการเมืองอื่นในวันข้างหน้ามาทำอย่างนี้บ้าง แต่ถ้าเราแข่งขันกันแล้วปรากฏว่าไม่สร้างสรรค์ เกิดการกระทบกระทั่งกันเอง จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี

Q : การชิงคืนอำนาจให้กับสมาชิก เป็นการชิงลงมือหาเสียงก่อนพรรคอื่นแบบเนียน ๆ

ผมไม่ได้ห้ามพรรคอื่นทำนะ ไม่ได้มองว่าเป็นการชิงหาเสียง หัวหน้าพรรคจะต้องกลับไปหาสมาชิกเพื่อขอการสนับสนุน แสดงความชัดเจนในจุดยืน มันจะช่วยให้จุดยืนของเรามีพลัง โดยเฉพาะเมื่อมองไปถึงหลังการเลือกตั้ง อาจจำเป็นเวลาที่ต้องไปเจรจากับใครเกี่ยวกับการตั้งรัฐบาล

Q : เมื่อคนคุมกติกาลงมาเป็นผู้เล่นเสียเอง บทบาท คสช.กับ กกต.จะอิหลักอิเหลื่อในการทำหน้าที่หรือไม่

คสช.คงจะอิหลักอิเหลื่อแน่ แต่ไม่ใช่ความอิหลักอิเหลื่อของ คสช.อย่างเดียว แต่เป็นปัญหาความน่าเชื่อถือในกระบวนการการเลือกตั้ง เพราะสากลจับตาดูตลอด ว่า Free and Fair หรือไม่ คสช.ยิ่งต้องแสดงให้ชัดว่า จะไม่มีการเอารัดเอาเปรียบเพื่อไม่ให้ความเชื่อมั่นในกระบวนการถูกสั่นคลอน

กกต.ยิ่งต้องมีความชัดเจนเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นองค์กรอิสระจริง ๆ ต้องกล้าที่จะยืนหยัดความเป็นอิสระ ยืนยันอำนาจในการตัดสิน

Q : เตรียมรับมือกับการเลือกตั้งบัตรใบเดียวอย่างไร

ในอดีตที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ได้จำนวน ส.ส.น้อยกว่าสัดส่วนคะแนนเสียงที่ได้เสมอ เพราะฉะนั้นเมื่อสัดส่วน ส.ส.สะท้อนคะแนนเสียง เราก็คิดว่าเป็นธรรมกับเรามากขึ้น

Q : ประชาธิปัตย์ไม่เล่นเกมตั้งพรรคที่ 2 พรรคที่ 3 และพรรคพันธมิตร 4 พรรค

ไม่เกี่ยวกับว่าจะเล่นหรือไม่เล่น ประชาธิปัตย์เห็นว่า ควรทำการเมืองแบบโปร่งใส ตรงไปตรงมา ไม่ชอบการเมืองแบบฉ้อฉล ไม่ชอบการเมืองที่เหมือนกับไปหลอกลวงประชาชน ตรง ๆ ง่าย ๆ แบบนี้ และหวังว่าคนจะเห็นคุณค่าของการมีพรรคการเมืองที่ตรงไปตรงมา

Q : แม้จะแพ้การเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นพรรคอันดับหนึ่งก็ตาม

เราต้องการเป็นพรรคการเมืองที่มีมาตรฐานที่ชัดเจน มีประชาธิปไตยในพรรค เราก็ต้องทำเต็มที่เพื่อให้พรรคชนะการเลือกตั้ง แต่ถ้าพรรคไม่ชนะ ต้องยอมรับและมีบทบาทที่เหมาะสมในทางการเมืองต่อไป มันอาจจะทำให้เราเหนื่อยมากกว่าในการได้รับชัยชนะ แต่มันก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยู่มาได้ 72 ปี และต้องระวังเพราะกฎหมายมีอยู่ชัดว่า ห้ามการเมืองฮั้วกัน ถ้าเป็นพรรคสาขาในที่สุดก็คือ ถ้ามีการฮั้ว ผิดกฎหมาย

Q : ประชาธิปัตย์ประเมินว่าพรรคใหญ่จะเล่นเกมแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย

ใช่ครับ ที่พยายามทำกันอยู่แยกไม่ออกว่ามันแตกต่างกันอย่างไร แยกชื่อออกมาและหวังว่าจะเก็บตกคะแนนบัญชีรายชื่อเพื่อรวมกันอีก และอาจคิดไปอีกขั้นหนึ่งว่าเพื่อจะมีโอกาสไปแบ่งปันอำนาจรัฐ เพราะหากเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียวอาจจะเข้าไปไม่ได้ จึงต้องมีพรรคสาขาเข้าไป

Q : ใครจะจัดตั้งรัฐบาล ปชป.ต้องเป็นหนึ่งในนั้น ประเมินอย่างนี้เร็วไปหรือไม่

ผมไม่ได้มองอย่างนั้น ประชาธิปัตย์ต้องการเป็นหลักให้กับบ้านเมือง ผมไม่วางประชาธิปัตย์เป็นตัวแปร ผมต้องการเอาประชาธิปัตย์เป็นตัวหลัก เป็นตัวตั้ง

Q : แต่สถิติ 10 ปีที่ผ่านมาประชาธิปัตย์เป็นพรรคอันดับสองมาตลอด

เราตั้งใจจะเป็นพรรคอันดับ 1 เราก็รู้ว่าไม่ง่าย แต่ช่วงที่ผมเป็นหัวหน้าพรรคได้คะแนนเพิ่มมากที่สุด เราไม่ได้หยุดอยู่กับที่ มีนวัตกรรมมากกว่าพรรคอื่น เช่น การหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค มีคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาจำนวนมาก

Q : วางเป้าเป็นพรรคชนะอันดับ 1

เบื้องต้นเราวางเป้าหมายอย่างนั้น เราหวังที่จะชนะ ทำงานให้ชนะการเลือกตั้ง จึงไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้

Q : การนับแต้มแบบใหม่ก็มีส่วน

ใช่ พรรคของเราได้ ส.ส.สะท้อนกับคะแนนเสียงที่เราได้รับ

Q : ภาคเหนือ ภาคอีสานจะไม่เป็นจุดอ่อนอีกต่อไป

ช่วยให้คะแนนของคนเหนือและอีสานที่เคยเลือกเรา และก่อนหน้านี้คนที่ไม่ได้เลือกเราเพราะคิดว่าไม่ได้อะไร ครั้งนี้ก็จะมีความหมายมากขึ้น

Q : จะได้คะแนนที่ชนะและคะแนนที่ตกน้ำ

เราหวังไว้อย่างนั้น

Q : การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเพื่อไทยกับพวกและฝ่ายประชาธิปัตย์กับพวก พวกประชาธิปัตย์คือใคร

ทุกคนที่พร้อมที่จะเดินร่วมอุดมการณ์กับเรา

Q : พรรคทหารด้วยหรือไม่

ถ้าเขาพร้อมที่จะรับอุดมการณ์ แนวทางของเรา วันนี้ความต่างระหว่างรัฐบาลปัจจุบันกับประชาธิปัตย์มีหลายเรื่อง

Q : รัฐสวัสดิการนิยมคล้ายกับประชาธิปัตย์หรือไม่

ผมยังไม่เห็นเขาเป็นสวัสดิการนิยมแบบชัดเจน หลายอย่างทำแบบประชานิยมมากกว่า เขาพยายามผูกทุกอย่างเข้ากับสถานการณ์การเมืองบ้าง ไม่มีระบบชัดเจน ไม่เชื่อในตัวประชาชน ทำให้เศรษฐกิจไม่หมุนเวียนเท่าที่ควร

กรณีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่เกิดผลทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน มีเงื่อนไขยุ่งยาก แต่ทุกอย่างยังรวมศูนย์ ยังคิดรวบอำนาจไว้ ทำแล้วยังไม่ไว้ใจชาวบ้าน ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคน ขาดกลไกที่จะเชื่อมโยง จะทำอย่างไรไม่ให้เป็นภาระกับชาวบ้าน

Q : ท่าทีและหลักการแบบนี้หรือไม่ที่ทำให้เขาพยายามสนับสนุนหมอวรงค์ให้เป็นหัวหน้าแทนเพื่อเป็นพรรคพันธมิตรกับอีกฝ่าย

ผมก็ได้ยินข่าวมาเหมือนกัน (หัวเราะในลำคอ) ขอตอบแค่นี้ประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วย หรือกองเชียร์ใคร เป็นสถาบันที่เป็นหลักให้ประชาชนพึ่งได้ เวลามาถามว่า เราจะร่วมกันใคร ต้องดูว่าแนวทางเราเปลี่ยนหรือไม่ จะทำงานแบบประชาธิปัตย์ได้อย่างไร

Q : การปักธงว่า สมัยหน้า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯแน่ก็ไม่ Fair กับคนที่ไปโหวต

คุณเอาอะไรมาปักธงตรงนี้ ไม่มีอะไรแน่นอน ถ้าบอกว่า มี ส.ว. 250 เสียงในมือ ถ้าคิดจะตั้งรัฐบาลแบบฝืนใจประชาชน คุณก็นับถอยหลัง

Q : ต่อให้พรรคใดพรรคหนึ่งเกิน 250 ก็จัดตั้งรัฐบาลได้ยาก

ต้องตั้งโจทย์ว่า คนจะเป็นรัฐบาลและบริหารได้ราบรื่นต้องมี 250 เสียงในสภาผู้แทนฯในมือ ใครรวบรวมได้ 250 เสียงในสภาผู้แทนฯ ก็ควรมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล และ ส.ว. 250 คนต้องสนับสนุนให้เกิดเพื่อจะได้มีรัฐบาลที่เป็นที่ยอมรับ และการเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับเพราะทำได้ผลจริง

แต่ถ้าคุณบอกว่า ไม่สนใจเสียงประชาชน เอา ส.ว. 250 คน บวกให้ใครก็ตามได้ 376 เสียง และเป็นนายกฯได้ และหวังให้ทุกคนอยากเป็นรัฐบาลเข้าไป ไม่ยั่งยืน ถ้าเอาเข้าไปไม่สำเร็จยิ่งอยู่ไม่ได้ใหญ่

และสุ่มเสี่ยงพาสังคมไปสู่ความขัดแย้ง การต่อต้านรุนแรง เชื้อเชิญให้เกิดความขัดแย้ง วุ่นวาย

Q : การเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานจบลงได้หรือไม่

หนึ่ง พรรคการเมืองมีความสร้างสรรค์ในการแข่งขัน สอง ต้องไม่ลืมว่าเงื่อนไขความขัดแย้งแต่ละครั้งเคลื่อนตัวไปเรื่อย เพราะฉะนั้นจะมองมุมใดมุมหนึ่งไม่ได้

ถ้าผู้มีอำนาจในขณะนี้หวังจะมีอำนาจต่อแล้วไปทำอะไรฝืนใจคนส่วนใหญ่ จึงต้องกลัวปัญหาในรูปแบบใหม่ จะเกิดการเผชิญหน้าอย่างไร เทียบเคียงกับอดีต คือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

Q : มีสัญญาณที่จะไปสู่จุดนั้นหรือไม่

พอจะจับอารมณ์ของคนได้อยู่ว่า ขณะนี้เขายากลำบากมากเพราะการเมืองไม่ปกติ และถ้ามีใครพยายามยื้อให้การเมืองไม่ปกติต่อไป มันก็สุ่มเสี่ยงจากอารมณ์ไม่พอใจที่สะสมมาก็จะปรากฏออกมา

Q : กดดันหรือไม่ที่การเดิมพันครั้งนี้จะเป็นการเดิมพันครั้งสุดท้าย

คงไม่กดดันอะไร ผมได้รับโอกาสในอดีตมาพอสมควร วันนี้ผมก็ยังขอโอกาส อะไรที่ผมอยากทำ ผมจะเดินเต็มสูบ ประกาศไปแล้วว่า จะไม่เกรงใจใคร เพื่อต่อในสิ่งที่ผมทำไว้ เพราะเวลามันผ่านมา 27 ปีแล้ว กดดันคือการทำงานให้เร็วและสำเร็จให้ได้ เพราะเวลาไม่ได้มีมากไปกว่านี้มากนัก

Q : เป็นการเดิมพันครั้งสุดท้ายของชีวิตทางการเมืองหรือยัง

ถ้าไม่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคก็ขึ้นอยู่กับพรรค ว่าจะวางบทบาทผมอย่างไร เพราะยังไงผมก็ไม่ไปพรรคอื่นอยู่แล้ว ผมอยู่พรรคเดียวตั้งแต่เกิด