พงศ์เทพ : ไม่มีพรรคสำรอง กระต่ายขาเดียวไม่มีใครชี้นำ-ครอบงำเพื่อไทย

แฟ้มภาพ

หนึ่งใน “ข้อกังวล” ที่คนในพรรคเพื่อไทยต้องหวาดหวั่นที่สุดก่อนการเลือกตั้งมาถึงในปี 2562 คือ ปม “ยุบพรรค” เพราะมีประสบการณ์ไม่ดีกับการยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 ครั้ง 2 หน

หนึ่งคือ การยุบพรรคไทยรักไทยในปลายเดือนปี 2550 จากเหตุจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง

สองคือ พรรคพลังประชาชน นอมินีร่างแรกของไทยรักไทย โดยถูกยุบในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2551

จากเหตุที่ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ถูก กกต.ให้ใบแดงเพราะทุจริตเลือกตั้ง

ผลจาก 2 กรณี ทำให้มี กก.บห.ของไทยรักไทย และพลังประชาชน ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี รวมกัน 148 ชีวิต กระทั่งกำเนิดนอมินีไทยรักไทยร่างที่ 3 คือ “พรรคเพื่อไทย” แต่แล้วเหตุ “ยุบพรรค” ก็กลับมา “หลอน” พรรคเพื่อไทยอีกครั้ง เพราะมีถึง 3 เหตุการณ์ที่ทำให้เข้าข่ายโดนล้างไพ่ให้พ้นวงจรการเมืองเป็นครั้งที่ 3

พรรคเพื่อไทยหวาดหวั่นเรื่อง “ยุบพรรค” มากพอ ๆ กับการปรับกระบวนยุทธ์สู้ศึกเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม สร้างพรรคสำรองเตรียมตัวเพื่อย้ายพรรคในกรณีฉุกเฉิน

ยุบพรรคเพราะการเมือง

แฟ้มภาพ

” หนึ่งในแกนนำ-ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ซึ่งในอดีตเขาเป็นหัวหน้าทีมต่อสู้คดียุบพรรคไทยรักไทย วิเคราะห์ปัจจัย “ยุบพรรค” ที่เปรียบเสมือน “ภาพหลอน” ครั้งล่าสุดผ่าน “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า”การยุบพรรคตามกฎหมายจะต้องเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่น จะให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้าพรรคการเมืองรวมคิดกันจะยึดอำนาจ เช่น รัฐประหาร ควรจะต้องยุบพรรคการเมือง”

“แต่สุดท้ายเป็นเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่หยิบขึ้นมายุบพรรค เช่น มีกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) คนหนึ่งทุจริตการเลือกตั้ง กลายเป็นว่าพรรคการเมืองกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองประเทศด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีการยุบพรรคได้ ซึ่งไม่ใช่เจตนารมณ์หรือควรยุบพรรค”

“แต่พรรคการเมืองที่ไปวางแผนล้มรัฐบาลที่มาตามครรลองประชาธิปไตยมีหลักฐานอยู่ ไม่ปรากฏว่าถูกดำเนินการอะไร แต่เป็นการใช้กฎหมายเรื่องการยุบพรรคเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของคนบางกลุ่ม นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต”

3 คดีรุมล้อม-เสี่ยงถูกเตะตัดขา

“พงศ์เทพ” ฉายเงื่อนปมแห่งคดีที่ “จ่อคอหอย” พรรคเพื่อไทยอยู่ขณะนี้ว่า 1.กรณีเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมของ 40 อดีต ส.ส.เพื่อไทย จะดีไม่ดี ถูกไม่ถูก เป็นสิทธิหน้าที่ในฐานะ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าบอกว่าการเสนอกฎหมายที่ไม่ถูกใจใครแล้วจะต้องโทษทางอาญา เป็นเรื่องประหลาดมาก เพราะองค์กรที่แก้กฎหมาย ก็คือองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นเรื่องรับผิดชอบทางการเมืองของเขา แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะมาบอกว่าผิดกฎหมาย หรือกล่าวอ้างไปสู่เรื่องอื่น เรื่องนี้ไม่ได้กังวลหรือไม่กังวล แต่สังคมไทยมีการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันและเป็นปัญหา”

2.เรื่อง 8 แกนนำพรรค แถลงข่าว “4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาลและคณะ คสช. นำไปสู่ความมืดมนและอันตราย” เมื่อ 17 พ.ค.จนถูกตั้งข้อหาหนักฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 “พงศ์เทพ” เชื่อว่าไม่เข้าเงื่อนไขยุบพรรค “การที่เขาไปแถลงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล คนอื่น ๆ วิจารณ์กันมาทุกวันหรือเปล่า การที่พรรคเพื่อไทยไปแถลงข่าว มีการกล่าวหาใหญ่โตว่าจะมีความผิดต่อความมั่นคง ซึ่งเหตุผลตามที่ คสช.อ้างว่าน่าจะเกิดผลอย่างนั้นอย่างนี้ นี่ผ่านมาหลายเดือนแล้วผลที่น่าจะเกิดก็ยังไม่เกิดเลย ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดอยู่แล้ว ไม่ได้ให้มีการมาล้มรัฐบาล ไม่ได้พูดเลย”

“จะแถลงโดยนั่งคนเดียวหรือหลายคน ก็ไม่มีความคิดที่ล้มล้างรัฐบาล หรือไปแย่งอำนาจ พรรคอื่นก็ทำ แต่ที่โดนก็มีอยู่พรรคเดียว คือเพื่อไทย”

3.กรณี “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี คู่แค้นการเมือง คสช. วิดีโอคอลมายังสมาชิกพรรค โดยระบุว่า เพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งแบบหิมะถล่ม เข้าข่ายครอบงำพรรคเพื่อไทย “พงศ์เทพ” ชี้แจงปมนี้ว่า

“ถามว่ามีการชี้นำไหม เพราะที่ผ่านมา คสช.ยังห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่ พรรคการเมืองทุกพรรครวมถึงเพื่อไทย ไม่ได้ทำกิจกรรมทางการเมือง ก็ไม่มีอะไรให้ครอบงำอยู่แล้ว”

“การที่คนรู้จักกันจะไปพบกัน เยี่ยมเยียนกันเป็นเรื่องปกติ ท่านทักษิณก็เป็นคนที่เพื่อนฝูงต่าง ๆ เยอะ คนที่รู้จักอยากจะไปพบที่อยู่ในการเมืองและไม่ใช่การเมือง คนที่ไปพบจะไปชี้นำสั่งซ้ายหันขวาหันได้ ปัจจุบันนี้ถ้าคนอยากมาสั่งกันจริง ๆ ทำไมต้องทำให้เอิกเกริกอย่างนั้น มีประโยชน์อะไร”

เตะตัดขาทำสังคมแตกแยก

“พงศ์เทพ” เชื่อว่าหากวัดกันที่ “ข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย” ไม่มีอะไรน่ากังวล แต่ที่น่าห่วงคือการเลือกปฏิบัติ เพื่อ “เตะตัดขา” พรรคเพื่อไทย

“เมื่อสังคมไทยปัจจุบันเป็นสังคมที่เลือกปฏิบัติ ใช้กฎหมายไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่อยากให้การกระทำแบบนี้เกิดขึ้นต่อไป เพราะทำให้เกิดความวุ่นวายและทำให้สังคมแตกแยก”

“การใช้กฎหมายเรื่องการยุบพรรคในอดีตมีปัญหามาโดยตลอด หวังว่าการกระทำเตะตัดขาแบบเดิมควรเลิกไปได้แล้ว แต่ไม่มีใครจะไปประกันได้ว่าจะเลิกไป องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหลายควรจะตระหนักในเรื่องนี้”

เมื่อการเลือกตั้งถูกกำหนดไว้ 24 ก.พ. 2562 ทำให้ความเป็นสมาชิกต้องสังกัดพรรค 90 วันก่อนการเลือกตั้งจะตรงกับวันที่ 26 พ.ย. หากหลังจากนั้นเพื่อไทยถูกยุบพรรค อาจสิ้นสภาพทั้งพรรค

“เรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ว่าแย่ ที่แย่กว่านั้นคือการรวมหัวสมคบกันใช้กลไกทางกฎหมายบรรลุวัตถุประสงค์ที่พวกของตัวเองต้องการ ทางอาญาบอกว่าสมคบกัน ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้น”

ถาม “พงศ์เทพ” ว่า ให้น้ำหนักคำพูด  “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม มักพูดโยงถึงการยุบพรรคเพื่อไทยแค่ไหน เขาย้อนทันทีว่า “ผมไม่ได้ติดตามคำพูด พล.อ.ประวิตรมากนักหรอก ท่านพูดหลายเรื่อง รวมถึงกรณีที่ท่านถูกกล่าวหาบางเรื่อง ผมเองคงไม่ต้องมาตอบ”

พท.ไม่จัดตั้งพรรค “เพื่อธรรม” 

แต่ผลจากข่าวลือ “ยุบพรรค” ทำให้เกิดการตั้งพรรคสำรอง เพื่อธรรม-เพื่อชาติ-ไทยรักษาชาติ “พงศ์เทพ” ยืนยันว่า “พรรคเพื่อไทยไม่ได้ไปตั้งพรรคอะไหล่สำรองอยู่แล้ว พรรคเพื่อไทยดำเนินการตามปกติของพรรคการเมือง ซึ่งไม่สามารถขับเคลื่อนอะไรได้มากนัก”

กับข่าวที่ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” อดีตแกนนำของพรรคเพื่อไทย ไปเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อธรรม ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นอะไหล่ของเพื่อไทย เขาแย้งว่า

“ผมไม่ได้พบกับท่านสมพงษ์มานาน ไม่มีข้อมูลพรรคเพื่อธรรม แต่บอกได้อย่างหนึ่ง พรรคเพื่อไทยไม่ได้ไปจัดตั้งพรรคเพื่อธรรม”

แต่เมื่อถามว่า ควรจะมีพรรคสำรองเพื่อประกันความเสี่ยงหากพรรคเพื่อไทยถูกยุบหรือไม่ เขาตอบว่า “ที่ผ่านมาไม่ใช่พรรคสำรอง ประสบการณ์ที่เคยมีในส่วนของพรรคเพื่อไทย เมื่อพรรคถูกยุบก็ต้องตั้งพรรคใหม่”

ท่ามกลางกระแสข่าว “ยุบพรรค” เป็นเหตุให้พรรคเพื่อไทย “ตั้งพรรคสำรอง” แล้วด้วยระบบเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกาบัตรเลือก ส.ส.เขต แล้วเอาคะแนนเขตมาคำนวณเป็นตัวเลข ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

ซึ่งพรรคใหญ่ที่ได้ ส.ส.เขตมาก จะได้จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อยตามไปด้วย เป็นเหตุให้พรรคเพื่อไทยเดินเกมยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” ด้วยวิธีการแยกพรรคเป็นพรรคย่อย ๆ เพื่อเก็บแต้มปาร์ตี้ลิสต์ หวังได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มขึ้น

“พงศ์เทพ” คิดว่าระบบนี้เป็นระบบเลือกตั้งที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชุดมีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนขึ้นมาแล้ว คิดว่าจะเอื้อต่อพรรคใหม่ที่ตั้งขึ้น แต่ไม่ได้เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย คิดขึ้นมาเพื่อลดทอน ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ลงได้อย่างไร ไม่ได้มีเหตุผลสนับสนุนว่าจะเป็นระบบนี้

ส่วนยุทธวิธี “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” แตกพรรคเพื่อเก็บปาร์ตี้ลิสต์ ทั้งพรรคเพื่อธรรม และพรรคเพื่อชาติ ที่มี “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานรัฐสภา และ “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช. อยู่เบื้องหลัง…เขาปฏิเสธ

“พรรคเพื่อไทยไม่เคยคิดอย่างนั้น และการที่ไปแบ่งภาคกัน ถามว่าใครจัดการได้ คนที่เลือกพรรคเพื่อไทย เขาเลือกพรรคเพื่อไทยจะไปบอกเขาได้ไหมว่าเลือกพรรค ก.ไก่ เพราะไม่ใช่จะไปบอกชาวบ้านได้ว่าคนนี้เลือกพรรค ก.ไก่ คนนี้เลือกพรรค ง.งู ถามว่าใครทำแบบนั้นได้ ไม่มีหรอก…ชาวบ้านเลือกผู้แทนฯเพราะทำงานมาแล้วได้ผลดีหรือไม่ แต่ไม่ใช่เขาจะเลือก แต่บอกให้ไปเลือกคนอื่น ชาวบ้านก็ไม่เลือก ใครจะไปบอกประชาชนได้”

“ถ้าจะมีพรรคการเมืองก็ต้องไปหาเสียงของเขาเอง จะได้เสียงหรือไม่ได้เสียงอยู่กับตัวเขา ไม่ได้อยู่กับพรรคอื่น เพราะเป็นไปไม่ได้ว่าพรรคการเมืองจะโอนคะแนนเสียงกัน”