ทิ้งทวน ครม.สัญจร เหนือ-อีสาน “บิ๊กตู่” เจาะพื้นที่สีแดง 8 หน โปรย 1.2 ล้านล้าน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประชุม ครม.สัญจร" ครั้งที่ 8/2561 กลุ่มภาคเหนือตอนบน 2 ได้แก่ จ.เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน

และแล้วการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ หรือ “ครม.สัญจร” ครั้งที่ 8/2561 กลุ่มภาคเหนือตอนบน 2 ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็มาถึง…และผ่านไป

ครั้งแรกที่ “ทีมงานทำเนียบ” จัดอีเวนต์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะเดินย่ำรอยปฏิบัติการบันลือโลกช่วยชีวิต 13 ชีวิตนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี คือ ระหว่างวันที่ 17-18 กันยายน 2561 แต่สุดท้ายต้องเปลี่ยนแผนไป จ.อุบลราชธานี แทน

“เนื่องจาก จ.เชียงราย ยังมีภารกิจดำเนินการค้นหาและช่วยชีวิตเยาวชนและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 คน ออกจากถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จึงเห็นสมควรให้เปลี่ยนไปยัง จ.อุบลราชธานี แทน เพราะมีความพร้อมกว่า” กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี-แม่งานระบุ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.เชียงราย หลายครั้ง แต่ก็ถูกยกเลิก-เปลี่ยนแผนไปยังจังหวัดอื่นในท้ายที่สุด

นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า “ทีม เสธ.” บนตึกไทยคู่ฟ้า ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปประชุม ครม.สัญจรในจังหวัดที่ง่ายต่อการสร้างคะแนนนิยม-ปล่อยพลังดูดคู่ขนานไปกับการเดินเกมดูดของแกนนำกลุ่ม “สามมิตร” ก่อนจะเจาะพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ-อีสานในพื้นที่สีแดงเข้ม-ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย-ทักษิณ ชินวัตร

วันที่ 29-30 ตุลาคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์ ยกคณะแอ่วเหนือ-โปรยเม็ดเงินทิ้งทวน เพราะเป็นช่วงโค้งการเมือง-ระยะ 100 เมตรสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-คสช.

ในทางยุทธศาสตร์ นับตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประชุม ครม.สัญจร อนุมัติโครงการ-โปรยเม็ดเงินในพื้นที่ภาคเหนือ-ภาคอีสานไปแล้วทั้งหมด 8 ครั้ง จากทั้งหมด 14 ครั้ง อนุมัติงบประมาณไปแล้ว 1,208,094 ล้านบาท ได้แก่

ครั้งที่สอง 30 มิ.ย. 58 จ.เชียงใหม่ วงเงิน 87,000 ล้านบาท ครั้งที่สาม 22 ส.ค. 60 จ.นครราชสีมา วงเงิน 225,779 ล้านบาท

ครั้งที่หก 26 ธ.ค. 60 จ.สุโขทัย วงเงิน 394,619 ล้านบาท ครั้งที่เก้า 8 พ.ค. 61 จ.บุรีรัมย์ วงเงิน 20,706 ล้านบาท

ครั้งที่สิบ 12 มิ.ย. 61 จ.นครสวรรค์ วงเงิน 136,785 ล้านบาท อาทิ แผนพัฒนารถไฟทางคู่ เชื่อมแนวตะวันตก-ตะวันออกด้านบน เส้นทางนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด มูลค่าโครงการ 96,785 ล้านบาท และเขตอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (Bio Hub) 4 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 มูลค่า 40,000 ล้านบาท

ครั้งที่สิบเอ็ด 24 ก.ค. 61 จ.อุบลราชธานี วงเงิน 125,450 ล้านบาท ครั้งที่สิบสาม 18 ก.ย. 61 ควบ 2 ภาค คือ ภาคอีสาน-จ.เลย และภาคเหนือ-จ.เพชรบูรณ์ วงเงิน 14,455 ล้านบาท

ล่าสุด ครั้งที่สิบสี่ 30 ต.ค. 61 จ.เชียงราย วงเงินราว 14,455 ล้านบาท ขณะที่การประชุม ครม.สัญจร ครั้งสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน หรือธันวาคม มีแว่วมาว่าอาจจะปิดจ็อบที่ จ.หนองคาย อีกคำรบ

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังหอบ 5 บิ๊กโปรเจ็กต์ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) งบฯลงทุน 203,300 ล้านบาท ไปให้ ครม.อนุมัติ ถึงจังหวัดเชียงราย 

ประกอบด้วย 1.โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 วงเงิน 110,000 ล้านบาท 2.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) สนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 10,000 ล้านบาท

3.โครงการทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) นครปฐม-ชะอำ วงเงิน 80,000 ล้านบาท 4.โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม วงเงิน 1,000 ล้านบาท และ 5.ศูนย์เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย วงเงิน 2,300 ล้านบาท

“บัญญัติ บรรทัดฐาน” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นักการเมืองรุ่นเก๋า ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจถึงกรณีรัฐบาลลงไปพบเจอประชาชน ไม่เหมือนกับนักการเมืองลงพื้นที่อย่างไร ว่าไม่เหมือนกัน บางทีได้ไม่คุ้มเสีย เพราะลงไปรับรู้ปัญหาภายใต้การจัดการปัญหา จนนึกถึงคำพังเพยโบราณว่า ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง ถึงจะสิ้นจะเปลืองก็เป็นมงคล ทำให้เกิดความสำคัญผิดไป

“โอกาสของนักการเมืองที่สัมผัสกับประชาชนรับรู้ของจริงได้มากกว่า และประชาชนไม่ลังเลที่จะพูดกับเขา ไม่รู้สึกว่าเขาเป็นนาย ไม่รู้สึกว่าเขาเป็นช้างที่กำลังจะมาเหยียบนา ไม่รู้สึกว่าเขาจะเป็นพระยาที่กำลังจะมาเหยียบเมือง”


4 ปีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงเหยียบทั้งนา-เหยียบทั้งเมืองมาแล้ว 14 หน