4 พรรคระทึก คดีตระกูลชินวัตร แตกพรรค-ฝ่ามรสุม “ยุบเพื่อไทย”

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ “พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์” กลับมานั่งเป็น “หัวหน้าพรรค” ตัวจริง-เสียงจริง หลังจากถูก “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่เพื่อไทย ขอร้องให้มาช่วยเป็น “รักษาการหัวหน้าพรรค” ขัดตาทัพ หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจ 22 พ.ค. 2554

ขณะนี้ทัพใหญ่เพื่อไทย มีคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ 15 คน ขณะที่แกนนำคนสำคัญอย่าง “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้ง และในอนาคตอาจจะได้นั่งบัญชีนายกฯ ลำดับที่ 1 ของพรรค

การแตกหน่อพรรคสำรองออกเป็น 4 พรรค “เพื่อไทย-เพื่อธรรม-ไทยรักษาชาติ-เพื่อชาติ” เป็นอะไหล่ เผื่อเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองแบบไม่คาดฝัน จึงถูกพูดถึงมาทั้งเดือนตุลาคมว่า จะทิ้งพรรคเพื่อไทยให้เป็นพรรคร้าง แล้วย้ายไปอยู่เพื่อธรรม-ไทยรักษาชาติ

แหล่งข่าวเล่าว่า “ทักษิณ” ให้เส้นตายกับทีมยุทธศาสตร์ว่า จะย้ายไม่ย้ายภายในต้นเดือน พ.ย.นี้ พร้อมกับข่าวปล่อย “พานทองแท้ ชินวัตร” จะไปนั่งเป็นรองหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ

ความโกลาหลเพราะศึกนอกจึงยากจะบรรเทา อดีต ส.ส.ที่ทำพื้นที่มานานก็ยังไม่อยากย้ายไปพรรคใหม่ ที่คนในพรรคยังไม่รู้หัวนอนปลายเท้าที่แท้จริง ขณะที่การตัดสินใจของ “ทักษิณ” ก็ยังไม่เด็ดขาดฟันธง ส่วนแกนนำพรรคเพื่อไทยก็ไม่กล้าขยับทำอะไรมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะเกรงว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองจะถูก “ล่อเป้า” ยุบพรรค

หากพลิกประวัติศาสตร์การ “สู้คดี” ของ “ตระกูลชินวัตร” ในทางอาญา และการต่อสู้ของ “พรรคเพื่อไทย” ในทางการเมือง แทบเรียกได้ว่า “ไม่เคยชนะ”

คดีที่ พท.แพ้ในศาลรัฐธรรมนูญ

1.หลังจากพรรคพลังประชาชนถูกยุบไป และเปลี่ยนชื่อมาเป็นพรรคเพื่อไทย แล้วกลับมาชนะเลือกตั้งเมื่อ 3 ก.ค. 2554 ผ่านมาหนึ่งปี พรรคเพื่อไทยพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อ 13 ก.ค. 2555 เบรกแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยแนะนำว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติของประชาชน ถ้าจะแก้ไขต้องกลับไปทำประชามติขออนุญาตประชาชนในฐานะเจ้าของรัฐธรรมนูญก่อน

2.หนึ่งปีให้หลัง 9 ก.พ. 2556 พรรคเพื่อไทย “เปลี่ยนแผน” แก้รัฐธรรมนูญไปเป็นแก้ไขรายมาตรา โดยให้ ส.ว.ที่จะครบวาระสามารถสมัครเลือกตั้งต่อไปอีกสมัยได้ และโละ ส.ว.สรรหาที่มีอยู่เดิมทิ้งไป แต่ถูกกลุ่ม ส.ว.สายสรรหาไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลมีมติเสียงข้างมากเมื่อ 20 พ.ย. 2556 ชี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญ เคราะห์ดีที่ศาลเห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขต้อง “ยุบพรรค”

3.ศาลรัฐธรรมนูญตีตกร่างให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านบาท (ร่าง พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้าน) ขัดรัฐธรรมนูญ โดยมีมติ 6 ต่อ 2 เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2556 โดยระบุว่า เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญไปแล้ว ส่งผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไปจากสภา

4.ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2557 ให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” พ้นรักษาการนายกรัฐมนตรี จากกรณีโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” ออกจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ชนะ พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ 

มีเพียงคดีเดียวเท่านั้นที่อาจกล่าวได้ว่า พรรคเพื่อไทยสู้แล้วชนะ คือ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 เมื่อ 22 ก.พ. 2555 วินิจฉัยว่า พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 “ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ”

ผวาประวัติศาสตร์ซ้ำรอย 

จากสถิติทำให้ “พรรคเพื่อไทย” เกิดอาการ “หลอน” ว่าจะถูกศาลรัฐธรรมนูญ “ยุบพรรค” ตามรอยพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน หลังจาก “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งคณะกรรมการไต่สวนกรณี “ทักษิณ” ครอบงำพรรคเพื่อไทย ทั้งที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค รวมถึงกรณี 8 แกนนำพรรคเพื่อไทย แถลงข่าว 4 ปี โจมตีการบริหารงานของ คสช. แต่ที่ห่วงที่สุด คือ ปม “ทักษิณครอบงำพรรค”

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานทั้งจากภาพถ่าย คลิปและข่าว รวมถึงความเห็นของบุคคลต่าง ๆ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา การจะเข้าข่ายครอบงำพรรคหรือไม่ กกต.จะพิจารณาว่าพรรคนั้นขาดความเป็นอิสระในการดำเนินกิจกรรมหรือไม่ หากเข้าข่ายความผิดจะส่งผลให้พรรคการเมืองนั้นถูกยุบพรรค” พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าว

สำทับกับ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ ที่กล่าวถึงกระแสข่าวการยุบพรรคเพื่อไทยว่า “แล้วทำผิดหรือไม่ แต่เตรียมการตั้งพรรคใหม่ไว้ก็ดี”

“ทักษิณ” มีหมายจับค้าง 5 คดี

ฟากคดีความของ “ทักษิณ” ยังมีหมายจับค้างอยู่ถึง 5 คดี 1.คดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ ให้กับรัฐบาลพม่า วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมของประเทศพม่า เพื่อเอื้อประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียม ที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ และบริษัทในเครือตระกูลชินวัตร

2.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) ศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 26 ก.ย. 51 แต่นายทักษิณไม่มาศาล ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับ ล่าสุดมีการรื้อคดีอีกครั้ง หลังให้มีการพิจารณาลับหลังจำเลยได้ โดยศาลฎีกา กรณีหากไม่สามารถจับกุมได้ภายใน 3 เดือน ศาลมีอำนาจดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี โดยไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลยได้

3.คดีแปลงสัมปทานมือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 15 ต.ค. 51 และศาลได้ออกหมายจับนายทักษิณ จำเลย เนื่องจากไม่มาศาล และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้เป็นการชั่วคราว

4.คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้กว่า 9,000 ล้านบาท ให้กับกฤษดามหานคร โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกหมายจับนายทักษิณ เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2555 ต่อมาวันที่ 20 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมานี้เอง ศาลได้ออกหมายจับในคดีนี้อีกใบ เนื่องจากนายทักษิณไม่มาศาล

และคดีที่ 5 เมื่อ พ.ค. 58 ได้มีการเผยแพร่คำสัมภาษณ์ของ “ทักษิณ” จากประเทศเกาหลีใต้ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและการยึดอำนาจการปกครองของ คสช. ซึ่งกระทบถึงกองทัพบก โดยศาลอาญาออกหมายจับ “ทักษิณ” เมื่อ 12 ต.ค. 58 เนื่องจากไม่มาศาลและจำหน่ายคดีชั่วคราว

ชนะแค่คดีทีพีไอ 

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ยกฟ้อง “ทักษิณ” ไม่ผิดมาตรา 157 คดีฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ไร้พยานหลักฐานเพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิด ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต จึงพิพากษายกฟ้อง โดยถือเป็นคดีแรกที่ศาลสั่งยกฟ้องนายทักษิณ

ฟ้อง “โอ๊ค” ร่วมฟอกเงิน

ที่หลอนไปตาม “ทักษิณ” คือ “พานทองแท้ ชินวัตร” บุตรชาย ที่อัยการสั่งฟ้อง กรณีรับโอนเช็ค 10 ล้านบาท จากฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ผิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งศาลนัดสอบคำให้การจำเลยว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ ในวันที่ 5 พ.ย.นี้

ยิ่งลักษณ์เหลือ 9 คดี 

“ยิ่งลักษณ์” นายกฯผู้น้อง ต้องผจญวิบากกรรม “จำนำข้าว” ในคดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว จากการตรวจสอบของทีมทนายความ ยังมีคดีที่ ป.ป.ช.ยังไม่ชี้มูลความผิดอีกประมาณ 9 สำนวน

คดีที่ 1 “ยิ่งลักษณ์” นายกฯในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กับพวกรวม 8 คน ในข้อกล่าวหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กรณีที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ออกแถลงการณ์ พาดพิง-การก้าวก่าย-แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

คดีที่ 2 “ยิ่งลักษณ์” กับพวก รวม 2 คน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยออกคำสั่งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน

คดีที่ 3 “ยิ่งลักษณ์” ถูกกล่าวหาละเว้นไม่ลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชา กรณี รมว.มหาดไทย กับพวกปราศรัยรุนแรง-แบ่งแยกประเทศ ในกรณีที่ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย (ขณะนั้น) กับแกนนำ นปช.ได้ร่วมกัน อยู่ระหว่างคณะอนุกรรมการไต่สวนได้สรุปข้อเท็จจริง

คดีที่ 4 “ยิ่งลักษณ์” ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 ขัดต่อพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน

คดีที่ 5 “ยิ่งลักษณ์” กับพวกรวม 5 คน กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กระทำผิดขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และกฎหมาย ป.ป.ช. กรณีการดำเนินการโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน

คดีที่ 6 “ยิ่งลักษณ์” กับพวกรวม 3 คน ขอให้ตรวจสอบป้ายประชาสัมพันธ์ที่ปรากฏภาพของผู้ถูกกล่าวหา และข้อความว่า “อนาคตประเทศไทย อยู่ในมือของประชาชน โดยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย” อยู่ระหว่างสรุปข้อเท็จจริงเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณา

คดีที่ 7 “ยิ่งลักษณ์” กับพวกรวม 2 คน มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. ขัดรัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อยู่ระหว่างการพิจารณา

คดีที่ 8 “ยิ่งลักษณ์” กับพวกรวม 15 คน กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ดำเนินการโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศโดยมิชอบ อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน

คดีที่ 9 เตรียมชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์-ครม. รวม 34 คน กรณีอนุมัติการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 โดยไม่มีกฎหมายรองรับ

วิบากกรรมเครือญาติตระกูลชินวัตร ลามเพื่อไทย

หลอนทั้งตระกูลชินวัตร-หลอนทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคนอมินี