“วิษณุ” ชี้ให้ ป.ป.ช.ศึกษาขยายตำแหน่ง ขรก.ที่ต้องให้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน

“วิษณุ” ชี้ให้ ป.ป.ช.ขยายตำแหน่ง ข้าราชการต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ง่ายกว่า ต้องยื่นทุกตำแหน่ง

เมื่อเวลา 13.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวคิดที่ให้ข้าราชการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินว่า เป็นแนวคิดที่ถูกเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับไว้พิจารณา เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หาแนวทางหรือข้อคิดเห็นที่เหมาะสม เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องยาก ทั้งนี้ หากเป็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินของแต่ละหน่วยงานอาจจำเป็นต้องแก้กฎหมาย เพราะกรณีที่ยื่นซองบัญชีทรัพย์สินให้กับ ป.ป.ช. จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.ประเภทที่ต้องนำไปเปิดเผย และ 2.ประเภทที่ไม่ต้องนำไปเปิดเผยแต่จะเปิดเผยเมื่อเกิดคดีขึ้น

นายวิษณุกล่าวว่า ดังนั้น หากกำหนดให้ข้าราชการทุกตำแหน่งยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินโดยไม่แก้ไขกฎหมายอาจจะเกิดปัญหาได้ หากในอนาคตเกิดคดีขึ้นใครจะมีอำนาจเป็นผู้เปิดเผยบัญชี แม้ว่าซองบัญชีเหล่านั้นจะอยู่แต่ละหน่วยงานก็ตาม เพราะขณะนี้ใครไปเปิดถือว่ามีความผิดแม้แต่ป.ป.ช.เองยังต้องมีกฎหมายกำหนดไว้ และหากมีการให้แสดงบัญชีทรัพย์สินจริงกระทรวงที่มีข้าราชการจำนวนมากก็ไม่รู้จะนำข้อมูลไปเก็บไว้ที่ไหน หากเกิดคดีขึ้นจริง ยังไม่รู้ว่าจะต้องผิดถึงขั้นไหนถึงจะเปิดบัญชีนั้นได้ โดยยกตัวอย่างเช่น ป.ป.ช.ก่อนที่จะเปิดแสดงบัญชีทรัพย์สินได้ต้องผ่านคณะอนุกรรมการหลายคณะ

นายวิษณุกล่าวอีกว่า มองว่าอาจจะใช้วิธีการให้ ป.ป.ช. ขยายตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินให้มากขึ้นจะเหมาะสมกว่า เพราะจะขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าเป็นข้าราชการระดับใด แต่ขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องศึกษาความเป็นไปได้ก่อน ส่วนแนวทางการศึกษาจากต่างประเทศนั้น แต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกัน โดยหากศึกษาแล้วเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีหรือเป็นไปได้ก็จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายในอนาคต

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์เสนอว่าควรจะให้เอกชนยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยนั้น เป็นการเสนอในที่ประชุมอย่างกว้างๆ เท่านั้น ซึ่งจะต้องพิจารณาเฉพาะในส่วนของเอกชนที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐในการประมูลโครงการต่างๆ เพราะเอกชนไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่อะไร เว้นบางกรณีเท่านั้น ที่มีเรื่องร้องเรียนการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งจะเห็นเพียงเส้นทางเงินเข้าแต่ไม่เห็นเส้นทางเงินออก หากเราสามารถตรวจสอบเอกชนได้ก็อาจจะส่งผลให้เห็นเส้นทางเงินที่สอดคล้องกัน

 


ที่มา : มติชนออนไลน์