ที่ประชุมกมธ.การเมือง สนช. เผย ปีนี้อียูขอเข้าสังเกตการณ์เลือกตั้งเยอะเกิน

แฟ้มภาพ

วันที่ 7 พ.ย. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวภายหลังคณะกรรมมาธิการการเมืองสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอนุกรรมาธิการด้านการเมือง อนุกรรมาธิการด้านระบบการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง อนุกรรมมาธิการด้านองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มาประชุมหารือร่วมกันกับประธานกกต. กกต. และผู้บริหารของสำนักงานว่า มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นความคืบหน้า การเตรียมความพร้อมของสำนักงานกกต. ตามหน้าที่และอำนาจตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง

จำนวนและแนวโน้มของพรรคการเมืองที่จะส่งสมัครรับเลือกตั้ง ระยะเวลาสิ้นสุดการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง การดำเนินการตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เงื่อนไข และกระบวนการยุบพรรคการเมือง การแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส. ปัญหา และอุปสรรค ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรต่อหน่วยเลือกตั้ง จากเดิม 800 คน เป็น 1,000 คนต่อหน่วยเลือกตั้ง ความคืบหน้าในการพัฒนาพนักงานของกกต. ให้มีความพร้อม ในการปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวนและไต่สวน การดูแลและคุ้มครองพยาน กรอบระยะเวลาของการเลือกส.ว. ที่เลือกกันเอง และระยะเวลาของการคัดเลือกส.ว. ของ คสช.

ทั้งนี้ มีรายงานจาก กมธ.การเมือง สนช. ว่า ในการหารือประเด็นที่กมธ.การเมืองสนช. สนใจซักถามคือ เรื่องการกำหนดวันที่ 24 ก.พ. 2562 เป็นวันเลือกตั้งว่าเป็นมาอย่างไร และถ้าวันที่ 24 ก.พ. 2562 เป็นวันเลือกตั้งผู้ที่จะลงสมัครส.ส.ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอย่างช้าที่สุดคือภายในวันที่ 26 พ.ย.นี้ แต่หากว่าหลังวันดังกล่าว พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ การไปสังกัดพรรคการเมืองจะทำให้มีปัญหาในการลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ รวมถึงกกต.ได้มีการวางมาตรการป้องกันหรือรับมืออย่างไร กรณีหากเกิดการชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งเหมือนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557

ซึ่งกกต.ได้ชี้แจงว่า วันที่ 24 ก.พ. 2562 เป็นการคาดการณ์ โดยพิจารณาจากวันที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.จะมีผลบังคับใช้ เพื่อเป็นการเร่งรัดการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงาน จะได้มีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งมากที่สุดเท่านั้น แต่ที่สุดแล้ววันเลือกตั้งจะเป็นวันใดก็ขึ้นอยู่กับการประชุมตามข้อ 8 ของคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 หลังพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้

ส่วนหากมีการยุบพรรคหลังวันที่ 26 พ.ย. สมาชิกก็ต้องไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่ แต่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.ไม่ได้ เพราะถือว่าสังกัดพรรคการเมืองนั้นมายังไม่ถึง 90 วัน สำหรับการรับมือกับการชุมนุมประท้วงต่างๆ นั้น ได้ประสานงานกับหน่วยงานความมั่นคงในเรื่องการข่าว การรักษาความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว โดยจะมีการสกัดกั้นไม่ให้มีการก่อตัวชุมนุมได้ นอกจากนี้ทางกกต.ยังได้ชี้แจงถึงเรื่อง การขอเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งขององค์กรต่างประเทศว่า ทางอียูได้ขอที่จะส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามา 200-400 คน โดยขอที่จะไปสังเกตการณ์ในทุกพื้นที่ ซึ่งถือว่าจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่กกต.ยังไม่ได้การประชุมหารือกัน

 

 

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์