คสช.ขีดเส้นโรดแมปเลือกตั้งครั้งสุดท้าย ไขรหัสพิสดาร 4 ล็อก-4 กฎพลังประชารัฐ

โรดแมปการเลือกตั้งถูกมัดหัวมัดท้าย “เร็วที่สุด” วันที่ 24 ก.พ. 62 อย่าง “ช้าที่สุด” วันที่ 5 พ.ค. 62 แม่น้ำทั่วทุกสายก็จะเหือดแห้งไป เป็นช่วงรอยต่อของ “รัฐบาลใหม่”

“ล็อกต่อล็อก” คือ คำจำกัดความของ “ดร.วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี-เนติบริกร รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และ “คำขึ้นต้น” ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “ถ้า…” ระหว่างแจกแจงปฏิทินการทำงานของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และปฏิทินการเลือกตั้ง

3 ล็อกแรกโรดแมปเลือกตั้ง “ดร.วิษณุ” ฉายภาพให้เห็นแต่ละล็อกว่า การเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ. 62 หรือวันที่ 5 พ.ค. 62 จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ล็อกที่ 1 เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 หรือ “พ.ร.บ.เลือกตั้ง” เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 11 ธ.ค. 61 ภายหลังทิ้งไว้ครบ 90 วัน จะเป็นวัน “นับถอยหลัง” 150 วัน เพื่อเดินหน้าสู่โรดแมปเลือกตั้ง หรือไม่เกินวันที่ 9 พ.ค. 62

ล็อกที่ 2 หลังจากประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เขาคาดว่าจะอยู่ในระหว่างวันที่ 16-27 ธ.ค. 61 และล็อกที่ 3 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง กำหนดวันรับสมัคร ส.ส.ระบบเขต-บัญชีรายชื่อ ภายใน 5 วัน นับจากประกาศใช้ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง หรือ ม.ค. 62

3 ล็อกต่อมาให้พรรคการเมืองหาเสียงได้เป็น “ล็อกคู่ขนาน” ของพรรคการเมือง ล็อกที่ 1 เมื่อ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในเดือน ธ.ค. 61 โดยการยกร่างของ กกต. และเสนอมายัง ครม.เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ

“แม้ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลแล้วในวันที่ 11 ธ.ค. 61 เป็นเพียงการนับ 1 ของ 150 วันเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถหาเสียงได้ เพราะจะต้องให้มีการออก พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. และคาดว่าจะประกาศใช้ในเดือน ธ.ค. 61”

ล็อกที่ 2 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อกประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 และล็อกที่ 3 คสช.ปลดล็อกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งจะประกาศปลดล็อกภายหลัง พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. ประกาศให้มีการเลือกตั้ง 1 วัน หรือปลดล็อกภายในระยะเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้

ขณะที่ล็อกที่ 4 ที่ “ดร.วิษณุ” ไม่นับรวมเป็นล็อก เพราะเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่ต้องทำ คือ การออกระเบียบว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง

โดยทั้ง 4 ล็อก ถึงแม้ในทางกฎหมายจะเรียงระยะเวลาก่อน-หลังไว้ตามลำดับขั้นตอน แต่ในทางพฤตินัยได้เตรียมทุกอย่างให้ออกมาได้ในจังหวะเดียวกัน

“ทั้งหมดที่พูดมาอิงกฎหมายทั้งนั้น แต่ถ้าหากจะพูดถึงว่า อิงในเรื่องอื่น ปัจจัยอื่น หรือเรื่องความสงบเรียบร้อย เป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น คสช. หรือรัฐบาล แม้แต่ กกต.เองก็ต้องใช้ดุลพินิจในการพิจารณา เพราะฉะนั้น ความสงบเรียบร้อยเป็นปัจจัยประกอบการพิจารณาภายในของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ใช่ปัจจัยทางกฎหมาย”

ดังนั้น ปัจจัยเรื่องความสงบเรียบร้อยในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และความวุ่นวายทางการเมืองหากเกิดขึ้น จึงไม่ใช่เงื่อนไขในทางกฎหมายที่จะนำมาประกอบโรดแมปการเลือกตั้ง…นอกเหนือการควบคุม

สำหรับแม่น้ำสาย ครม. วันที่ 28 ธ.ค. 61 จะเป็นวันที่ ครม.จะเสนอกฎหมายเข้าสภาเป็นวันสุดท้าย โดย ครม.-คสช.ที่จะเป็น “แม่น้ำสายสุดท้าย” ที่ต้องเหือดแห้งไปตามไทม์ไลน์ คือ ในเดือน มิ.ย. 62

“ในวันที่ ครม.ใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ ครม.เก่าและ คสช.เป็นอันสิ้นสุดลง แต่รัฐบาลใหม่ก็ยังทำงานไม่ได้ เพราะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อน ภายใน 15 วัน หลังถวายสัตย์ปฏิญาณ”

ทว่าระหว่างทาง 4 รัฐมนตรีในแม่น้ำสาย ครม.ที่มีชื่อ-เสียงอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้แก่ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม-หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์-เลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี-รองหัวหน้าพรรค และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี-โฆษกพรรค

“ดร.วิษณุ” ได้เตือน-วางมาตรฐาน 4 รัฐมนตรี ไว้ 4 เรื่อง ไม่ให้เอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองต้นสังกัด ได้แก่ 1.การใช้เวลาราชการ 2.ทรัพย์สินทางราชการ 3.บุคลากรของราชการ และ 4.สถานที่ราชการ

“ในแง่กฎหมายไม่มีอะไรที่สุ่มเสี่ยงจะเสียหายหรือโมฆะ แต่ในแง่มารยาทต้องระมัดระวัง อย่างน้อยเรื่องของกระทรวงท่านที่เสนอเข้า ครม.เกี่ยวกับงบประมาณ ไม่ควรจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาลงมติเรื่องนั้น เพื่อไม่ให้นำไปสู่การตีความ”

ขณะที่ความชัดเจนทางการเมืองของ “พล.อ.ประยุทธ์” เดือน ม.ค. 62 ที่จะเป็นวันสมัคร ส.ส. จะเป็น “เดดไลน์” ที่จะตัดสินใจว่าจะอยู่ในบัญชีนายกฯของพรรคการเมือง หรือรอให้พรรคการเมือง-ส.ว. 250 คน เชิญเป็น “นายกฯคนนอก”

“ถ้าเสนอชื่อท่าน พล.อ.ประยุทธ์ ท่านเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ท่านก็ต้องระวังตัวในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ คือ หนึ่ง วางตัวเป็นกลาง สอง ไม่ใช้อำนาจ ตำแหน่ง หน้าที่ ให้คุณ ให้โทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด เป็นมาตรฐานปกติ ส่วนจะพิเศษ พิสดารไปกว่านั้น ไม่มี”

ขณะที่แม่น้ำสายสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะสิ้นสุดลง 1 วันก่อนเปิดสภา หรือภายในวันที่ 8 พ.ค. 62 ส่วนแม่น้ำอีก 2 สายที่เหือดแห้งไปแล้ว คือ แม่น้ำสภาปฏิรูปประเทศ (สปช.) และแม่น้ำสายสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

โดยเฉพาะแม่น้ำสาย สปช.-สปท. รวมถึงกิ่งก้านของแม่น้ำสาย คสช.บางส่วน จะไปรวมเป็น “แม่น้ำสายเดียวกัน” เป็น “แม่น้ำสายใหม่” คือ วุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา 250 คน โดยหัวหน้า คสช. ราวปลายเดือน เม.ย. 62 เช่นเดียวกัน