กกต.ผวาระบบสมาชิกพรรคล่ม เดดล็อกพรรคเล็ก-อ้างเลื่อนเลือกตั้ง…อีกครั้ง

ไทม์ไลน์เลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 ควบคู่กับการมีรัฐบาลใหม่ มิ.ย. 2562 เป็นปฏิทินที่กลั่นมาจากวาจา “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา อาจมิใช่คำตอบสุดท้าย

เพราะการให้สัมภาษณ์กับสื่อครั้งใหม่ของ “วิษณุ” กลับมีเงื่อนไขใหม่งอกขึ้นมาคือ กรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หารือร่วมกับพรรคการเมือง+คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วผลออกมาว่า เสียงข้างมากในที่ประชุมขอให้มีการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป จะเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่ใช่วันที่ 24 ก.พ. 2562 หรือไม่

คำตอบของ “วิษณุ” มีว่า….. “ผมไม่ทราบ เนื่องจากคนกำหนดวันเลือกตั้งคือ กกต. เมื่อ กกต.ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากพรรคการเมืองแล้วก็ต้องคิดเอง”

“เพราะหาก กกต.ไม่พร้อมจัดการเลือกตั้งก็ยังสามารถเลื่อนวันออกไปได้ แต่เมื่อวันนี้ กกต.บอกว่า พร้อม แต่หากคนอื่นบอกว่า ไม่พร้อม ก็ต้องไปพิจารณา ไม่ใช่เรื่องของ คสช.”

พลิกคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ข้อ 8 ใจความสำคัญมีว่า “ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมาย ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง และร่วมกันจัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยให้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และจะเชิญผู้แทนพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เข้าหารือด้วยก็ได้”

เท่ากับว่า ในวงประชุมตามข้อ 8 จะมี 4 องค์กรประชุมกัน 1.พรรคการเมือง 2.ผู้แทน คสช.+ผู้แทนคณะรัฐมนตรี 3.กกต. 4.สนช. (ไม่นับรวม กรธ.ที่ยุติบทบาทไปแล้ว) มาร่วมจัดทำแผนและไทม์ไลน์เลือกตั้งอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้น หมุดการเลือกตั้งที่ปักไว้ 24 ก.พ. 2562 จึงยังไม่ใช่หมุดที่แน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นแค่ผลการคาดการณ์

เพราะเมื่อถึงวันประชุมระหว่าง คสช.-กกต.-สนช. กับพรรคการเมือง จะมีพรรคการเมืองเป็นผู้ชงเลื่อน วัน ว. เวลา น. เลือกตั้ง ส่วน คสช.จะเป็นผู้ชี้ขาดเลื่อน-ไม่เลื่อนวันเลือกตั้ง

ตามการวิเคราะห์คำสั่ง คสช. 53/2560 ข้อ 8 ของ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต. ทิ้งทวนความเห็นก่อนโดนคำสั่ง ม.44 ปลดกลางอากาศว่า การประชุมตามข้อ 8 ทุกพรรคที่มาหารือเรื่องการเลือกตั้งจะมีพรรคละ 1 เสียงเท่ากัน ไม่ว่าพรรคเล็ก หรือพรรคใหญ่ ดังนั้น แม้ว่าพรรคใหญ่จะพร้อม แต่ถ้าพรรคเล็กไม่พร้อม และขอให้เลื่อนเลือกตั้ง เมื่อพรรคเล็กมีมากกว่า โอกาสที่พรรคเล็กจะ “กำ” เสียงข้างมาก ขอให้เลื่อนวันเลือกตั้ง มีแนวโน้มที่เป็นไปได้

นั่นจึงทำให้บรรยากาศใน กกต. ในฐานะที่เป็นฝ่ายปฏิบัติ-จัดการเลือกตั้ง ยังไม่กล้าประเมินแบบฟันธงว่า การเลือกตั้งจะใช่วันที่ 24 ก.พ.หรือไม่

เพราะขณะนี้ มีพรรคการเมืองที่ดำเนินการอยู่ทั้งสิ้น 83 พรรคการเมือง (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค.) แต่พรรคใหญ่-พรรคตัวแปร มีแค่ 5-6 พรรคเท่านั้น ในเวทีการประชุมกับ คสช. พรรคเล็กจึงเสียงดังกว่าพรรคใหญ่

ปัจจัยความไม่พร้อม-เงื่อนไขใหม่ ที่จะทำให้การเลือกตั้งมีสิทธิ์ขยับออกไป คือ “การหาสมาชิกพรรค”

เพราะการจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ จะต้องมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อย 4 ภาค องค์ประกอบของการตั้งสาขาพรรค คือ จะต้องมีสมาชิกพรรค 500 คนต่อ 1 สาขา รวม 4 ภาค คือ 2 พันคน

และถ้าคิดจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด จะต้องมีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ที่มีองค์ประกอบ คือ สมาชิกพรรค ที่มีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งนั้น ตั้งแต่ 101 คน

ขึ้นไป เพื่อ “ให้ความเห็น” ตามรัฐธรรมนูญกำหนด ในการส่งผู้สมัคร จึงจะสามารถส่งผู้สมัครได้

“แสวง บุญมี” รองเลขาธิการ กกต. ผู้รับผิดชอบงานด้านพรรคการเมือง อธิบายว่า ถ้าจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง จะต้องมีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด โดยเป็นสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งจังหวัดละไม่น้อยกว่า 101 คนขึ้นไป จะสามารถให้ความเห็นในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตเลือกตั้งของจังหวัดนั้น ๆ

“ถ้าพรรคจะส่งผู้สมัคร 350 เขต ต้องหาสมาชิกพรรคที่มีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งจังหวัดตั้งแต่ 101 คน เพื่อตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดใน 77 จังหวัด รวมแล้วก็ควรมีสมาชิกเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 8,000 คน”

“นอกจากนี้ พรรคการเมืองควรหาสมาชิกเผื่อไว้ให้มาก เพราะทุกพรรคเวลานี้มีการแข่งกันหาสมาชิก อาจเกิดปัญหาการเป็นสมาชิกซ้ำซ้อน ถ้าตรวจสอบพบก็จะทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่สมาชิกพรรคได้”

เป็นคำตอบของเงื่อนไขใหม่ที่ “งอกขึ้นมา” แม้แต่พรรคเพื่อไทย ซึ่งถือเป็นพรรคใหญ่ ยังมีปัญหาเรื่องสมาชิกพรรคที่มีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งไม่พบ เวลานี้จึงต้องทุ่มให้คนไปสมัครสมาชิกให้มากที่สุดในทุกเขตเลือกตั้ง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุแพ้ฟาวล์

ในคราวที่ กกต.ถกพรรคการเมืองเมื่อ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา มีพรรคเล็กพรรคหนึ่งลุกขึ้นกลางห้องประชุม ขอซาวเสียงจากเพื่อนพรรคเล็กให้เลื่อนเลือกตั้งออกไป จากวันที่ 24 ก.พ. 2562 เพราะเตรียมตัวไม่ทัน ขอขยับเป็นวันที่ 9 พ.ค. 2562 โดยมีพรรคเล็กอื่น ๆ ร่วมยกมือท่วมท้น แต่ กกต.ขอให้ไป “ยกมือใหม่” ในวันที่ประชุมร่วมกับ คสช.


ไทม์ไลน์เลือกตั้งจึงยังไม่จบที่วาจาของ “วิษณุ” แต่จะไปชัดเจนในวันที่พรรคการเมือง หารือร่วมกับ คสช.ต่างหาก