ไอติม-พริษฐ์ กรีดเลือดประชาธิปัตย์ เสรีประชาธิปไตยใหม่-แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ประชาธิปัตย์ยุคใหม่อุบัติขึ้นในจังหวะ-เวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หลงทาง-หาทางออกเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งสีเสื้อ ตลอด 1 ทศวรรษบนความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง 2 ครั้ง บอยคอตเลือกตั้ง 2 ครั้ง

“ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” แกนนำคนรุ่นใหม่ ปชป. หรือ “New Dem” ก้าวนอกกรอบกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงชุดความคิดของ “ประชาธิปัตย์ยุคใหม่” และ hot issues การยกเลิกการ “เกณฑ์ทหาร” ก้าวแรกของการ “ปฏิรูปกองทัพ” และวาระร้อนรับ-ไม่รับ “นายกฯคนนอก” และการลดอำนาจ “สภาสูง”

เลิกเกณฑ์ทหารเป็นสมัครใจ

ไม่ทันพ้นเขตพื้นที่ทหาร “ไอติม” อดีตพลทหารปลดประจำการมณฑลทหารบกที่ 11 ออกมา “ทิ้งบอมบ์” กองทัพทันที

“ผมไม่อยากให้มองว่าไปทิ้งบอมบ์ แต่เป็นการหาทางออกซึ่งดีกับกองทัพเอง คิดว่าในกองทัพมีความคิดหลากหลาย ถ้าฟังจากคำพูดท่านอดีต ผบ.ทบ. (พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท) ท่านเคยพูดเรื่องนี้ว่า กองทัพควรพิจารณาเรื่องระบบการเกณฑ์ทหาร ในฐานะที่กองทัพเป็นเจ้าของระบบ”

เขาใช้เวลา 6 เดือนในค่ายทหารทำงานวิจัย-เก็บข้อมูลเพื่อหาแนวทางปฏิบัติ (ได้จริง) โดยการเปลี่ยนจากระบบ “เกณฑ์ทหาร” เป็นระบบ “สมัครใจ” แทน

ปัญหามี 3 เรื่อง หนึ่ง ขั้นตอนการคัดเลือก สอง ปัญหาการฝึกและปัญหาความรุนแรงในค่ายทหาร กลายเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสาม ขาดรายได้ ครอบครัวแตกแยก

“เรามักพูดเสมอว่า ชายไทยทุกคนต้องเกณฑ์ทหาร แต่ในเชิงปฏิบัติ คนที่เรียน ร.ด.ไม่ต้อง คนที่ไม่ได้เรียน ร.ด.ต้องมารับภาระ แต่ส่วนมากคนที่ไม่ได้เรียน ร.ด. เป็นคนที่ไม่มีโอกาสศึกษาสูง (มัธยมปลาย) ฉะนั้น ระบบการคัดเลือกจึงสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคม และมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะบางครั้งคนที่ได้ใบดำอาจจะไม่ได้เพราะโชค และ 2 ปีในการรับราชการทหาร หลายคนถูกดึงออกจากตลาดแรงงาน ทำให้รายได้น้อยลง ทำให้ครอบครัวแตกแยก”

ลดกำลังพล (ทหาร) 4 หมื่นคน

ส่วนแนวทางปฏิบัติที่สามารถทำได้จริงบนพื้นฐานไม่ตั้งกองทัพเป็นศัตรู หนึ่ง ต้องตอบโจทย์เรื่องตัวเลขความต้องการกำลังพลของกองทัพที่เพียงพอ-จำเป็นต่อความมั่นคง สอง การนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพองค์กร สาม ภัยคุกคามในอนาคตเปลี่ยน ไม่ต้องต่อสู้กันในสนามรบ

“ตัวเลขสำคัญมี 2 ตัว ตัวแรก คือ ยอดกำลังพลที่กองทัพต้องการ ปีที่ผ่านมา 1 แสนคนต่อปี หลักการ คือ จะได้ยอด 1 แสนคนต่อปีตามที่ต้องการ และมีมาตรการให้คนมาสมัครได้ครบตามยอดที่ต้องการ”

“ยอดกำลังพลจะลดลงได้เหลือ 6-7 หมื่นคน ได้แก่ หนึ่ง ไม่มีพลทหารรับใช้ เพราะไม่จำเป็นต่อความมั่นคง สอง ลดไขมันขององค์กร เพราะในโลกสมัยใหม่ความจำเป็นการใช้กำลังพลน้อยลง”

กำจัดบทบาทกองทัพเหลือศูนย์

“ในฐานะเป็นนักประชาธิปไตย ผมอยากกำจัดบทบาทของกองทัพในการเมืองให้เหลือศูนย์ แต่เรื่องระบบการเกณฑ์ทหารไม่อยากให้โยงเกี่ยวกับการเมือง อยากให้เป็นเรื่องที่ทำร่วมกับกองทัพ เพราะถ้ากองทัพไม่รับข้อเสนอนี้จะทำได้ลำบาก”

สำหรับมาตรการเพิ่มกำลังพล มี 4 มาตรการ หนึ่ง เพิ่มรายได้ (1.2-1.5 หมื่นบาท) และความมั่นคงทางรายได้ สอง สวัสดิการ เช่น การศึกษา เบี้ยยังชีพสำหรับบุตร การรักษาพยาบาลครอบคลุมครอบครัว สาม กำจัดความรุนแรงในค่ายทหาร เช่น การใช้โทรศัพท์ในกองร้อยฝึกได้ การตั้งประชาชนเป็นหน่วยงานผู้ตรวจการกองทัพภาคพลเรือน สังเกตการณ์การฝึก เพิ่มช่องทางร้องเรียน และสี่ ความก้าวหน้าทางอาชีพ พลทหารสามารถไต่เต้า ก้าวหน้าในอาชีพได้ไม่ช้ามากกว่าคนที่จบโรงเรียนนายร้อย

“ทุกฝ่ายได้ ทหารสมัครใจ ประเทศไม่เสียความมั่นคง กองทัพมั่นคง ประชาชนมีทางเลือก เป็นอิสรภาพ มั่นใจกองทัพมากขึ้น เปลี่ยนเป็นกองทัพยุคใหม่ จิ๋วแต่แจ๋ว”

เพิ่มอำนาจพลเรือน

เขามองไกลไปถึงการ “ปฏิรูปกองทัพ” เพื่อให้กองทัพปฏิบัติหน้าที่ได้ตามทิศทางของ “รัฐบาลพลเรือน”

ในอดีตกองทัพสวม 2 บทบาท หนึ่ง บทบาททางการเมือง ควรขจัดให้หายไป ทหารไม่ควรแทรกแซงทางการเมือง ไม่เกิดการรัฐประหาร สอง บทบาทในการรักษาความมั่นคง หรือบทบาทที่กองทัพควรจะทำ เช่น การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การเพิ่มความโปร่งใสการใช้งบประมาณ เช่น การใช้สัญญาคุณธรรม (integrity pact) ในการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ การเพิ่มบทบาทอำนาจพลเรือน ลดการผูกมัดกับมติสภากลาโหม กองทัพปฏิบัติหน้าที่สอดคล้องกับทิศทางพลเรือน

ทว่าโลกอาจไม่สวยอย่างที่เขาคิด เพราะการไปแตะต้องกองทัพของรัฐบาลพลเรือน เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งสำคัญในกองทัพ มักจบลงด้วยการรัฐประหาร

“หวังว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น ต้องหาวิธีการให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน อยากเห็นทหารร่วมมือปฏิรูปกองทัพ”

ชุดความคิดของประชาธิปัตย์ยุคใหม่หลังการเลือกตั้ง เขาอยากเห็น “เสรีนิยมประชาธิปไตย” ที่เปรียบเสมือนเป็นเก้าอี้ 4 ขา ขาที่ 1 การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม-เคารพเสียงข้างมาก ขาที่ 2 สิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคน ขาที่ 3 กระจายอำนาจอย่างทั่วถึง และขาที่ 4 การถ่วงดุลอำนาจ โดยประชาชนเป็นผู้นำ

แก้ที่มา-ลดอำนาจ ส.ว.

“พื้นฐานเสรีนิยมประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ คือ มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ไม่รับและแก้ไขรัฐธรรมนูญปี”60 ทั้งฉบับเต็มและบทเฉพาะกาล เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น การให้อำนาจของวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา 250 คน เลือกนายกฯ ไว้ในบทเฉพาะกาล เรื่องที่ไม่เป็นประชาธิปไตยสูง คือ อำนาจและที่มาของ ส.ว.”

“หลักการสภาสูง อำนาจวุฒิสภาต้องสอดคล้องกับที่มาและความเป็นประชาธิปไตย เช่น กระบวนการคัดเลือก โมเดลของอังกฤษ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง แต่อำนาจน้อยมาก ทำได้มากที่สุด คือ delay กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ ส.ส.แล้ว ให้บังคับใช้ช้า 1 ปี ไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งองค์กรอิสระ อเมริกามีการเลือกตั้ง ส.ว. อำนาจจึงสูงขึ้นเพื่อถ่วงดุลอำนาจ ส.ส.”

“ส.ว.มีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระอยู่เยอะ ไม่นับรวมบทเฉพาะกาลที่ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯได้ด้วย ฉะนั้น ที่มาของ ส.ว.ในการแต่งตั้งจึงไม่สอดคล้องและไม่สมดุลระหว่างอำนาจของ ส.ว.ที่มี กับที่มาที่ไม่สะท้อนประชาชน”

เขามองว่า สภาสูงในการเมืองไทย ถ้ามีอำนาจมากเหมือนรัฐธรรมนูญปี”60 ควรมีที่มาจากการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งต้องไม่เหมือนกับระบบการเลือกตั้ง ส.ส.

“ถ้าจะให้ ส.ว.มีอำนาจมากเท่ารัฐธรรมนูญปี”60 ให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. โดยอิงกับกลุ่มสังคม หรือกลุ่มอาชีพ เปิดกว้างให้ประชาชนเลือก ไม่ใช่เลือกกันเองแบบรัฐธรรมนูญปี”60”

บรรทัดสุดท้ายของเกมการเมืองในสภา นักการเมืองต้องต่อรอง-เลือกที่จะจับมือกับพรรคอื่นเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย หรือพรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

เขาถอดแบบคำพูด “น้าชาย-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค มาเป๊ะ ๆ ว่า ต้องเอานโยบายเป็นตัวตั้ง และแทนที่จะถามว่า เราจะร่วมกับเขาไหม ทำไมไม่ถามว่า เขาจะไม่มาร่วมกับเรา-มาร่วมกับเราได้ไหม เพราะเป้าหมายที่ตั้งไว้ ประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคหลัก เป็นพรรคเสียงข้างมาก

ไม่รับนายกฯคนนอก

ส่วน “จุดยืน” เรื่อง “นายกฯคนนอก” ของคนรุ่นใหม่-ไอติม ยืนปักหลักหนักแน่นในหลักการและรับไม่ได้กับนายกฯคนนอก เพราะไม่แฟร์กับประชาชน

“ประชาชนในวันที่ไปลงคะแนนเสียงในคูหา ควรจะได้รู้ถึงตัวตนของคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตอนนี้เวลาคนพูดถึงนายกฯคนนอก คนก็จะนึกถึงหน้าคนคนเดียว (พล.อ.ประยุทธ์) แต่ผมไม่แน่ใจว่า คนนั้นจะเป็นนายกฯคนนอกเพียงคนเดียว และคนคนนั้นผมไม่เชื่อว่าจะเป็นนายกฯคนนอก”

“ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะเข้ามาทำงานการเมืองขอให้ชัดเจน สังกัดพรรคการเมือง เป็นนายกฯในบัญชีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ยินดี แต่อย่าใช้อำนาจในการเป็นรัฐบาลทำให้ได้เปรียบพรรคการเมืองอื่น”

“ผมยังมีข้อสงสัยว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเสรีและเป็นธรรมหรือไม่ เพราะเจตนารมณ์ดั้งเดิมของรัฐธรรมนูญฉบับปี”60 ถูกเขียนไว้ให้รัฐบาลชุดนี้เป็นกรรมการ แต่เมื่อมาเป็นผู้เล่นเองก็เป็นการขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ”

ถามหาสปิริตรัฐบาล-คสช.

“หวังว่าเขาจะมีสปิริต หรือมีจิตวิญญาณนักประชาธิปไตยที่จะมองเห็นความจำเป็น ความเหมาะสมในการจะลาออกจากตำแหน่ง และคาดหวังว่า ส.ว. 250 คน ควรทำหน้าที่ไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชน ถ้า ส.ส.รวบรวมเสียงได้เกิน 250 คน ได้เป็นเสียงข้างมาก”

รัฐธรรมนูญฉบับปี”60 เขียนไว้ให้คณะรัฐมนตรีที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องลาออกภายใน 90 วันภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เพื่อให้รัฐบาลเป็นกรรมการ ไม่ลงมาเป็นผู้เล่น แต่รัฐบาล-คสช.หาช่องไม่ลงรับสมัคร ส.ส. แต่เป็นหัวหน้าพรรคแทน

“ประเด็นนี้ก็ย้อนไปเรื่องนายกฯคนนอก เพราะเราจะมองว่า นายกฯคนนอก คือ ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อ 3 คน ของพรรคการเมือง แต่มองได้อีกมิติหนึ่ง คือ คุณเป็นนายกฯได้ โดยไม่ต้องเป็น ส.ส. ซึ่งระบบรัฐสภาประเทศอื่นไม่เป็น เช่น อังกฤษ คุณจะเป็นนายกฯได้ต้องเป็น ส.ส.ในสภา ผมจึงไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเต็มและบทเฉพาะกาล”