“กรกฎ 52” สนธิทหาร-ตำรวจ ระดม 48 ยุทโธปกรณ์ ต้านแนวร่วม “ปู”

25 ส.ค. 2560 เป็นวันชี้ชะตาชีวิต-การเมือง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี อันเนื่องมาจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะนัดฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าว ย่อมคะเนทางการข่าวได้ว่า จะมีมิตรรักแฟนคลับของอดีตนายกฯหญิง แห่มาให้กำลังใจเกินพันชีวิตทำให้หน่วยความมั่นคงทุกหน่วยงาน ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ต้องวางแผนรับมือ-รัดกุมเป็นพิเศษ

หนึ่งในนั้นคือแผน “กรกฎ 52” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ปรับปรุงมาจากแผน “กรกฎ 48” ที่เคยใช้รับมือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในเหตุการณ์ 7 ตุลา 2551 แต่ยังมีช่องโหว่จนทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก

ก่อนจะมาเป็นแผน “กรกฎ 52” ซึ่งเคยกับศึกม็อบใหญ่ ๆ มาแล้วสารพัดสีเช่น ม็อบเสื้อแดงล้อมกรุงเทพฯ ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี 2553 ม็อบแช่แข็งประเทศของ “เสธ.อ้าย” พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ในปี 2555

ใช้รับมือม็อบ กปปส.ของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รวมถึงวันที่ศาลฎีกาตัดสินคดีกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อ 2 ส.ค.2560 ก็ใช้แผนกรกฎ 52 ด้วยเช่นกัน โดยแผน “กรกฎ 52” แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน

1-ขั้นเตรียมการ (ก่อนเกิดเหตุ) ดำเนินการด้านการข่าว ตั้งหน่วยเฉพาะกิจ

เพื่อปฏิบัติ และสนับสนุนตามแผน เตรียมสถานที่ควบคุม เตรียมแผนปฏิบัติการจิตวิทยาต่อประชาชน ตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า (ศปก.สน.) ในพื้นที่ เพื่อควบคุมสั่งการบัญชาสถานการณ์

2-การเผชิญเหตุ (ขณะเกิดเหตุ) แยกพื้นที่เกิดเหตุออกจากพื้นที่ทั่วไป ใช้การเจรจาต่อรองจากเบาไปหาหนัก พร้อมรวบรวมข้อมูลแกนนำ ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อหลักฐานในการดำเนินคดีอาญา

3-ใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์ให้เป็นตามกฎการใช้กำลัง 10 ขั้น 1.การแสดงกำลังของตำรวจ 2.การใช้คำสั่งเตือน 3.การใช้มือเปล่าจับกุม 4.การใช้มือเปล่าจับล็อกบังคับ 5.การใช้เครื่องพันธนาการ ปืนยิงตาข่าย 6.การใช้คลื่นเสียง 7.การใช้น้ำฉีด 8.อุปกรณ์เคมี เช่น แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย 9.กระบองหรืออุปกรณ์ที่ใช้ตี และ 10.อาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น กระสุนยาง และอุปกรณ์ชอร์ตไฟฟ้า

หากยังไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ ให้เสนอ สตช.เสนอรัฐบาล ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือพิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะพื้นที่ หรือประกาศกฎอัยการศึก ให้ทหารจะเป็นผู้รับผิดชอบสั่งการ

4-การฟื้นฟู (หลังเกิดเหตุ) หน่วยงานดำเนินการสอบสวนดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด ขณะเดียวกัน เมื่อ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะที่ตำรวจสามารถเลือกใช้ได้ 48 ชิ้น อาทิ หมวกปราบจลาจล หรือหมวกกันกระสุนพร้อมกระบังหน้า-กระบองยาง หรืออุปกรณ์ใช้ตี (baton)-กุญแจมือ-แก๊สน้ำตาชนิดสเปรย์ สกัดจากพืชธรรมชาติ-อุปกรณ์ส่งคลื่นเสียงรบกวนพิเศษระยะไกลชนิดพกพา

เครื่องยิงแก๊สน้ำตาชนิดใช้แล้วทิ้ง-เครื่องฉีดแก๊สแบบสะพาย-ชุดปืนยิงแก๊สน้ำตาพร้อมอุปกรณ์-แก๊สน้ำตาชนิดเผาไหม้-แก๊สน้ำตาสำหรับผสมน้ำ-ลูกขว้างแบบควัน-ลูกขว้างแบบแสง, เสียง-ลูกขว้างแก๊สน้ำตา ชนิด OC20 ลูกขว้างแก๊สน้ำตา ชนิด CS เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และสีผสมน้ำ-อาวุธปืนลูกซองสําหรับยิงกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตา-อุปกรณ์ชอร์ตไฟฟ้า (taser)-ปืนยิงตาข่าย-รถฉีดน้ำแรงดันสูงหรือรถดับเพลิง-เครื่องกีดขวางการผ่านของรถ-ลวดหีบเพลงแถบหนาม-รถควบคุมฝูงชน (riot truck) รถบรรทุกน้ำ

อีกทั้งยังมีเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้กำราบม็อบได้ เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ในกรณีเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี

ยิ่งศาลฎีกาพิพากษาคดีสลายกลุ่มพันธมิตรที่ตำรวจใช้แผน กรกฎ 48 ไม่มีความผิดด้วยแล้ว หากเกิดกรณีไม่คาดคิดในวันตัดสินคดี “ยิ่งลักษณ์”

แผน กรกฎ 52 ยุทโธปกรณ์ตำรวจอีก 48 ชิ้น อาจถูกนำมาใช้เต็มรูปแบบ