ศาลเลื่อนตรวจหลักฐานคดี “วีระกานต์”-พวกไป 27 พ.ค.62

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ห้องพิจารณา 908 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำ อ.968/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลย กรณีกลุ่ม นปช.จัดการชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครั้งแรกเมื่อปี 2552 ในความผิดฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ห้ามชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 3 ข้อหาซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ

คำฟ้องอัยการระบุพฤติการณ์สรุปว่า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ก็ได้มีการจัดตั้งกลุ่ม นปช.ขึ้นมา โดยมีนายวีระกานต์ จำเลยที่ 1 เป็นประธาน ซึ่งจำเลยกับพวกที่เป็นแกนนำก็ได้นัดรวมตัวเพื่อเคลื่อนไหวกันตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. 2552 เรื่อยมา กระทั่งวันที่ 26 มี.ค. 2552 กลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ได้ปิดทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาลเพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเมื่อสถานการณ์ชุมนุมเริ่มรุนแรงขึ้นก็มีผู้ชุมนุมบางส่วนเคลื่อนขบวนไปยังบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี (บ้านพักสี่เสาเทเวศร์) เพื่อกดดันให้ พล.อ.เปรม, พล.อ.สุรยุทธ์ จุฬานนท์ และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ลาออกจากตำแหน่งองคมนตรีด้วย ระหว่างนั้นก็ยังกดดันให้นายอภิสิทธิ์และนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ลาออกจากตำแหน่งเช่นกัน กระทั่งวันที่ 9 เม.ย. 2552 ซึ่งผู้ชุมนุมได้ประกาศกำหนดเส้นตายให้บุคคลดังกล่าวลาออกจากตำแหน่งแล้ว แต่รัฐบาลขณะนั้นไม่มีท่าทีจะปฏิบัติตาม แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้กระจายกำลังไปปิดล้อมสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่งใน กทม.รวมทั้งการปิดกั้นจราจรในพื้นที่ต่างๆ ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศไว้

จากนั้นเมื่อพบว่าสถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมของ นปช.ทวีความรุนแรง นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นจึงได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐมากขึ้น และได้มีการออกข้อกำหนดห้ามไม่ให้มั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในท้องที่ กทม. แต่ภายหลังการออกประกาศและข้อกำหนดแล้วจนถึงวันที่ 14 เม.ย. 2552 กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงชุมนุมและปราศรัยปลุกระดมยุยง ณ เวทีบริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ข้างทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ, ยึดและเผารถโดยสารประจำทางในพื้นที่ กทม. และนำรถบรรทุกแก๊สไปจอดไว้กลางถนนเพื่อข่มขู่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และประชาชนเดือดร้อนเสียหาย โดยกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เหตุเกิดที่แขวง-เขตดุสิต, แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี, แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร และแขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม. ท้ายฟ้องอัยการยังได้ขอให้ศาลนับโทษของนายวีระกานต์, นายจตุพร, นายณัฐวุฒิ, นพ.เหวง และนายวิภูแถลง ในคดีนี้ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่ถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันก่อการร้ายด้วย โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิ แจ้งข้อกล่าวหา และทำการสอบสวนจำเลยทั้งสิบตั้งแต่เดือน เม.ย. 2552-18 มิ.ย. 2552

โดยวันนี้นายวีระกานต์ จำเลยที่ 1 กับพวก พร้อมด้วย นายอดิศร เพียงเกษ จำเลยในคดี อ.1262/2561, นายพีระ พริ้งกลาง จำเลยในคดี อ.2499/2561, นายเมธี อมรวุฒิกุล จำเลยในคดี อ.2179/2561 และทนายความเดินทางมาศาล

เมื่อถึงเวลานัด อัยการโจทก์ยื่นส่งพยานวัตถุและบัญชีพยานเพิ่มเติม และแถลงขอรวม คดี อ.1262/2561,คดี อ.2499/2561 ,คดี อ.2179/2561 เข้ากับคดีนี้ เนื่องจากมีพยานหลักฐานชุดเดียวกัน หากรวมพิจารณาด้วยกันแล้วจะสะดวกต่อการดำเนินกระบวนพิจารณา ศาลพิเคราะห์แล้ว อนุญาตให้นำทั้ง 3 คดีมารวมพิจารณากับคดีนี้ โดยให้เรียกจำเลยที่ 1-10 ในคดีนี้ว่าจำเลยที่ 1-10 ให้เรียกจำเลยคดี อ.1262/2561ว่าจำเลยที่ 11 ให้เรียกจำเลยคดี อ.2499/2561 ว่าจำเลยที่ 12 และให้เรียกจำเลยคดี อ.2179/2561 ว่าจำเลยที่ 13 สอบจำเลยที่ 1-13 แล้วให้การปฏิเสธ นอกจากนี้จำเลยแถลงต่อศาลว่า เนื่องจากคดีนี้ฝ่ายโจทก์และจำเลย มีพยานบุคคล พยานเอกสารและพยานวัตถุจำนวนมาก ขอเลื่อนระยะเวลาไปตรวจสอบว่ามีความจำเป็นจะต้องสืบพยานใดบ้าง โจทก์ไม่คัดค้าน พิเคราะห์แล้วเห็นว่ามีเหตุอันควรให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย นัดตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยาน ในวันที่ 27 พ.ค.2562 เวลา 09.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีนี้อัยการได้แยกข้อหาฟ้องจำเลยแต่ละคนดังนี้ นายวีระกานต์ อายุ 70 ปี อดีตประธาน นปช.จำเลยที่ 1, นายจตุพร พรหมพันธุ์ อายุ 53 ปี ประธาน นปช. จำเลยที่ 2 และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อายุ 43 ปี แกนนำ นปช. จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันชุมนุม ณ ที่ใดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นพ.เหวง โตจิราการ อายุ 67 ปี แกนนำ นปช. จำเลยที่ 4, นายสิระ หรือสรวิชญ์ พิมพ์กลาง อายุ 59 ปี แกนนำคนเสื้อแดง จ.สกลนคร จำเลยที่ 5, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อายุ 67 ปี แกนนำ นปช. จำเลยที่ 7, นายพิพัฒน์ชัย หรือสมชาย ไพบูลย์ อายุ 49 ปี แนวร่วม นปช. จำเลยที่ 8 และนายพายัพ ปั้นเกตุ อายุ 59 ปี แนวร่วม นปช. จำเลยที่ 9 ถูกยื่นฟ้อง 3 ข้อหา ในความผิดฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ห้ามชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ส่วนนายณรงศักดิ์ มณี อายุ 52 ปี ชาว จ.นครสวรรค์ จำเลยที่ 6 ถูกยื่นฟ้องข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และนายพงศ์พิเชษฐ์ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง อายุ 60 ปี แนวร่วม นปช.จำเลยที่ 10 ถูกยื่นฟ้อง 2 ข้อหา ในความผิดฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215นายอดิศร เพียงเกษ จำเลยที่ 11 ถูกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันชุมนุม ณ ที่ใดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

นายพีระ พริ้งกลาง จำเลยที่ 12 ถูกฟ้องในความผิดฐาน มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 , ส่วน นายเมธี อมรวุฒิกุล จำเลยที่ 13 ถูกฟ้องในความผิดฐาน มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215

 

ที่มา : มติชนออนไลน์