‘คสช.-อำนาจพิเศษ’ ขยับเขตเลือกตั้ง เขย่าพรรคใหญ่ติดกับดัก พรรคเล็กหืดขึ้นคอ

วันเลือกตั้งยังคงสับสนอลหม่านไทม์ไลน์หย่อนบัตร 24 ก.พ. 2562 ที่คอนเฟิร์มโดยผู้มีอำนาจในรัฐบาล ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงแกว่งไปแกว่งมา

เมื่อผู้รับผิดชอบเรื่องการเลือกตั้ง ต่างเด้งเชือกกันไปมาระหว่างรัฐบาล-คสช. กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าฝ่ายใดจะมีอำนาจเลื่อนเลือกตั้ง

กับอาการของ “อิทธิพร บุญประคอง”  ประธาน กกต.ระบุว่า วันเลือกตั้งจะมีความชัดเจนหลังจากการประชุมร่วมกันระหว่างแม่น้ำ 5 สายกับตัวแทนพรรคการเมืองตามข้อ 8 ของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2561 และคาดว่าวันประชุมจะชัดเจนหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลใช้บังคับ หากมีข้อสรุปให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป กกต.เองก็ไม่จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบ เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดเช่นนั้น แต่การเลื่อนก็ต้องมีเหตุผลและก็ต้องชี้แจงให้เข้าใจ

วัน ว. เวลา น.เลือกตั้งปี”62 จะสรุปเป็นคำตอบสุดท้ายในช่วงกลางหรือปลายเดือนธันวาคม

แต่สิ่งที่เป็น pain point ของนักเลือกตั้งยิ่งกว่าวันเลือกตั้ง คือ การแบ่งเขตเลือกตั้ง ภายหลัง “พล.อ.ประยุทธ์” ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.16/2561 ขยายเวลาให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งออกไปจนกว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มีผลบังคับใช้

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กกต.จังหวัดในแต่ละจังหวัด ได้เสนอรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งมายัง กกต.กลาง จังหวัดละ 3 รูปแบบ โดยได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงให้ กกต.กลางเลือกให้เหลือ 1 รูปแบบ ซึ่ง กกต.กลางได้ทำครบทุกขั้นตอน เหลือเพียงประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ก็มีคำสั่งฟ้าผ่าของ คสช.เกิดขึ้นเสียก่อน

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า มี “ใบสั่ง” จากหน่วยเหนือให้ กกต.รื้อการแบ่งเขตใหม่ เนื่องจากการแบ่งเขตไม่เป็นไปตามผู้มีอำนาจต้องการ ทั้งนี้ ความสำคัญในการแบ่งเขตที่เป็นปัญหากับพรรคการเมืองมี 3 เหตุหลัก

1.พรรคการเมืองยังไม่สามารถตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดเพื่อส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ จนกว่าจะมีการแบ่งเขตเลือกตั้ง เพราะตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 กำหนดว่าการส่งผู้สมัครจะต้องผ่านการ “รับฟังความคิดเห็น” จากหัวหน้าสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิกที่เกี่ยวข้องซึ่งจะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้ง

2.ความเป็นสมาชิกพรรคต้องสัมพันธ์กับเขตเลือกตั้ง ถ้ายังไม่มีเขตเลือกตั้งที่ชัดเจน ก็ยังไม่รู้ว่าสมาชิก 101 คนที่เป็นองค์ประกอบของตัวแทนพรรคประจำจังหวัดมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งหรือไม่

และ 3.เมื่อเขตเลือกตั้งยังไม่ชัดเจน พรรคการเมืองยังไม่สามารถวางตัวผู้สมัครที่แน่นอนได้ ทำให้ในที่ประชุม กกต.กับตัวแทนพรรคการเมือง ครั้งที่ 4 เมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา นักเลือกตั้งอาชีพ ตั้งธงคำถามมาถาม กกต.โดยเฉพาะ

“ภูมิธรรม เวชยชัย” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อ กกต.ยังไม่แบ่งเขต ยังทำอะไรไม่ได้ ยังไม่รู้ว่าจะจัดวางผู้สมัครลงตรงไหนได้ ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดก็ยังหาไม่ได้ ทำให้ทุกอย่างดำเนินต่อไปไม่ได้ เพราะต้องรอการแบ่งเขตเป็นเบื้องต้นก่อน พรรคเพื่อไทยจึงต้องส่งคนลงไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเขตละ 101 คนทุกเขตเลือกตั้งไว้ก่อน เพื่อให้ไม่มีปัญหาในการส่งผู้สมัครในอนาคต

“ภูมิธรรม” ยอมรับว่า พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยทำงานเหนื่อย แต่สำหรับพรรคเล็กไม่ต้องพูดถึง…ตายอย่างเดียว

ด้าน “นิกร จำนง” ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา เรียกร้อง กกต.ว่า ขอให้ กกต.เคาะเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยเร็ว แม้ว่า กกต.ขยายเวลาการแบ่งเขตได้ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.16/2561 แต่เวลาของพรรคการเมืองขยายไม่ได้เหมือน กกต. ทำให้พรรคการเมืองลำบาก

ฟากพรรคประชาธิปัตย์ “ผ่องศรี ธาราภูมิ” นายทะเบียนพรรค กล่าวว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.16/2561 ที่ให้ กกต.เปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตเลือกตั้งไปจากเดิมที่กฎหมายกำหนด ให้ดูจากพื้นที่ จำนวนประชากร เหลื่อมล้ำ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ พรรคเห็นว่ากระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำหนังสือส่งเพื่อยื่นให้ กกต.ทบทวนต่อไป

ส่วน “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นพูดตอนหนึ่งถึง effect ของคำสั่งหัวหน้า คสช.16/2561 ในที่ประชุมว่า “ขณะนี้มีในต่างจังหวัดบางจังหวัด มีข่าวลือว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดมีแบบที่ 4 ปลิวว่อน ผู้สมัครบางพรรคคุยโม้โอ้อวดว่าจะมีแบบที่ 4 เกิดขึ้น ไม่ใช่ 3 แบบที่ส่งไปให้ กกต.เลือก ฝากไว้เป็นข้อสังเกต”

นอกจากนี้ “ชูศักดิ์” ยังตั้งข้อสังเกตการ “รับฟังความคิดเห็น” จากสมาชิกพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด และหัวหน้าสาขาพรรคในการส่งผู้สมัครจะทำอย่างไร เช่น ต้องเดินลงไปที่เขตและขอเชิญสมาชิกในเขตนั้นมารับฟังความคิดเห็นในการส่งผู้สมัคร จะต้องติดประกาศไว้ ลงเว็บไซต์หรือไม่

“อีกทั้งพรรคเพื่อไทยยังไม่มั่นใจว่าที่ให้รับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกพรรคจะทำอย่างไร เป็นความยากลำบาก ถ้าสมมุติว่าคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้สมัครคัดเลือกนายดำลงสมัคร แต่เมื่อไปรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกและสมาชิกต้องการคนอื่นที่ไม่ใช่นายดำ ขณะที่หัวหน้าสาขาพรรคเห็นชอบกับการส่งนายดำลงสมัคร ตรงนี้จะจัดการอย่างไรซึ่งเป็นเรื่องยาก”

แต่คำถามของ “ชูศักดิ์” ก็ไร้คำตอบ

ในเวลาที่การเลือกตั้งกระชั้นเข้ามาเรื่อย ๆ ในทางตรงกันข้าม กกต.ได้รับ “อำนาจพิเศษ” จาก “คำสั่งพิเศษ” ขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้งออกไป


ยิ่งแบ่งเขตช้า ยิ่งเป็นอุปสรรคของพรรคการเมืองถ้วนหน้า…ดีไม่ดีอาจเปิดช่องให้ คสช.เลื่อนวันเลือกตั้งออกไป ตามประสงค์ของพรรคเล็กไม่กี่พรรค