ณัฏฐพล ไขรหัสประตูกลเลือกตั้ง “ประชารัฐ” กวาดทุกคะแนนตกน้ำ-ใต้ดิน

สัมภาษณ์พิเศษ

อดีต 3 ทหารเสือ 3 ประสานในแดนหน้าประชาธิปัตย์-กปปส. รับ-จ่ายกระสุน ปิดสกอร์ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และมวลม็อบนกหวีดโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ปัจจุบัน 3 ทหารเสือ “บี-ปุณณกันต์”-“สกลธี ภัททิยกุล”-“ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ผนึกกำลังเป็น 3 ประสาน-ทีมงานหลังบ้าน เลี้ยง-ส่งให้ผู้เล่นหน้าเก่า-ใหม่ที่สเกาต์มาเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เก็บแต้ม

“ณัฏฐพล” 1 ใน 3 ทหารเสือ-อดีตขุนพล กปปส. เปลี่ยนต้นสังกัดจาก “ทีมสีฟ้า” มาสวมเสื้อพลังประชารัฐ-นั่งแท่นรองหัวหน้าพรรคคุมงานหลังบ้านเพื่อเตรียมการไปสู้ศึกการเลือกตั้งที่จะมาถึง…

อดีต ส.ส.ปักหมุดระบบเขต

เขาเปิดบทสนทนาถึงบทบาทผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พปชร.กำลังผนึกเครือข่ายเชื่อมโยงพรรคกับภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ อีสาน 3 โซน เหนือ 2 โซน ใต้ 3 โซน กลาง 2 โซน กทม. 3 โซน แบ่งออกเป็นกรุงเทพมหานครชั้นในและกรุงเทพฯชั้นนอก-เน้นพื้นที่ฝั่งธนฯ เพื่อวางหมาก-ปรับยุทธวิธีสู้ศึกเลือกตั้ง

“บัญชีผู้สมัคร ส.ส.เขตจะส่งครบทั้ง 350 เขต โดยให้สมาชิกที่เป็นอดีต ส.ส.ลงในพื้นที่ตัวเอง เพราะมีโอกาสชนะมากกว่านักการเมืองหน้าใหม่ หรืออย่างน้อยลงไปเก็บคะแนน”

“ส่วนผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเว้นไว้ให้อดีต ส.ส.ที่มีพื้นที่ทับซ้อนกัน อดีตรัฐมนตรี อดีตข้าราชการ ผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในภาคเอกชน ที่ไม่มีประสบการณ์ทำพื้นที่เลย”

“ยุทธศาสตร์ต้องการให้เกิดความบาลานซ์ระหว่างผู้สมัคร ส.ส.เขต กับผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะได้ ส.ส.เขตเยอะ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะได้น้อย”

มั่นใจ กทม. 5-6 ที่นั่ง 

เขาวิเคราะห์การแข่งขันในพื้นที่เมืองหลวงว่า กทม.จะเป็นสนามการแข่งขันที่เข้มข้น ดุเดือด เพราะมีพรรคใหญ่ที่ให้ความสนใจ โดยเฉพาะแชมป์เก่า และรองแชมป์เก่าอย่าง พท. และ ปชป. นอกจากนี้ ยังมีพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เพราะนายสุเทพคุ้นเคยกับการเดินในกรุงเทพฯ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ก็สร้างกระแสผ่านโซเชียลมีเดียได้พอสมควร

“พปชร.มีผู้สมัคร ส.ส.ที่เคยเป็นผู้บริหารท้องถิ่นและคนรุ่นใหม่ คาดหวังจะทำคะแนนให้สูงและชนะบางเขตที่มีอดีต ส.ส.เคยอยู่ 5-6 ที่นั่ง โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯชั้นนอกที่มีอดีตผู้บริหารท้องถิ่น ส่วนกรุงเทพฯชั้นในส่งผู้สมัครเพื่อไปเก็บคะแนน”

“ในฐานะพรรคน้องใหม่ต้องหาวิธีดึงคะแนนจาก 2 พรรคใหญ่ออกมา ส่วนจะดึงได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับยุทธวิธีให้เหมาะสมกับพื้นที่ พื้นที่ที่ดึงได้ยาก คือ พื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน เพราะคะแนนของ 2 พรรคใหญ่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

คะแนนตกน้ำอีสาน-เหนือ-ใต้

ส่วนพื้นที่ภาคอีสาน-เหนือ-ใต้ ที่เป็นฐานที่มั่นของ พท.-ปชป.มีโอกาส แต่อาจจะไม่ได้เยอะเท่ากับปริมาณอดีต ส.ส.ที่มีอยู่ในพรรค แต่มั่นใจว่าจะเก็บคะแนนได้ในทุกเขต ด้วยแบรนด์ของพรรค

“ถือเป็นโจทย์ใหม่และท้าทายในการกำหนดยุทธวิธีของพรรค เพราะต้องประสบกับภาวะที่ไม่คุ้นเคยกับกติกาใหม่ จึงขึ้นอยู่กับความขยัน การหาเสียงและการกระจายความนิยม”

เขาปฏิเสธว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี”60 ดีไซน์ออกมาเอื้อประโยชน์ให้กับ พปชร.-ออกแบบมาเพื่อขจัดปัญหาการเมืองในอดีต แต่ยอมรับว่าเอื้อให้กับพรรคการเมืองหลาย ๆ พรรคที่มีคะแนนนิยม แต่ไม่มีอดีต ส.ส.ในมือจำนวนมาก

ขี่กระแสพรรค-เก็บเบี้ยใต้ถุน

“หากตั้งสมมุติฐานการเลือกตั้งในปี”54 รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะกระทบกับการเลือกตั้ง ส.ส.เขตในพื้นที่ที่แข่งขันกันสูง เพราะจะทำให้ช่องว่างของคนที่ชนะได้ที่ 1 ลดลง จะโดนพรรคอื่นเข้ามาแย่งคะแนน ทำให้ความมั่นคงของอดีต ส.ส.เขตหายไป”

“เขตที่แข่งกันแล้วสูสี คราวที่แล้วอาจจะแข่งกันเพียง 2-3 พรรค แต่ครั้งนี้มีพรรคที่เข้าแข่งขันเป็น 10 พรรค เพราะฉะนั้น คะแนนแตกแน่นอน จึงท้าทายว่าแต่ละพรรคจะใช้กลยุทธ์ใดในการเรียกคะแนนนิยม”

“การเลือกตั้งครั้งนี้คนที่มีเครือข่ายในพื้นที่จะดึงคะแนนจากอดีต ส.ส. แต่เชื่อว่าอดีต ส.ส.จะใช้ประสบการณ์ชนะเลือกตั้งได้ แต่จะได้คะแนนน้อยลง”

“รัฐบาลหน้าคงเป็นรัฐบาลผสมอยู่แล้ว ส่วนจะรวมกับใครต้องมาดูเป้าหมายตรงกันไหม อุดมการณ์เหมือนกันหรือไม่ ถ้ามีโอกาสได้บริหารประเทศจะบริหารไปในแนวทางเดียวกันได้หรือไม่ การเมืองคงต้องดูว่ามันจะออกมาทางไหน ทุกพรรคมีความเห็นเหมือนกันและแตกต่างกัน จึงยังบอกไม่ได้ว่าพรรคใดอยู่ฝั่งไหน สุดท้ายเป็นการตัดสินใจของกรรมการบริหารพรรค”

พรรครวมดาวรุ่ง-ดาวค้างฟ้า

อดีตขุนพล ปชป.-กปปส.เชื่อว่า เสน่ห์ของ พปชร. คือ เป็นพรรคทางเลือก เปิดพื้นที่-เวทีให้กับคนรุ่นใหม่ทั้งภาควิชาการ ภาคธุรกิจที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมารวมตัวกันแสดงออก

“คนที่ไม่ได้มีประสบการณ์ทางการเมืองมาเลยก็ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับพรรคเก่าแก่ ดังนั้น เรื่องโอกาสจึงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเสน่ห์ของพรรค”

ประกาศเป็นพรรคทางเลือก แต่ขณะเดียวกันภายในพรรคกลับมีอดีต ส.ส.-นักการเมืองรุ่นเก่า และถูกมองเป็นพรรคคู่ขัดแย้งเพราะสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ-สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ จนอาจติดกับดัก-ก้าวไม่พ้นความขัดแย้ง ?

“ถ้าดูทั้งอดีต ส.ส. อดีตแกนนำเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในพรรค มาจากทุกฝ่าย ถึงแม้จะมีผู้ที่เคยเป็นคู่ขัดแย้งกัน ผู้ที่เคยเห็นต่างกันสามารถมาหล่อหลอมความคิดร่วมกันได้ว่า เราทำอะไรก็ได้ทั้งหมดเพื่อประเทศให้เดินข้างหน้าไปให้ได้”

พปชร.จึงเปรียบเสมือนเป็นพรรครวมดาวรุ่ง-ดาวค้างฟ้าทางการเมือง ที่มารวมตัวกันจากหลายพรรค-หลายขั้วอำนาจ ทั้งอดีต ส.ส.จาก พท.-ปชป.-ภูมิใจไทย (ภท.) กปปส.-นปช.-พันธมิตรฯ เขาจึงมองบวกว่าเป็นเสน่ห์ของพรรคเครื่องหมายคำถามที่ตามมาของการไหลรวมกันของพลังอำนาจจากกลุ่ม-ก๊วน-มุ้งการเมือง และอดีตแกนนำเคลื่อนไหว 2 สีเสื้อ และ 1 แกนนำม็อบนกหวีด คือ การต่อรองที่หนักหน่วง

“ตอนนี้การเมือง คือ เรื่องของการเดินไปสู่เป้าหมาย โดยไม่ต้องต่อรอง เป้าหมาย คือ เป็นพรรคที่มีคะแนนมากที่สุดเท่าที่จะมีได้ ทุกคนเห็นไปในแนวทางเดียวกัน ถ้ามัวแต่ทะเลาะกัน ต่อรองกัน ก็จะทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมาย”

“เป็นไปไม่ได้ที่ต่อรองแล้ว ทุกคนจะ happy ควรมาแชร์กันเพื่อให้เดินไปสู่เป้าหมาย สมการต่าง ๆ จะสามารถคลี่คลายไปได้ด้วยตัวของมันเอง ขอให้เอาผลประโยชน์ประเทศเป็นหลัก”

เลื่อนชั้นเป็นพรรคใหญ่

ส่วนการ “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” ของ “ทักษิณและพวก” จะทำให้ชนะการเลือกตั้งชนิด “แลนด์สไลด์” หรือไม่นั้น ? เขาไม่ขอวิจารณ์กลยุทธ์ของพรรคคู่แข่ง แต่เขาเชื่อว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นคำตอบว่า ยุทธศาสตร์ของพรรคใดจะ “เดาทางถูก”

“บางพรรคอาจจะมองว่าเป็นโอกาส เป็นการชิงความได้เปรียบ ลดความเสียเปรียบ หรือข้อกังวลในเรื่องต่าง ๆ จึงเสนอทางเลือกอื่นขึ้นมา…จะแตกแบ็งพันเป็นแบ็งร้อย แต่ไม่สามารถซื้อของได้ จะแตกแบ็งอะไรก็เหมือนกัน”

การเปิดรับสมัครอดีต ส.ส.กลุ่มสามมิตรกว่า 60 ชีวิต เข้าเป็นสมาชิก เมื่อวันที่ 18 พ.ย. สร้างความฮึกเหิมให้กับพรรคที่ได้รับการตอบรับของความเป็นพรรคการเมืองจาก กกต.เพียง 20 วัน …”ยิ่งใหญ่กว่าพรรคไทยรักไทย” ยุทธศาสตร์ของ พปชร.จึงต้องขยับ-ปรับเปลี่ยน เพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกพรรคที่มีดีกรีเป็นถึงอดีต ส.ส.-รัฐมนตรีมากยิ่งขึ้น

“เริ่มต้นอาจจะไม่ใช่เป็นพรรคใหญ่ แต่ขณะนี้พรรคใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงต้องปรับตัวให้ทันในเรื่องของการบริหาร ต้องมีการสนับสนุนที่มั่นคง เข้มแข็ง ฝ่ายบริหารต้องตอบสนองตรงนั้นให้ได้”

เขามองว่าการที่ พปชร.ถูกมองว่าเป็นเนื้อเดียวกับรัฐบาล-คสช. ถือเป็น “จุดแข็ง” ไม่ใช่จุดอ่อนของพรรค เพราะการมีผู้บริหารพรรคเป็นรัฐมนตรีอยู่ในรัฐบาล สามารถนำแนวทางมานำเสนอเพื่อปรับให้เป็นนโยบายของพรรคได้ เช่น นโยบายอีอีซี


“สิ่งที่รัฐบาลทำมีส่วนที่ดีเยอะต้องมาดูว่ามีส่วนดีมากกว่าส่วนที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ทันทีมากน้อยแค่ไหน และต้องดูความตั้งใจของรัฐบาลด้วย แม้จะยังแก้ปัญหาไม่ได้ แต่ไม่ได้ทอดทิ้งปัญหานั้น และพยายามแก้ไข” ขุนพล พปชร.ทิ้งท้าย