เลาะกระดูก 4 นักการเมือง “บิ๊กเนม” กุนซือพรรคใหญ่ สู้เกมเลือกตั้งเดือด

สัญญาณเลือกตั้งเริ่มชัดเจนขึ้น แม้การเมืองยังไม่ถูกปลดล็อก แต่สิ่งที่พรรคการเมืองใหญ่ 4 พรรค ทำล่วงหน้าไปแล้ว คือ การตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ “หาเสียง” กันอย่างขมักเขม้น ไม่ต้องรอให้ผู้มีอำนาจเคลียร์วัน ว. เวลา น.เลือกตั้งให้ชัดเจน

หนึ่งคือ พรรคเพื่อไทย ตามฟอร์มพรรคใหญ่ ตั้ง “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้งของพรรคก่อนใครเพื่อน

สองคือ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่แตกหน่อมาจากเพื่อไทย ตั้ง “จาตุรนต์ ฉายแสง” เป็นหัวหอกยุทธศาสตร์

สามคือ พรรคพลังประชารัฐ คู่แค้น-คู่แข่งทั้งในลู่ นอกลู่การเมืองของเพื่อไทย ตั้งมือการเมืองระดับไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำกลุ่มสามมิตร เป็นประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง โดยมี “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พาณิชย์ เลขาธิการพรรค เป็นประธานยุทธศาสตร์คุมอีกชั้น

สี่คือ พรรคประชาธิปัตย์ มี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองหัวหน้าพรรค เป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์เลือกตั้งของพรรค

หากเทียบชั้นความเขี้ยว-เก๋าเกม ที่แกะจากโปรไฟล์ทางการเมือง อาจสะท้อนชั้นเชิงการวางหมากบนกระดานเลือกจากนี้ถึงปี 2562 เริ่มจาก…

“สุดารัตน์” หัวขบวนเพื่อไทย เป็น ส.ส.เขต 4 สมัย โดยสมัยแรก ส.ส.กทม. เขต 12 พรรคพลังธรรม ในการเลือกตั้ง 22 มี.ค. 2535 สมัยที่ 2 เป็น ส.ส.กทม. เขต 7 พรรคพลังธรรม ในการเลือกตั้ง 13 ก.ย. 2535 สมัยที่ 3 เป็น ส.ส.กทม. เขต 7 พรรคพลังธรรม ในการเลือกตั้ง 2 ก.ค. 2538 สมัยที่ 4 เป็น ส.ส.กทม. เขต 7 พรรคพลังธรรม ในการเลือกตั้ง 17 พ.ย. 2539 และเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 3 สมัย ในนามพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้ง 6 ม.ค. 2544 6 ก.พ. 2548 และ 2 เม.ย. 2549

เริ่มต้นการเป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลชวน หลีกภัย ปี 2537 เป็น รมช.มหาดไทย 2 ครั้งในรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ในรัฐบาลทักษิณ 2 ครั้ง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1 ครั้ง ก่อนถูกรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

เคยชิมลางลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 1 ครั้งในปี 2543 แต่ดัน “สอบตก”

หลังถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี จากพิษยุบพรรคไทยรักไทย “สุดารัตน์” ไม่ได้กลับมาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ก่อนกลับมาอีกครั้งในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้งของพรรค

ส่วนไทยรักษาชาติ ดัน “จาตุรนต์” ขึ้นเป็นแนวหน้า เขาได้รับเลือกเป็น ส.ส.สมัยแรกตั้งแต่ปี 2529 โดยเป็น ส.ส. ฉะเชิงเทรา เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ สมัยที่ 2 เป็น ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 1 พรรคประชาชน ในการเลือกตั้ง 24 ก.ค. 2531 สมัยที่ 3 ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 1 พรรคความหวังใหม่ ในการเลือกตั้ง 22 มี.ค. 2535 สมัยที่ 4 ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 1 พรรคความหวังใหม่ ในการเลือกตั้ง 2 ก.ค. 2538 สมัยที่ 5 เป็น ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 1 พรรคความหวังใหม่ ในการเลือกตั้ง 7 พ.ย. 2539

ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรี “จาตุรนต์” เป็น รมช.คลังในรัฐบาลความหวังใหม่ เมื่อปี 2539 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2544 ในรัฐบาลไทยรักไทย เป็น รมว.ยุติธรรม 2545 ขยับเป็นรองนายกรัฐมนตรีในปีเดียวกัน เป็น รมว.ศึกษาธิการ จนถึงการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 หลังพ้นการตัดสิทธิการเมือง 5 ปี จากการยุบพรรคไทยรักไทย ได้กลับมานั่งเป็น รมว.ศึกษาธิการ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ขณะที่ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ตั้ง “สมศักดิ์” เป็นหัวหอกคุมการหาเสียง เช็กโปรไฟล์เขาเป็น ส.ส.สุโขทัย 7 สมัย และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 3 สมัย โดย 7 สมัยเป็นผู้แทนราษฎรในเสื้อคลุมพรรคกิจสังคม ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2526-2539 และเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 3 สมัยในนามพรรคไทยรักไทย จากการเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544, 6 กุมภาพันธ์ 2548 และ 2 เมษายน 2549

เริ่มต้นเป็นรัฐมนตรีในตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข ปี 2535 จากนั้นเป็น รมช.คมนาคม 3 สมัย ขยับชั้นเป็น รมว.สาธารณสุข รมว.อุตสาหกรรม 2 สมัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา รมว.แรงงาน และรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลไทยรักไทย

หลังรัฐประหาร 2549 โดยเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เขาอยู่เบื้องหลังพรรคมัชฌิมาธิปไตย ก่อนจะรวมกับกลุ่มเพื่อนเนวินกำเนิดพรรคภูมิใจไทย พลิกขั้วรัฐบาลในปลายปี 2551 หนุนประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล

แต่หลังจากเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ปี 2554 กลุ่มมัชฌิมาฯของ “สมศักดิ์” แยกออกจากภูมิใจไทยที่เป็นฝ่ายค้าน และรวมข้างกับพรรคเพื่อไทย เมื่อ 17 ธ.ค. 2556 

แต่แล้วหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เขาและกลุ่มมัชฌิมาฯกบดานเงียบอยู่ในที่ตั้ง ก่อนปักหมุดเป็นหนึ่งในแกนนำพรรคพลังประชารัฐ

ฟากพรรคประชาธิปัตย์ มี “จุรินทร์” คุมยุทธศาสตร์เลือกตั้ง ประหนึ่งแม่ทัพน้อยของพรรคสีฟ้า เขาเริ่มต้นการเมืองด้วยการเอาชนะ “บรม ตันเถียร” ในสนามเลือกตั้งพังงา และผูกขาดการเป็น ส.ส.พื้นที่ 6 สมัย ตั้งแต่ปี 2529 จนถึง 2539 กระทั่งผันตัวไปเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค 2 สมัยในปี 2544 และ 2548 สตาร์ตการเป็นรัฐมนตรีในปี 2535 ตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ ต่อด้วย รมช.เกษตรและสหกรณ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รมว.ศึกษาธิการ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) 1 สมัย เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) 2 สมัย

นาทีนี้หากวัดกระดูกและพรรษาการเมือง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แห่งพรรคพลังประชารัฐเก๋ากว่าใครในการวางหมากสู้ศึกเลือกตั้ง