นิพนธ์ : ขุนพลภาคใต้ ปชป. ดีดลูกคิดคะแนนตกน้ำปักธง 150 เสียง

นิพนธ์ บุญญามณี

เป็นอีกครั้งในรอบ 72 ปีของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ถูกท้าทาย-ลองวิทยายุทธ์บนสมรภูมิการเมือง-สังเวียนเลือกตั้ง คูหาต่อไปของประชาธิปัตย์ คือ ชนะการเลือกตั้ง-เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรค 1 ในคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งควบเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (ส.จ.) เขาเป็น 1 ใน “กลุ่ม 35/1” ที่ออกแรงดัน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคอีกสมัย

เขาเริ่มบทสนทนาว่า หลังจากได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นแม่ทัพและคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคชุดใหม่แล้ว ปชป.ถือว่าจัดทัพค่อนข้างจะเรียบร้อยแล้วเหลือเพียงเรื่องผู้สมัคร

“ต้องมาเตรียมกำลังคนทั้งหมดเพื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้ง แม้กระทั่งกองหนุนและเสบียง การจะออกศึกต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อม ตลอดจนขวัญและกำลังใจของคนที่จะออกรบ”

เขาไม่ยอมรับ-แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่า ปชป.ออกตัวช้ากว่าพรรคอื่น “ถ้าถามว่าออกตัวช้าไปหรือไม่ ไม่ช้า แต่การประกาศตัวผู้สมัคร ส.ส.ช้า…ที่ ปชป.ไม่หวือหวากว่าพรรคอื่นเพราะเรามีอดีต ส.ส.อยู่แล้ว”

“แต่อาจจะปรับปรุงในบางพื้นที่ เพราะ จำนวนเขตลดลง สอง อดีต ส.ส.บางคนไปอยู่พรรคอื่น ต้องหาใหม่มาทดแทน สาม เขตไหนอ่อนแอ เสี่ยง หมิ่นเหม่ที่อาจจะไม่ได้รับการเลือกตั้ง หรือได้รับเสียงน้อยกว่า”

คะแนนพรรคไม่ย้ายตามคน 

แม้แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะออกมาเกทับว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

“ภายใต้การเลือกตั้งระบบใหม่ ทุกคะแนนมีความหมาย คะแนนที่สูญเปล่าไปในการเลือกตั้งปี”54 การเลือกตั้งรอบนี้จะมีประโยชน์กับพรรคมาก เพราะจะเป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค”

“ปัญหาคือ ส.ส.ในเขตต้องทำคะแนนให้ใกล้เคียงกับคะแนนกลาง 7 หมื่นคะแนนเพื่อไปคำนวณเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ต้องเก็บทุกคะแนน”

“การเลือกตั้งปี”54 ปชป.ได้คะแนนพรรคมากกว่าคะแนน ส.ส. รอบนี้ยังเชื่อว่าอาจจะมีจำนวน ส.ส.ลดลงไปบ้าง แต่ไม่มีนัยสำคัญ ยังเชื่อว่าคะแนนพรรคยังมากกว่าคะแนนบุคคล”

ปฏิบัติการดูดของ พปชร. อาจทำให้ฐานเสียง-หัวคะแนนที่เคยมีอยู่ในมือต้องพร่องลงไป แต่เขาไม่เชื่อเช่นนั้น เพราะยังมั่นใจระบบพรรค – “โหวตเตอร์” ยังเทคะแนนให้กับพรรค

“ในอดีตมีการย้ายพรรค แต่คนใหม่ก็ได้รับการเลือก บางคนเป็นอดีต ส.ส.พอย้ายออกไป กลายเป็น…คนเหล่านั้นไม่ได้เป็น ส.ส.”

ในปรากฏการณ์ดูดของ พปชร.มีความเคลื่อนไหวหนึ่ง คือ มีนักการเมืองท้องถิ่นประสงค์-ถูกเข็นลงสนามการเมืองระดับชาติจำนวนมาก “นิพนธ์” ผู้เบนเข็มจากสังเวียนการเมืองระดับชาติสู่สังเวียนเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่รู้สึกแปลกใจก่อนจะวิเคราะห์ว่า

“การแบ่งเขตเล็กแบบนี้ เหมือนกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.จ. ฐานเสียงจึงเท่ากัน โอกาสนักการเมืองท้องถิ่นจึงมากกว่าคนอื่น เพราะผ่านสนามเลือกตั้งในท้องที่มาแล้ว รู้ว่าคนจะช่วยหาคะแนนได้จากที่ไหน”

“แต่จะชนะเลือกตั้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัย ช่วงที่เป็น ส.จ.เขาคลุกคลีกับชาวบ้านมากน้อยเพียงใด”

“ต้องยอมรับว่า 5 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ห่างพื้นที่ แต่ ส.จ.มีงบประมาณทุกปี ทำให้ความเชื่อมั่นไหลไปอยู่ที่ ส.จ. ยิ่งอดีต ส.ส.คนไหนไม่ทำการบ้าน ไม่ลงพื้นที่สม่ำเสมอ เท่ากับห่างพื้นที่ คนเราถ้าไม่ได้เจอหน้ากัน 5 ปีก็เปลี่ยนได้”

ปักธง 150 ที่นั่ง

ความท้าทายของพรรคเก่าแก่ที่สุดในการเมืองไทยในรอบ 72 ปี ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ การถูก “ลดชั้น” เป็น “พรรคต่ำร้อย” เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกตั้งธงร่างเพื่อแก้โจทย์เผด็จการรัฐสภาเสียงข้างมาก ประกอบกับปรากฏการณ์ดูดของ พปชร. เขาไม่ตอบโต้แต่ถามกลับอย่างมีอารมณ์ว่า เอาหลักอะไรมาคิด-วิเคราะห์ “เราเจออย่างนี้มาตลอด ตอนแข่งกับ พท.เขาก็บอกแบบนี้ ปชป.จะสูญพันธุ์ รอบนี้ก็บอกว่าจะเป็นพรรคต่ำร้อย”

ก่อนจะดีดลูกคิด-คิดคณิตศาสตร์การเมืองว่า ปชป.จะได้ ส.ส.เขตอย่างน้อย 110-120 ที่นั่ง บนสมมุติฐานผู้แทนภาคใต้ไม่น้อยกว่าเดิม กทม.ยังรักษาฐานที่มั่นไว้ได้ ภาคกลางอาจจะมากกว่าเดิม ภาคเหนือตอนล่างยังเต็มพื้นที่

จากผลการเลือกตั้งในปี”54 ปชป. ได้คะแนนตกน้ำในภาคอีสาน-ภาคเหนือ-ภาคกลางตอนบน รวมแล้ว 2,534,256 คะแนน คิดเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 36-37 ที่นั่ง ดังนี้

ภาคอีสาน 20 จังหวัด คะแนน ส.ส.เขต 1,075,693 คะแนน คิดเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 15.36 ที่นั่ง ภาคเหนือ 9 จังหวัด คะแนน ส.ส.เขต 795,886 คะแนน คิดเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 11.36 ที่นั่ง ภาคกลางตอนบน 8 จังหวัด คะแนน ส.ส.เขต 662,677 คะแนน คิดเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 9.46 ที่นั่ง

ใต้แพ้ได้แต่อย่าเยอะ

เขาแจกแจงเป็นรายภาคให้เห็น ไล่ตั้งแต่ภาคใต้ซึ่งมีโอกาส “คะแนนลดลง” เพราะมีอดีต ส.ส.ภาคใต้ 7 คนย้ายออกไปร่วมวงกับ “กำนันสุเทพ” -รปช. และมีพรรคประชาชาติ (ปช.) ที่มีกลุ่มวาดะห์เป็นแกนนำพรรคคู่แข่ง

“ปัญหานี้เคยเกิดขึ้นกับ ปชป.หลายรอบแล้ว คนที่เป็นเลขาฯพรรคออกจากพรรคแล้วไปตั้งพรรคใหม่ ผลเป็นยังไง เราเคยเห็นมาแล้ว หรือสมัยท่านวีระ มุสิกพงศ์ หรือสมัยท่าน เสธ.หนั่น (พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์) ตั้งพรรคมหาชน วันนี้ท่านสุเทพมาตั้งพรรค เราถือว่ามีประสบการณ์เป็นบทเรียน”

“วันนี้เป็นหน้าที่ของอดีต ส.ส.ของพรรคต้องมานั่งหารือกันว่า ทำอย่างไรให้ได้คะแนนตามเป้าหมายมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะแพ้ก็ต้องแพ้ให้ได้น้อยที่สุด ทุกเขตมีความหมาย วันนี้ได้อย่างเดียว ผมคิดว่าไม่พอแล้ว ต้องได้คะแนนมากที่สุดเราถึงจะมีสิทธิ์เป็นตัวแปรทางการเมือง”

“มั่นใจว่าจะไม่มีอะไรที่ทำให้ ปชป.ต้องเสียหายมากนัก เสียหายบ้าง ออกสงครามแล้วไม่บาดเจ็บเป็นไปไม่ได้ ท่ามกลางวิกฤตที่ผ่านมาเสียหายบ้าง แต่ที่สุดแล้วความเป็นระบบพรรคมีกระบวนการหาคนมาทดแทนได้อย่างมีคุณภาพ เท่ากับเป็นการถ่ายเลือดใหม่”

“72 ปีของ ปชป. บอกอะไรมาได้บ้างแล้วในทางการเมือง สร้างประสบการณ์ให้กับพรรคมามากมายแล้ว เห็นใบไม้ไหว ๆ จึงไม่ตกใจ ประสบการณ์สอนให้เราคาดการณ์ได้ว่า ไหวอย่างนี้คืออะไร”

เก็บคะแนนตกน้ำเหนือ-อีสาน 

ขณะที่สมรภูมิภาคเหนือ-อีสาน แม้ ปชป.จะไม่ได้ถูกพลังดูด แต่อาจส่งผลกระทบ “ทางอ้อม” จนต้องหล่นไปเป็น “พรรคอันดับ 3” ทว่า เขามองว่าในวิกฤตยังมีโอกาสจากระบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” – “ทุกคะแนนไม่ตกน้ำ”

“แม้ในยามที่ ปชป.ยากที่จะชนะ มีกระแสอื่นที่แรง ๆ แต่ในเขตอำเภอเมือง เช่น นครราชสีมายังได้ 2-2.3 หมื่นกว่าคะแนน แต่ยอมรับว่าพอออกไปข้างนอกหมู่บ้านไกล ๆ คะแนนหายเลย”

“ความเป็นคนเมืองยังไว้วางใจ ปชป. เมืองเชียงใหม่ คนแย่งกันลงในเขตอำเภอเมืองในนาม ปชป. เพราะมีโอกาสลุ้น จึงต้องเน้นอำเภอเมืองเป็นหลัก”

“เชียงใหม่ แต่ก่อน ปชป.ได้คะแนนรวมแล้วเกือบ 3 แสนคะแนน แต่ก่อนสูญเปล่า แต่วันนี้ 3 แสนคะแนนนั้นได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 4 ที่นั่ง”

“กติกาใหม่ทำให้เราได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพื่ม ภาคอีสานล้านกว่าคะแนน ได้อีก 13-14 คน ภาคเหนือได้คะแนนพรรคอีกล้านกว่า รวมถึงภาคกลางตอนบน”

การเลือกตั้งครั้งนี้ พื้นที่ภาคเหนือ-อีสานและกลางตอนบนจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ ปชป.ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น ดังนั้น ส.ส.ในพื้นที่ต้องทำคะแนนให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าได้เพียง 2-2.7 หมื่นคะแนน เขาบวก-ลบแล้ว “พรรคขาดทุน” เพราะค่ากลางต่อ ส.ส. 1 คน คือ 7-7.5 หมื่นคะแนน

กทม.เลือกพรรค-ไม่เลือกคน 

ด้านสนามเมืองหลวง-กรุงเทพมหานคร (กทม.) เขาเชื่อว่า ไม่กระทบมาก แม้จะขาดขุนพล 3 ทหารเสือ กปปส.- ส.ก.-ส.ข.ถูกดึงไปลงสนามเลือกตั้งใหญ่ เพราะคะแนนไม่ได้ไปกับตัวบุคคล ปชป.คะแนนอยู่กับพรรค

“คนกรุงเทพฯเลือกพรรคเป็นหลัก อาจจะเลือกคนที่ขยันลงพื้นที่จริง ๆ บ้าง แต่โดยหลัก ปชป.คะแนนอยู่กับพรรค ถ้าเขาตัดสินใจที่จะเลือกหัวหน้าพรรคแล้ว”

เขาคิดออกมาเป็น “สูตรสู้เลือกตั้ง” ว่า ทุกคนทุกคะแนนมีความสำคัญ ทุกคนต้องช่วยกันหาคะแนนจากเขตเลือกตั้งให้ได้มากที่สุดคือหัวใจ

“ฉะนั้น เมื่อรู้เกณฑ์กลาง 7 หมื่นคะแนนต่อ ส.ส. 1 คนไม่ควรได้ต่ำกว่า ต้องให้ใกล้ชิดไว้อย่าให้ต่ำ สูงไม่เป็นไร สูงกว่าเกณฑ์กลางเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น แต่ใครที่ต่ำกว่า อย่าต่ำเยอะ เพราะจะไปกินคะแนนส่วนอื่นมาชดใช้ ต้องทำงานหนัก”

เขาทิ้งท้ายว่า แม้รัฐธรรมนูญไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเอื้อพรรคใหญ่ พท.แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย พปชร.เก็บแบงก์ร้อยมารวมเป็นแบงก์พัน

“ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ภายใต้กติกานี้ เลือกตั้งแล้ว กติกาไม่ดีค่อยว่ากัน ตอนนี้ไปพูดถึงเรื่องกติกาไม่มีประโยชน์ ต้องเดินลงสนามแข่งขันอย่างฮึกเหิม มีขวัญกำลังใจและทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เมื่อลงสนามแข่งแล้วก็ต้องพร้อมสู้กันทุกรูปแบบ”