ยินดีกับพรรคประชาธิปัตย์

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ยินดีกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้หัวหน้าพรรคคนเก่าที่มาจากวิธีสรรหา แผนใหม่โดยวิธีหยั่งเสียงสมาชิกพรรค เพื่อเป็นข้อมูลในการลงมติเลือกหัวหน้าพรรคของคณะกรรมการบริหารพรรค

ขอแสดงความคารวะต่อการตัดสินใจของหัวหน้าพรรค เพราะทำให้หวาดเสียวไปทั่วว่าจะเพลี่ยงพล้ำกับกลุ่มหัวหน้าชุมนุมข้างถนน กปปส. ซึ่งเป็นการเมืองนอกสภาผู้แทนราษฎร แต่อ้างว่าเป็นการเมืองภาคประชาชน เพื่อปูทางให้ทหารทำการปฏิวัติรัฐประหาร แม้จะหลงผิดบ้าง เมื่อคราวได้รับการยกย่องให้เป็นนายกรัฐมนตรีในค่ายทหาร

ชาวประชาธิปัตย์ขนานนามพรรคตนเองว่า เป็น “พรรคแมลงสาบ” เพราะแมลงสาบเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่อยู่รอดมาได้ เมื่อโลกถูกชนด้วยดาวพระเคราะห์ จนเกิดไฟลาวาท่วมแผ่นดิน สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ไดโนเสาร์ เต่าพันปี ต้นไม้ต้นไร่ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ วิกฤตวินาศ ต่างถูกทำลายหมดสิ้น เหลือแต่แมลงสาบ

พรรคประชาธิปัตย์เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2489 เพื่อแข่งขันต่อสู้กับพรรคสหชีพ และพรรคแนวรัฐธรรมนูญของ นายปรีดี พนมยงค์ มันสมองคนสำคัญของคณะราษฎร ที่ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475

และเป็นธรรมดาเมื่อต้องต่อสู้กับพรรคการเมืองที่ก่อตั้งโดยผู้มีอำนาจเป็นรัฐบาล ก็ย่อมแพ้การเลือกตั้งแก่ฝ่ายรัฐบาลเสมอมา

แต่ก็สามารถเขย่าบัลลังก์พรรคที่รัฐบาลเผด็จการทหารก่อตั้งได้ เช่น ในกรณีการเลือกตั้งสกปรกในปี 2500 ทำให้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในปี 2502

ความคุกรุ่นที่ทำให้เกิดกรณี 14 ตุลาคม 2516 และแม้จะได้เป็นรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีจากประชาธิปัตย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ไม่อาจยับยั้งการทำรัฐประหารของฝ่ายทหารได้

หลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการนักศึกษาซึ่งมีการติดต่อกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สร้างความสับสนวุ่นวายจนเกิดสภาพอนารยะ ปกครองไม่ได้ หรือ anarchy จนมีรัฐประหารกวาดล้างขบวนการนิสิตนักศึกษา ทำให้นักศึกษาส่วนหนึ่ง “เข้าป่า” เพื่อร่วมกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย

แม้ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะถูกรัฐประหาร แต่ฝ่ายทหารก็ไม่ทำลายพรรคประชาธิปัตย์ เช่นเดียวกับที่ทำลายพรรคสหชีพ และพรรคแนวรัฐธรรมนูญที่เสนอเค้าโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมแบบสหกรณ์ หรือ state capitalism ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับโดยชนชั้นสูงและคนชั้นกลางระดับสูงในประเทศไทย

จนผู้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าวต้องยอมถอยและเนรเทศตนเองไปอยู่ที่ฝรั่งเศสชั่วคราว เมื่อเกิดกรณีสวรรคตขึ้นเมื่อปี 2489

พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาฝ่ายตรงกันข้ามโดย นายเลียง ไชยการ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ไปตะโกนกล่าวหาที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง จนในที่สุดก็มีการทำรัฐประหารโดย จอมพล ผิน ชุณหะวัณ บิดาของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แล้วไปเชิญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งพาประเทศเข้าร่วมกับญี่ปุ่น ในสงครามโลก

ครั้งที่ 2 เมื่อแพ้สงครามก็กลับไปเลี้ยงไก่อยู่ที่ลำลูกกา ที่ดินมรดกของท่าน กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

แต่ท่านขอให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีก่อน เพราะเกรงว่าฝ่ายพันธมิตรอันมี อังกฤษ ฝรั่งเศส คอยคัดค้าน และจะให้ปฏิบัติต่อประเทศไทยอย่างประเทศแพ้สงคราม

แต่เนื่องจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. รับเป็นหัวหน้ารัฐบาลเสรีไทย จึงรอดพ้นมาได้

เมื่อประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีเสียงมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 2 ของพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2535 พรรคประชาธิปัตย์ได้มีจำนวน ส.ส.มาก เป็นที่ 2 ต่อจากพรรคความหวังใหม่ แต่พรรคความหวังใหม่ไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

ตั้งแต่นั้นมาพรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่รอดปลอดภัยมาเรื่อย ไม่ว่าจะมีปฏิวัติรัฐประหาร หรือมีระบอบประชาธิปไตย สามารถเข้าร่วมรัฐบาลกับฝ่ายทหารได้ทุกครั้งในสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบ สามารถรักษาระบบรัฐสภาให้ถ่วงอำนาจกับกองทัพได้

พรรคการเมืองอื่นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ตามสถานการณ์ของประเทศที่มีการต่อสู้ระหว่างกองทัพกับพรรคการเมืองเรื่อยมา แต่ประชาธิปัตย์ก็ยังคงอยู่ต่อไป

เมื่อกระแสสังคมนิยมมาแรง เมื่อสหรัฐอเมริกาแพ้สงครามเวียดนาม ประชาธิปัตย์ต้องลู่ไปตามกระแสลมตะวันออกที่พัดแรง โดยเสนอลัทธิ “สังคมนิยมอ่อน ๆ” ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับของคนชั้นสูง ทั้ง ๆ ที่ไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร เพราะคำว่าสังคมนิยมย่อมเป็นที่แสลงหู

เช่นเดียวกับอเมริกาที่คำว่า สังคมนิยม เป็น “คำสกปรก” หรือ dirty word ในช่วงนั้นชื่อพรรคการเมืองมีคำว่า “สังคม” อยู่มาก แม้กระทั่งพรรคการเมืองที่ คุณพจน์ สารสิน เป็นหัวหน้า โดยมีจอมพลสฤษดิ์อยู่เบื้องหลัง ก็ใช้ชื่อพรรคว่าสังคมชาติ ซึ่งตรงกับชื่อพรรคนาซีว่า National Socialist พรรประชาธิปัตย์ก็อยู่ได้ แม้จะสลบไปชั่วคราว เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็ฟื้นคืนชีพ และชูนโยบายระบบเศรษฐกิจเสรี ขณะที่พรรค ๆ อื่นไม่กล้าจะเสนอเช่นนั้น

พรรคประชาธิปัตย์ในระยะที่กระแสการเมืองสนับสนุนพรรคไทยรักไทย ของทักษิณ ชินวัตร เพราะเสนอนโยบายที่โดนใจคนรากหญ้า หรือ grass root ซึ่งฝ่ายต่อต้านไม่อยากจะใช้คำนี้ โดยเลี่ยงไปใช้คนฐานราก หรือเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งไม่ทราบจะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างไร จะแปลว่า “root base” ก็คงไม่ใช่ จะแปลว่า “base root” ก็ฟังดูเชย และแปลไม่ได้ แต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้นำมาใช้จนถึงปัจจุบัน

ไม่สื่อความหมายอะไรเลย แต่ประชาธิปัตย์ก็ใช้ตามเมื่อ “นายหัว” ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคประจำภาคใต้และกรุงเทพฯ สามารถสร้างกระแสภาคนิยมได้สำเร็จ พรรคไทยรักไทยก็ทำตาม โดยสนับสนุนให้พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคประจำภาคอีสานและภาคเหนือได้สำเร็จ

และสามารถพิสูจน์ได้ว่า “ประชาธิปไตยนั้นกินได้” แต่เนื่องจากภาคอีสานและภาคเหนือมีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมากกว่าภาคใต้และกรุงเทพฯ สำหรับกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้น คะแนนในแต่ละเขตเหลื่อมกันไม่มาก

ในการเลือกตั้งคราวต่อไป จะย้อนไปสู่ระบบกองทัพจัดตั้งพรรคของตนเองลงสนามเลือกตั้ง เช่นเดียวกับเมื่อครั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา จอมพลสฤษดิ์ตั้งพรรคชาติสังคม

ต่อมาถึงจอมพลถนอม ตั้งพรรคสหประชาไทย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พรรคชาติประชาธิปไตย พรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.อ.สุจินดา คราประยูร พรรคสามัคคีธรรมของ คุณณรงค์ วงศ์วรรณ แต่ในที่สุดก็ล้มหายตายจากไปหมด เมื่อผู้อุปการคุณลงจากอำนาจไป แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงอยู่

เมื่อจะมีการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ ร่วมมือกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่เป็นกบฏแตกออกจากพรรคประชาธิปัตย์ โดยมี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นหัวหน้าพรรค เพื่อลงเลือกตั้ง แต่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงอยู่และคอยเข้าร่วมกับรัฐบาลทหารต่อไป ไม่เป็นฝ่ายค้านของรัฐบาลทหาร แต่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับพรรคเพื่อไทยต่อไป เพราะถ้าประกาศเสียแต่ต้น อย่างเดียวกับพรรค สุเทพ จัตุมงคล ก็เกรงว่าจะเสียคะแนนกับผู้ที่รักประชาธิปไตย ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยในพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะทำให้ชาวประชาธิปัตย์เวียนหัวกันโดยทั่วไป

ในยามที่มีการแตกกันอย่างรุนแรงระหว่างประชาธิปัตย์และ กปปส. ชัยชนะของหัวหน้าพรรคคนเดิมต่อตัวแทนของ กปปส. ที่แตกออกไปจากพรรคประชาธิปัตย์ และหวังจะส่งหมอ วรงค์ เดชกิจวิกรม มายึดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในกรณีนั้น นายอภิสิทธิ์คงต้องลงจากหัวหน้าพรรค แต่ด้วยบารมีของเทพเจ้าของชาวใต้ที่ได้โดดลงมาเดินสายช่วย นายอภิสิทธิ์จึงชนะการหยั่งเสียงด้วยคะแนนเพียง 9 พันคะแนนกว่า ๆ เท่านั้นเอง ซึ่งถ้าเทพเจ้าชาวใต้ไม่ลงมา พรรคประชาธิปัตย์คงต้องเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคไปแล้ว ไม่เช่นนั้นพรรคแมลงสาบอาจจะถูกจระเข้หน้าดำแขนคอกกลืนเข้าพรรค รปช.ไปแล้ว แต่ความเป็นพรรคแมลงสาบที่มีเทพเจ้าชาวใต้คุ้มครองอยู่ จึงรอดพ้นมาได้

แต่อย่างไรก็ชี้ให้เห็นความเป็นประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองพรรคเดียวที่อ้างได้ว่าเป็นพรรคการเมืองของสมาชิกพรรค ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แม้จะมีเทพเจ้าชาวใต้ซึ่งยังคงบารมีอย่างเหลือล้น

ยังมีรูปแขวนไว้เกือบทุกบ้าน ทุกอาคารในจังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่บางสะพานลงไปถึงสงขลา สุราษฎร์ธานีลงไปที่พูดภาษาไทยสำเนียงภาคใต้ ยกเว้น 4 จังหวัดภาคใต้ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน

ขอแสดงความยินดีกับประชาธิปัตย์อีกครั้งที่ยังคงอยู่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลต่อไป เพราะหน้าที่นี้ไม่มีใครทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญพอ ๆ กับการเป็นหัวหน้ารัฐบาล และหวังว่าประชาธิปัตย์คงไม่เข้าร่วมกับรัฐบาลพรรคพลังอำนาจรัฐ ซึ่งจัดตั้งโดยเหล่าบริวารของทหารผู้ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย สำหรับพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่แตกแยกออกไปก็ช่างเขาเถิด เขาไม่ใช่ประชาธิปัตย์แท้

ยินดีที่ประชาธิปัตย์รอด ไม่ถูกกลืนโดย กปปส.