“ชยิกา” มือโซเชียล ไทยรักษาชาติ พูดแทน “ชินวัตร” ถูกไล่ล่าจึงต้องสู้

สัมภาษณ์

ตำแหน่งแห่งหนในพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ของ “ชยิกา วงศ์นภาจันทร์” อาจไม่สำคัญเท่าตำแหน่งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค แม้แต่ตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่วางแผนเลือกตั้ง

ทว่า ชื่อ “ชยิกา” ไม่อาจมองข้าม

เพราะหากพรรค ทษช.ที่แตกตัวออกจากพรรคเพื่อไทย มีรากเหง้ามาจากชื่อ-นามสกุล “ทักษิณ ชินวัตร” มีจ็อบเดสคริปชั่น เพื่อสะสมแต้มบัญชีรายชื่อให้กับพรรคเพื่อไทยจริง เธอก็คือหลานแท้ ๆ ของ “ทักษิณ” เพราะเป็นลูกของน้องสาว “เยาวเรศ ชินวัตร”

และย้อนไปในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “ชยิกา” เป็นมือโซเชียลมีเดียของพรรคเพื่อไทย และของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ปลุกปั้น 49 วัน ให้ “น้าแท้ ๆ” ของตัวเองเดินพรมแดงเข้าสู่ตึกไทยคู่ฟ้า โดยเธอดูงานด้านอีเวนต์การเมือง-นโยบายต่างประเทศให้กับเพื่อไทย และยังเคยทำ mobile payment สมัยอินเทอร์เน็ตยังไม่เฟื่องฟู ยุคที่ AIS ยังเป็นของอาณาจักรชินวัตร

แคแร็กเตอร์ ทษช.บนโซเชียล

เมื่อฤดูกาลเลือกตั้งปี 2562 มาถึง “ชยิกา” สับสวิตช์มาอยู่ ทษช. เปิดตัวเป็นนายทะเบียนพรรค ควบคู่กับการดูแลโซเชียลมีเดียของพรรค เธอเปรียบเทียบความแตกต่างในสมรภูมิเลือกตั้งบนโซเชียลมีเดียเมื่อปี 2554 กับปัจจุบัน ต่างกันหน้ามือเป็นหลังมือ

“บริบทเปลี่ยนไปเยอะมาก อย่างแรกต้องปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี ต้องใช้ข้อมูลเข้ามาช่วยมากขึ้น ซึ่งตอนช่วย นายกฯยิ่งลักษณ์ เน้นเน็ตเวิร์กกิ้งคุยกับคน แต่ปัจจุบันเป็นเรื่องการฟังว่าคนต้องการอะไร คนในอินเทอร์เน็ตต้องการอะไร พูดถึงเรื่องอะไร เทรนด์ในอินเทอร์เน็ตพูดถึงอะไร ต้องใช้เครื่องมือตรงนี้มากขึ้น และต้องเปิดรับ เข้าใจพฤติกรรม ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในแต่ละแพลตฟอร์ม ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ต้องจัดการให้ได้ 180 องศามากขึ้น และต้องปรับให้เข้ากับกิจกรรมของจริงด้วย”

เมื่อ ทษช.แตกตัวมาจากเพื่อไทย จะวางแคแร็กเตอร์บนโซเชียลมีเดียอย่างไรให้แตกต่าง และไม่ทับซ้อนกับเพื่อไทย “ชยิกา” แจกแจงว่า

“อย่างแรกที่ต่างจากเพื่อไทย คือมีคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เป็นคนรุ่นใหม่ ไม่ได้บอกว่าพรรคนี้เป็นของคนรุ่นใหม่อย่างเดียว แต่เป็นพรรคของคนที่มีวิสัยทัศน์ทันสมัย และนำประสบการณ์นั้นมาใช้ในมุมมองแบบใหม่ ๆ เอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับนโยบาย”

“ทุกคนพูดว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนที่ทำโซเชียลมีเดีย ในปี 2554 วันนั้นมีคนใช้เฟซบุ๊กอยู่ประมาณแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่วันนี้ 60-80 เปอร์เซ็นต์ และ ณ วันนั้นคนยังไม่ได้ใช้แพร่หลาย แต่วันนี้คนคนหนึ่งอยู่ จ.น่านที่อยู่บนภูเขา ทุกคนยังต้องมีไลน์ เราจะเน้นเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้กับคนหมู่มากอย่างไร ทำอย่างไรที่จะใช้เทคโนโลยีให้เข้าถึงกำลังซื้อที่มีอยู่ทั่วโลก เข้าถึงการศึกษาที่ทันสมัยที่มาจากทั่วโลก ไม่ได้มาเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ตรงนี้คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องการ”

ยันคนรุ่นใหม่มีที่ยืน

ในช่วงการเปิดตัว ทษช. เต็มไปด้วยภาพของคนรุ่นใหม่ แต่การปรากฏตัวของ “จาตุรนต์ ฉายแสง” ที่เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค “พิชัย นริพทะพันธุ์” อดีต รมว.พลังงาน ดาวไฮปาร์กอย่าง “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” เลขาธิการ นปช. และนักการเมืองหน้าเก่า-เก๋า จากพรรคเพื่อไทย ย้ายข้างมา ทษช. จะทำให้ “บทบาท” คนรุ่นใหม่ถูกกลบไปหรือไม่

(สวนทันที) “ไม่นะ เราคิดว่าในการบริหารงานพรรคระยะยาว ในวันที่กฎหมายเปิดให้พรรคทำ เราสามารถที่จะแสดงตัวตนออกมาและหัวหน้าพรรค และพรรคจะต้องแสดงวิสัยทัศน์ อยากให้ประชาชนรอพิจารณาจากตรงนั้น”

“และเราก็มั่นใจในตัวหัวหน้าพรรค เพราะหัวหน้าพรรคเป็นดาวสภาเหมือนกัน เขามีความตั้งใจทำงาน ตั้งแต่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าไม่เคยเห็นเขาหยุดทำงานแม้กระทั่งป่วย ยังมีช่องว่างให้ทีมเราได้แสดง”

เป็นหลานทักษิณก็ลำบาก

แต่ก่อนจะมาลงเอยเป็นนายทะเบียนพรรค ทษช. เธอเป็น 1 ใน 3 ทายาทนักธุรกิจอาณาจักร “ชินวัตร” รุ่นใหม่ เคียงคู่กับ “พานทองแท้ ชินวัตร”

บุตรชายทักษิณ “ชยาภา วงศ์สวัสดิ์” ลูกสาวบ้าน “สมชาย-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์”

และ “ชยิกา” ขณะนั้นเธอทำโครงการบ้านจัดสรรอยู่ จ.ภูเก็ต เมื่อปี 2549

เธอยอมรับว่าวันนั้นไม่เคยคิดจะเล่นการเมือง…แต่การรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อค่ำ 19 ก.ย. 2549 คือ จุดเปลี่ยนในชีวิต

“ก่อนหน้านั้น ไม่เคยสนใจเรื่องการเมือง มัวแต่ทำธุรกิจ มีคนไปดู ดวงแล้วบอกว่าจะเป็นนักการเมือง

คนเดียวในบ้าน เลยบอกว่าไม่เชื่อ แต่พอร

ัฐประหารปี 2549 ทำให้รู้สึกว่า ขนาดเราไม่อยู่ในการเมือง ยังได้รับผลกระทบ”

“ความเชื่อมั่นของลูกค้าหายไปพร้อมกับสถานการณ์การเมือง เช่น ลูกค้าจอง

บ้านไว้แล้ว สัญญาจองกำลังจะเซ็น แต่พอรัฐประหาร เขายกเลิก ไม่ได้เซ็น เปลี่ยนใจ”

“เวลาจะกู้เงินทำธุรกิจอะไร เขาไม่ให้บ้านนี้กู้ ยิ่งใครที่เป็นคนใกล้ชิดกับตระกูลชินวัตร เขาไม่ให้ คนไม่รู้ว่าเป็นความจริง แต่เราบอกว่า เป็นความจริง”

“รัฐประหารครั้งแรก เราก็รู้ว่าครอบครัวต้องโลว์โปรไฟล์ น้องอยู่ข้างนอกต้องรีบกลับเข้าบ้าน ส่วนตัวก็ตกใจมาก ไม่เข้าใจว่าคืออะไร”

“ถ้าไม่มีรัฐประหาร 49 วันนี้คงไม่มาทำงานการเมือง ถ้าไม่ใช่วันนั้นเราไม่เข้ามา เพราะรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม เพราะจะทำอะไรกันขนาดนั้น ตอนนั้นยังไม่มีลูก ยังไม่มีแฟน ยังโสด อายุ 24 กำลังเอ๊าะ ผ่านมาถึงวันนี้มีลูกแล้ว ยังไม่จบเลย”

“และพอเกิดความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น สิ่งที่เจ็บปวดที่สุด คือ เพื่อนเรา คนที่อยู่ในสังคมเดียวกันต้องมาโกรธเรา เพราะเข้าใจอะไรเราผิด มีข่าวว่าเสื้อแดงทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราไม่ได้รู้เรื่อง ไม่ได้อยู่ในม็อบ แต่เราโดนโกรธด้วย ทำให้คนที่เรารักรอบ ๆ ตัวเราแตกความคิดกัน ทำให้เป็นรอยร้าวลึกลงไปในใจเรา และฝังใจเรา”

ลูก ๆ ของ “ทักษิณ” มักโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียว่า “เป็นลูกทักษิณลำบาก”

แล้วในฐานะที่เป็น “หลานทักษิณ” ลำบากหรือไม่ เธอตอบว่า

“เราอาจจะน้อยกว่าบ้านใหญ่ คุณโอ๊ค

คุณเอม คุณอิ๊ง ได้รับผลกระทบเยอะสุด เราเพียงได้รับผลกระทบโดยรอบ เรายังรู้สึกขนาดนี้ แล้วเขาจะรู้สึกขนาดไหน วันนี้เราตั้งใจเข้ามาทำงานให้ประเทศ น้าเรา (น.ส.ยิ่งลักษณ์) ตั้งใจทำงานให้ประเทศ แต่สถานการณ์ที่เป็นไปกลับทำให้กลายเป็นแบบนี้…”

“และอีกสาเหตุที่มาทำการเมือง

ก็เพราะมีการไล่ล่าทางการเมือง และบีบจนทำให้เราไม่มีที่ยืน และเมื่อไหร่ที่ทำให้คนต้องต่อสู้จนไม่มีที่ยืน คนนั้นเขาจะลุกขึ้นมาสู้ ก็ไม่ต่างอะไรกับเราที่กำลังถูกไล่ล่า ทั้งที่ไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน จนเราต้องคิดว่าไม่ไหวแล้ว ต้องเข้ามาช่วย”

กับคำครหาว่า พรรค ทษช. มีแต่ลูกหลานทักษิณ จะตอบว่าอย่างไร เธอตอบว่า “คนทุกคนต้องเป็น

ลูกหลานใครสักคน แต่เราอาสาเข้ามาทำงานการเมืองเพราะเรามีความเชื่อว่า เราอยากมาทำตรงนี้เพื่อประโยชน์สังคม ขอให้พิจารณาจากความรู้ความสามารถและความตั้งใจทำงานของ

เรา มากกว่าลูกหลานใครสักคน”