สุวิทย์ : นายกฯทหารต้องกล้าหาญ ประชานิยมไม่พอ ต้องประชารัฐสร้างชาติ

เป็น 1 ในทีมงานเบื้องหลัง นโยบายในตำนาน-หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ในยุครัฐบาลไทยรักไทย (ทรท.) ปัจจุบันเป็นมือเขียน “พิมพ์เขียว” ประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ของรัฐบาล-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

วันนี้ “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวมหมวกรองหัวหน้าพรรค-หัวหอกการวางนโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

เขายอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ระคนความหนักใจกับการสื่อ-สารนโยบายให้ประชาชนเข้าใจเป็นเรื่องยาก เพราะไม่โดนใจ-จับต้องไม่ได้ ดังนั้น ประเด็นท้าทาย คือ จะสื่อสารนโยบายอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจภูมิทัศน์ใหม่

“ต้องใช้ความกล้าทางการเมือง ถ้าพรรคแคร์แต่เรื่องโหวตก็จะไม่มีอะไรต้องเจ็บปวด เพราะคิดถึงคะแนนเสียงอย่างเดียว แต่บางเรื่องเป็นยาขมแต่บางเรื่องไม่ใช่เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป บางเรื่องเป็นนามธรรมก็จริง แต่เป็นการเปิดโอกาส กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค สร้างความเข้มแข็งสู่ท้องถิ่น สร้างความแข็งแกร่งให้กับคนทุกคนมีที่ยืนเท่า ๆ กัน”

“บิ๊กตู่” มี Vision-Action

ไม่ว่า 100 ที่นั่ง “เป็นอย่างต่ำ” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า และจะเสนอชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็น 1 ในนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรค เป็นการพูดบนสมมุติฐาน “ความจริง” หรือเพียงเพราะกลอน (การเมือง) พาไป แต่เป้าหมายหลัก คือ เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

“อุตส่าห์ตั้งเป้า ต้องหวังว่ามีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลจะไปถ่อมตัวทำไม ทำทั้งทีก็ไม่อยากเป็นพรรคตัวแปร ต้องเป็นพรรคหลักในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย เพื่อความต่อเนื่อง”

“คนที่มี spirit เป็น champion ในเรื่องนี้ เป็นใครล่ะ ก็ท่านนายกฯประยุทธ์ไง เราจึงอยากรักษาโมเมนตัม ในเรื่องวิสัยทัศน์ ซึ่งท่านชูมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไทยแลนด์ 4.0 การเดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

“ความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนประเทศในเชิงนโยบาย การปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง การมียุทธศาสตร์ชัดเจนเพื่อไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 จะมีใครล่ะ ถ้าไม่ใช่คนที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จริงเปล่าล่ะ ในใจผมเลย คือ พล.อ.ประยุทธ์”

“สิ่งที่ท่านทำมาตลอด 4 ปี ครอบคลุมในระดับหนึ่งในนี้อยู่แล้ว เราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ รัฐบาลชุดนี้โดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำไประดับหนึ่งอยู่แล้ว อย่างน้อยมีความต่อเนื่อง”

ทว่า การชู “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯในบัญชี อาจเป็น “จุดอ่อน” ของพรรคในคราวเดียวกัน

“ต้องใช้ความกล้าหาญทางการเมือง ณ วันนี้ เราต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และมี action อย่างน้อย 3-4 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์มี vision และ action ให้ดูแล้ว พิสูจน์อะไรได้บางอย่าง ไม่ต้องมานั่งเดาว่า ที่วาดฝันไว้แล้วทำได้จริงหรือเปล่า ที่เหลือ คือ continuity”

“ทุกคนมีอาชีพเก่าทั้งนั้น เป็นทหารเก่า ลบยังไงก็ลบไม่ออก อยู่ที่ว่าจากนี้ไป คุณจะทำอะไรให้ประเทศ เป็นทหารผิดตรงไหน ประวัติศาสตร์จะเป็นตัวบอก ไม่มีอะไรโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพียงแต่เป็นกติกาใหม่ ถ้าจะลงมาก็ต้องอยู่ในวิถีนี้ ต้องเจ็บปวดบ้างเป็นเรื่องธรรมดา”

ขาย Big Idea-Big Challenge

ประกาศเป็นพรรคทางเลือกใหม่-ทางออกประเทศ นโยบายที่จะเป็น new politics (การเมืองแบบใหม่) คือ การมีอุดมการณ์ทางการเมืองชัดเจน เพื่อ reform-transform ประเทศ

“สิ่งที่เราคิดตอบโจทย์คนส่วนใหญ่หรือเปล่า คนส่วนใหญ่ยังต้องการสิ่งนี้หรือไม่ เพราะประเทศไทยยังมีอะไรที่ต้องซ่อม เสริม สร้างอีกเยอะ ถ้าไม่คิดการใหญ่จะมีประโยชน์อะไร ทำไปทำไม แต่ถ้าเป็นพรรคอะไหล่ พรรคเสริม เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

“ฉะนั้น ต้องมี big idea ให้ประชาชนต้องซื้อให้ได้และมีเสียงที่เพียงพอ ไม่ได้ซื้อเพื่อระยะสั้น แต่ซื้อเพื่ออนาคตประเทศด้วย เพื่อเตรียมประเทศไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 เพราะมี big challenge ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่”

ปลดหนี้-มีเงินออม

เขาอ่านใจประชาชนว่า ประชาชนต้องตัดสินใจเองว่า จะซื้อหรือไม่ เพราะเป็น “พรรคของประชาชน”

“ต้องถามว่าประชาชนส่วนใหญ่ยัง OK อยู่หรือเปล่า หนึ่ง ยังมีหนี้สินอยู่ จะทำอย่างไรให้ปลด ลดหนี้ เพราะเป็นตัวเหนี่ยวรั้งและมีเงินออม จะทำต่อจากรัฐบาลนี้อย่างไร”

“อีกทั้ง การสร้างสังคมสวัสดิการ ที่ผ่านมามีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นแพลตฟอร์มขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อเป็นแต้มต่อให้กับประชาชน เกิดสังคมที่เท่าเทียม ควรทำต่อเพื่อเปลี่ยนสังคมให้เป็นรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่ประชานิยมเหมือนในอดีต”

ขาดต้องเติม เกินต้องแบ่งปัน

แม้นโยบายภายใต้รัฐบาล-คสช.ถูกตั้งคำถามว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นนโยบายประชานิยมอย่างอ่อน ? เขาปฏิเสธทันควัน

“จะเป็นประชานิยมได้ยังไง หลักการ คือ ต้องการสร้างสังคม 2 แบบ คนที่ขาดก็ต้องเติม คนที่เกินก็ต้องรู้จักปัน สร้างสังคมเกื้อกูลและแบ่งปัน การขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ บัตรสวัสดิการเป็นเพียงแพลตฟอร์มหนึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ยังไม่พอ ที่สุดแล้วควรมีสวัสดิการเฉพาะเจาะจงคน โดยการใช้ big data เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาด ทำให้คนเดือดร้อนอยู่รอด เป็นรัฐสวัสดิการ”

สร้าง-เสริม-ปรับ-เปลี่ยน

สำหรับ step ที่ 2-3-4 ของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือ คนที่อยู่รอดแล้วพอเพียงและยั่งยืน โดยการทำให้มีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ มีโอกาส ยืนอยู่บนขาของตัวเอง เพื่อไม่ให้ติดกับดักประชานิยม…วันนี้ ประชานิยมอย่างเดียวไม่พอแล้ว”

“ไม่ใช่เพียงแค่เติมเงินอย่างเดียว แต่ตอนนี้ต้องเติมให้คนที่พร่องให้เต็ม เติมให้คนที่เดือดร้อนและกำลังจะตายให้เขาก่อน จึงต้องเริ่มด้วยสวัสดิการ เพื่อสร้างสังคมสวัสดิการ เป็นพื้นที่และหลักประกันให้ทุกคนเท่าเทียมกันก่อน”

“เมื่อไม่พอต้องให้พอ ถ้าพอแล้วก็ต้องรู้จักหยุด แต่เมื่อเกินแล้วก็ต้องรู้จักปัน เกิดเป็นสังคมเกื้อกูลและแบ่งปัน (sharing society)”

“คีย์เวิร์ด-นโยบายของพลังประชารัฐ มี 4 คำ คือ สร้าง-เสริม-ปรับ-เปลี่ยน สร้างหลักประกันสังคม เสริมความเข้มแข็งฐานราก ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เปลี่ยนการบริหารราชการไปสู่รัฐที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง”

เขาลงลึก-เปิดลูกย่อย 4 เรื่อง โดยมี 1.เรื่องหนี้ 2.สวัสดิการ และ 3.การสร้างสังคมเกื้อกูลและแบ่งปัน เป็น 3 เรื่องหลัก เรียกว่า “สังคมประชารัฐ”

ไส้ในนโยบาย พปชร.

ลูกย่อยที่หนึ่ง คือ สร้างหลักประกัน 3 เรื่อง 1.สวัสดิการแห่งรัฐ สุขภาพถ้วนหน้าหมดหนี้ มีเงินออม รวมถึงสังคมสีขาว ปลอดภัย ปลอดยาเสพติด และปลอดโรค

ลูกย่อยที่สอง คือ สร้างความเข้มแข็งของฐานราก-เกษตรยั่งยืน หนึ่ง เตรียมคนไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 สอง ชุมชนเข้มแข็ง ติดถิ่น ไม่เกิดครอบครัวแหว่งกลาง เกิดเป็น local economy การจ้างงานในชุมชน เกษตรกรเป็น SMEs เกษตร สาม กระจายอำนาจ กระจายโอกาส กระจายความเจริญในระดับภูมิภาคให้มากขึ้น (beyond EEC) คือ SEC NEC และ NEECระดับเมือง หรือศูนย์กลางการเติบโตที่หลากหลาย (multiple growth Poles) 15 เมืองหลัก 15 เมืองรอง ระดับย่านนวัตกรรม สร้างสรรค์ อุทยานวิทยาศาสตร์กระจายตัว ระดับชุมชน คือ แหล่งท่องเที่ยวชุมชน 1,000 แห่ง

ลูกย่อยที่สาม การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ 4 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบเศรษฐกิจยั่งยืน (bioeconomy-circular economy-green economy : BCG model) เป็นแพลตฟอร์มสร้างความมั่งคั่ง เพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

2.ระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (innovation economy) เช่น สตาร์ตอัพ เปลี่ยนผู้ผลิตจากอุตสาหกรรมเป็นนวัตกรรม 3.ระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) 4.ระบบเศรษฐกิจฐานข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (AI & data Economy) และลูกย่อยที่สี่ การปรับการบริหารราชการแผ่นดินสู่รัฐบาลที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ต้องชนะเลือกตั้งเท่านั้น

หลังจากนี้ แกนนำ พปชร.จะนำนโยบายไปขาย-หาเสียง โดยแยกย่อยไปตามกลุ่มเป้าหมาย โดยมี “เส้นชัย” ชนะเลือกตั้ง-100 ที่นั่งขึ้นไป

“นี่เป็นแนวคิดในการเปลี่ยนประเทศ เรียกว่า ประชารัฐสร้างชาติ อย่างน้อยข้างล่างคนที่ยังด้อยโอกาสอยู่ หลักประกันในเรื่องหนี้เราดูแล มีเงินออม เรื่องสวัสดิการไม่ให้ห่วงหน้าพะวงหลัง ก๊อกที่สอง เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ก๊อกที่สาม เดินไปข้างหน้าด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

คำถาม คือ ทำอย่างไรให้คนซื้อ เพราะเป็นยาขม ท้าทายตัวเองและพรรค

“ถ้าคนซื้อเรามาก โอกาสที่เราจะทำให้การเมืองเปลี่ยน…เป็นการปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง”

“เราเชื่อว่าสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำ คือ ภาพปัจจุบัน แต่ต้องมีอนาคต มีหลายอย่างที่เราเติมเข้าไปอีกเยอะ เน้นความต่อเนื่อง สิ่งที่ดีมีอยู่แล้ว เหมือนมีรากให้ต่อดอกออกผล ถึงเวลาแล้วที่ไทยจะทะยานไปสู่โลกที่ 1”

ทว่า เมื่อถึงเวลาตีระฆังขึ้นเวทีแข่งขัน-การเลือกตั้ง นโยบายสวยหรูอาจจะไม่มีการถกเถียง แต่เป็นเรื่องการเอา-ไม่เอาทหาร-นายกฯคนนอก รื้อ-ไม่รื้อรัฐธรรมนูญ-ยุทธศาสตร์ชาติ

“นี่เป็นปัญหาของการเมืองไทย เพราะถ้าไปหาเสียง ลงพื้นที่แล้วเอาเรื่องนี้ไปพูด โอกาสสอบตกมี แต่ต้องพูดให้เข้าใจว่าเป็นนโยบายปัจจุบันบวกอนาคต เป็น new politics การเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งใหญ่ให้ดีขึ้น”

“แต่การเป็นรัฐบาลไม่ใช่ทำแต่ในสิ่งที่คุณพูด แต่ต้องทำในสิ่งที่ไม่ได้พูดอีกเยอะแยะด้วย ไม่อย่างนั้นจะติดกับดักซื้อโหวตต่อ ไม่อย่างงั้นเสถียรภาพของรัฐบาลหาย”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!