“บิ๊กตู่” กำกวม กั๊กไทม์ไลน์เลือกตั้ง ลุ้น ม.44 ขยับเส้นตายสังกัดพรรค-สมัคร ส.ส.

11 ธันวาคม 2561 เป็น “จุดสตาร์ต” ของพรรคการเมืองบนสนามเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 ภายหลัง “พ้น 90 วัน” ที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. 2561 มีผลบังคับ

4 ปีเต็มที่พรรคการเมืองเก่า-ใหม่ (ยกเว้นบางพรรค) ถูกแช่แข็ง หัวหอก-แกนนำพรรคการเมือง “ขั้วตรงข้าม” รัฐบาล-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกมัดมือ-มัดเท้า-หมายหัว ด้วย “คำสั่งพิเศษ”

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ประชุมร่วมกับพรรคการเมือง 75 พรรคกลาง-เล็ก ไร้เงาพรรคใหญ่ ส่วนใหญ่ที่มา ล้วนเป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่-พรรคจอมกั๊ก-จอมเสียบ ที่ไม่แสดงตัว-ตนว่าอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายเผด็จการ เพื่อไม่ต้องการผูกมัดเป็นพรรคฝ่ายค้าน-เปิดช่องในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อปักหมุดเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา

มีการวิเคราะห์ในพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อวาง “กติกาซ้อนกติกา” เพื่อเอื้อให้กับพรรคการเมืองที่สนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” ให้เป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัยติดต่อกัน โดยมีหมุดหมายการเลือกตั้งจะไม่เลื่อนออกไป

“ในที่ประชุมมีพรรคการเมืองที่ต้องการให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป ไม่ใช่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จำนวน 1-2 พรรค เนื่องจากไม่สามารถสมัครสมาชิกและสังกัดพรรคการเมืองได้ก่อน 90 วัน เพื่อลงสมัครเป็นผู้รับการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ทัน”

“พรรคการเมืองจึงเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งมาตรา 44 เพื่อลดวันการสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง จาก 90 วัน เหลือ 30 วัน ในการสังกัดพรรคการเมือง เพื่อเป็นผู้สมัคร ส.ส. จะได้ไม่ต้องเลื่อนเลือกตั้ง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็รับไว้พิจารณาทุกข้อเสนอ” นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ

ขณะที่สัญญาณ “คลายล็อก” เพื่อให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมอย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งตามโรดแมปเต็มตัว ถูก “ผูกกับ” ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ยังต้อง “ลุ้นระทึก” หากมีเหตุการณ์ “ไม่คาดฝันเกิดขึ้น”

“ยังเชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมป แต่หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น อาจต้องปรับเปลี่ยน วันเลือกตั้งอาจต้องเลื่อนออกไป” นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ยัง 50/50 ว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

“เป็นเงื่อนไขที่ไม่มีใครสามารถกำหนดได้ อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ รัฐบาลยืนยันกำหนดวันเลือกตั้งเดิม คือ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562” นายพุทธิพงษ์-โฆษกทำเนียบ สำทับข้อกังวลดังกล่าว แต่ก็ปักหลักไม่ให้เซจนเสียการทรงตัว

ทว่า 2 พรรคการเมืองใหญ่ พท.-ปชป. ที่ซุ่มสังเกตการณ์อยู่ภายนอกวง-วอร์รูม ถึงแม้จะไม่เข้าร่วมพิธีกรรม แต่ก็ “เงี่ยหูฟัง” ผลการประชุมที่จะออกมาว่า พรรคการเมืองได้ขยับแขน-ขาได้สุดเหยียด การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงตามโรดแมปหรือไม่ โดยเฉพาะการอนุญาตให้พรรคการเมือง “หาเสียง” ได้

“คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การเลือกตั้ง พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา คาดว่า พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง จะประกาศในวันที่ 2 มกราคม 2562 ถ้า พ.ร.ฎ.เลือกตั้งออกมาในวันดังกล่าว พรรคการเมืองจะสามารถหาเสียงได้ทันที” พุทธิพงษ์อดีตนักการเมือง-แกนนำม็อบ-โฆษก พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

“ดร.วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายประจำทำเนียบรัฐบาล เคยอธิบายไว้เมื่อครั้งแถลงโรดแมปการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 ตอนหนึ่ง และได้ถูกนำมาฉายซ้ำอีกครั้งกับ 75 พรรคการเมือง

พรรคการเมืองถูก “ล็อก 3 ชั้น” นอกจากคำสั่ง-ประกาศ คสช. 2 ฉบับดังกล่าวแล้ว ยังมี พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 173-175 เพราะกำหนด “ห้ามหาเสียง” จนกว่าจะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การเลือกตั้ง

“คืออีกล็อกหนึ่งที่ไม่สามารถจัดการได้ ต่อให้เราปลดล็อกคำสั่งและประกาศ คสช. สองฉบับ เพราะจะติดล็อก พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.อีก เป็นเรื่องล็อกต่อล็อก”

ตามไทม์ไลน์โรดแมปการเลือกตั้ง “ดร.วิษณุ” แจกแจงไว้ว่า เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ครม.จะพิจารณาร่าง พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ

เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งแล้ว กกต.จะออกประกาศวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร และจำนวน ส.ส.เขต ภายใน 5 วันนับจากประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง

หลังจากมีการประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง คสช.จะปลดล็อกทางการเมืองให้พรรคดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ โดยในช่วงเดือนมกราคม 2562 จะมีการเปิดรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.-ต้องยื่นรายชื่อนายกรัฐมนตรีในบัญชี ให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ปลดล็อกพรรคการเมืองธันวาคม 2561 ประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง 2 มกราคม 2562 เพื่อให้พรรคการเมืองเริ่มหาเสียงได้

แต่ตราบใดที่ยังไม่มี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ไทม์ไลน์เลือกตั้ง 24 ก.พ.62  ก็ยังไมใช่คำตอบสุดท้าย

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!