“มาร์ค” ชู 10 นโยบายด้านการศึกษา “เกิดป๊ับ รับสิทธิ์เงินแสน”-เบี้ยเด็กเข้มแข็ง 8 ปี 1,000 บาทต่อเดือน

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค พร้อมด้วยนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพรรค ประกาศ “นโยบายการศึกษา” ประเดิมนโยบายแรกเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้ง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเด็กตาม 7 เป้าหมายหลัก คือ สุขภาพดี มีทักษะการคิดวิเคราะห์ มีทักษะ 2 ภาษา มีทักษะในการใช้เทคโนโลยี มีคุณธรรมและจิตสาธารณะ เข้าใจสิทธิและหน้าที่และมีทักษะชีวิต

นอกจากนี้ พร้อมแก้ปัญหาหลักการศึกษาไทย ได้แก่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาคุณภาพเด็ก ปัญหาคุณภาพการเรียนการสอน ปัญหาความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขด้วยการเปลี่ยนโครงสร้างทั้งระบบ ย้ำจุดยืนเดิมของพรรคที่ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา ด้วยการกระจายอำนาจจากกระทรวงมุ่งตรงสู่โรงเรียน ยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กไทยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยทำงาน

“คุณภาพการศึกษาไทยมีปัญหาในทุกช่วงชั้น โดยเฉพาะช่วงเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญมากที่สุดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ปัญหาหลักด้านการศึกษาในปัจจุบันมีหลายเรื่อง ได้แก่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำปัญหาคุณภาพเด็ก ปัญหาคุณภาพการเรียนการสอน ปัญหาความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเริ่มจากการกระจายอำนาจไปที่ระดับโรงเรียน เพิ่มอำนาจการบริหารจัดการตัวเอง ให้เป็นโรงเรียนที่ประชาชนเป็นเจ้าของโดยแท้จริง ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหาร มีการพัฒนาบุคลากรครูและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน รวมถึงการสร้างความพร้อมของเด็กใน 7 เป้าหมาย คือ 1.สุขภาพดี 2.มีทักษะการคิดวิเคราะห์ 3.มีทักษะ 2 ภาษา 4.มีทักษะในการใช้เทคโนโลยี 5.มีคุณธรรมและจิตสาธารณะ 6.เข้าใจสิทธิและหน้าที่ และ 7.มีทักษะชีวิต” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องการศึกษามาโดยตลอด และมีผลงานทางด้านการพัฒนาการศึกษาที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง พรรคฯ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า หากเด็กไทยได้รับโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดี มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ได้รับสวัสดิการของรัฐในการดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิด มีเงินอุดหนุนที่เพียงพอตั้งแต่ปฐมวัย มีศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ มีการศึกษาที่ได้คุณภาพครอบคลุมทุกมิติในทุกระดับชั้นจะเป็นการสร้างรากฐานที่ดีให้กับอนาคตของประเทศ เพื่อให้มีความพร้อมและทักษะในการทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และพรรคฯ ยังสนับสนุนเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีทางด้านการศึกษาเข้ามาใช้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและประเทศไทยในอนาคต

“พรรคมองว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่และเร่งด่วนที่สุดที่ต้องได้รับการแก้ไข ถึงแม้การลดความเหลื่อมล้ำในระยะสั้นต้องมีมาตรการการแก้ไขปัญหาปากท้องและราคาพืชผลเกษตร แต่พรรคฯ เชื่อมั่นว่าการขจัดความเหลื่อมล้ำในอนาคตอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีการยกระดับการศึกษา ให้ลูกหลานของคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากนโยบายที่เน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียม”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปชป.ได้กำหนด 10 นโยบายหลักด้านการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพเด็กไทย ดังนี้ 1.เกิดป๊ับ รับสิทธิ์เงินแสน เบี้ยเด็กเข้มแข็ง 0-8 ปี 1,000 บาทต่อเดือน แบบถ้วนหน้า เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงของเด็กตั้งแต่แรกเกิด

2.ศูนย์เด็กเล็กคุณภาพดีทั่วไทย จัดการศึกษาปฐมวัยให้มีคุณภาพ พัฒนาหลักสูตรที่เน้นกระบวนการคิด เพิ่มครูปฐมวัยทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กมีการพัฒนาเติบโตอย่างมีคุณภาพในทุกด้านทั้งทางสมอง ร่างกาย จิตใจและอารมณ์

3.อาหารเช้า-กลางวันฟรี มีคุณภาพ สนับสนุนค่าอาหารเช้าและอาหารกลางวันฟรี ให้กับนักเรียนระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผ่านสถานศึกษา โดยคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการที่นักเรียนควรได้รับ

4.เด็กทุกคนพูดภาษาอังกฤษได้ (ด้วย English for All) จัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษโดยเจ้าของภาษา เน้นทักษะการสื่อสารตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล โดยเฉพาะการพูดและการฟัง พร้อมส่งเสริมให้มีการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อนำไปสู่การใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 ของสังคมไทย

5.ปรับหลักสูตรเพื่อโลกอนาคต ตั้งแต่ระดับชั้นประถมที่เน้นการคิดวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำระดับมัธยมต้นเน้นการค้นพบตัวเอง ระดับมัธยมปลายเน้นการเลือกเรียนวิชาที่ถนัดและตรงตามเป้าหมาย และระดับมหาวิทยาลัยเน้นลดภาระและขั้นตอนการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

6. เรียนฟรีถึง ปวส.จบแล้วมีงานทำ สนับสนุนเรียนฟรี ปวช. และ ปวส. ในอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน ทั้งสายช่างและสายพาณิชย์พัฒนาระดับฝีมือ ทักษะการท างานจริง เพื่อผลิตบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนต้องแต่ต้นจนจบ

7. การศึกษาตลอดชีวิต คูปองเพิ่มทักษะสำหรับผู้ใหญ่ แจกคูปองเพิ่มทักษะ และส่งเสริมการเรียนรู้ เพิ่มเติมทักษะในด้านต่าง ๆ สำหรับประชาชนทุกช่วงวัย ให้ทันสมัยและทันต่อความเปลี่ยนแปลง เพิ่มโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ

8.คืนครูให้นักเรียน ลดภาระงานของครูที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน เช่น งานธุรการ และปรับวิธีการประเมินครู โดยใช้คุณภาพของนักเรียนเป็นตัวชี้วัดผลงานของครู

9.จัดตั้งกองทุน Smart Education เพื่อสนับสนุน Social Enterprise และ Startup ทางด้านการศึกษา รวมถึงการนำเทคโนโลยี EdTech (Education Technology) มาใช้เพื่อการพัฒนาการเรียนการสอน และการสอบ ให้มีประสิทธิภาพและ 10. กระจายอำนาจจากกระทรวงสู่โรงเรียน