“สมชัย” ชงแคมเปญนอกแฟ้ม ปชป. ไม่เอาทักษิณ ไม่เลือกทหาร เทคะแนนให้อภิสิทธิ์

สัมภาษณ์พิเศษ

“สมชัย ศรีสุทธิยากร” อาจเป็นนักการเมืองไม่กี่คนที่ สวมทุกบทบาทบนถนนการเมืองเขาเป็นเอ็นจีโอ ตรวจสอบการเลือกตั้ง กระโดดมาเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กระทั่งถูกคำสั่งพิเศษปลดจากตำแหน่ง ลงเอยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
อดีต กกต.สายล่อฟ้า ให้คำตอบกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่เข้าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นประโยชน์หรือสร้างภาระให้กับพรรคเก่าแก่ 72 ปี

Q : มองการเมืองใน 3 สถานะแบบไหน

ในฐานะพีเน็ตเป็นผู้สังเกตการณ์ ทั้งเหนื่อย ทั้งเสี่ยง เพราะการเมืองผู้มีอำนาจ ผู้มีอิทธิพล กระทั่งรัฐก็ยังใช้ความได้เปรียบในฐานะที่ตนเองมีอยู่ให้ได้ผลชนะการเลือกตั้ง จึงเสี่ยงต่ออันตราย ไม่ได้ผลการเปลี่ยนแปลงเท่าที่ควร

ส่วน กกต.สามารถช่วยทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเลือกตั้ง รักษาความเป็นธรรม เป็นกลาง แต่กลไก กกต.ยังเป็นราชการมากเกินไป หวังความสำเร็จในแง่จัดการเลือกตั้งให้เสร็จ มากกว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ดี มีคุณภาพ ให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงในเชิงการเมือง

ดังนั้นผมต้องเข้าไปเป็นผู้เล่นในการเมือง ใช้แแนวคิด นโยบายเข้าไปเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่าง ๆ การเข้าเป็นสมาชิกพรรค ทำให้สามารถพูดอะไรได้เต็มปากเต็มคำมากขึ้น ไม่ต้องกลัวว่าสังคมจะมองว่าเราพูดเป็นกลางหรือไม่

Q : เป็นพีเน็ตอาจมีเครดิตน่าเชื่อถือกว่านักการเมือง

ผมทดลองในสถานภาพที่แตกต่างกันแล้ว และไม่ก่อให้เกิดผล ดังนั้นเรามาเล่นเป็นฝ่ายการเมืองเอง พูดอะไรได้เต็มปากเต็มคำ หรือในฐานะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก็สามารถเสนอความเห็นได้ว่าพรรคควรมีจุดยืนอย่างไร พรรคอาจให้ความสำคัญมากกว่าคนนอกพูด

Q : เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เพื่อใช้สถานะเป็นช่องทางพูดกับสังคมเป็นการเอาเปรียบพรรคหรือไม่

อยากให้ผมทำงานก็บอกมาสิ ยินดีที่จะทำงาน เช่น ช่วยรณรงค์ในการหาเสียง หรือจะใช้ความรู้ในทางวิชาการช่วยวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง วางแผนยุทธศาสตร์การเลือกตั้งก็ยินดี

Q : ถูกปลดด้วยมาตรา 44 จะเป็นสายล่อฟ้าให้พรรคประชาธิปัตย์หรือไม่

สายล่อฟ้ามีเต็มไปหมด คนในพรรคประชาธิปัตย์วิจารณ์พรรคอื่นด้วยถ้อยคำรุนแรงมากกว่าผมด้วยซ้ำ สิ่งที่ผมวิจารณ์คือการเอาหลักกฎหมายมาพูดให้สังคมฟังไม่ใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย ก้าวร้าวรุนแรง วันหนึ่งถ้าพรรคประชาธิปัตย์เริ่มเดินในทิศทางที่ผมคิดว่าไม่ถูกต้อง ก็พร้อมวิจารณ์ในฐานะสมาชิกพรรค

Q : จะเป็นสาระมากกว่าสร้างภาระให้พรรคประชาธิปัตย์

ผมไม่ทราบ และยังงงว่า ทำไมเวลาสื่อมวลชนใส่ตำแหน่งผม ทำไมจะต้องใส่ว่าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และอดีต กกต. ทำไมไม่ใส่ตำแหน่งที่เป็นหน้าที่การงานของผมก็ไม่รู้ ให้คุณค่าสมาชิกพรรคมากเกินไปหรือไม่ แต่ถือว่าดีเพราะสมาชิกพรรคคนหนึ่งสามารถส่งเสียงและสังคมก็เกิดการยอมรับ

Q : สิ่งไหนที่สมาชิกพรรคคนนี้อยากให้ประชาธิปัตย์ปรับปรุง

หลายเรื่อง…วิธีการสื่อสารกับสังคมยังมีจุดอ่อนอยู่เยอะ ถ้าติดตามข่าวจะเห็นความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองอื่นตลอดเวลา ไม่ว่า พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ แต่พรรคประชาธิปัตย์ อาจจะทำอะไรที่ยังไม่เป็นข่าว วิธีการที่สื่อสารกับสังคมยังกระจัดกระจาย ต่างคนต่างพูด ขาดความเคลื่อนไหวที่เป็นพลังในฐานะที่เป็นองค์รวม สะท้อนความคิดที่แท้จริงของพรรคประชาธิปัตย์ จุดนี้เป็นจุดอ่อนมาก ๆ พรรคอาจพอใจกับสถานะที่เป็นอยู่ในอดีตมากเกินไป

Q : สิ่งที่เป็นอยู่ในอดีตคืออะไร

เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ มีระบบอย่างไรก็ทำระบบอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ จะต้องคิดอะไรที่ทันสมัยกว่านั้น เช่น การตั้งวอร์รูม จะมีวอร์รูมที่ทำงานอย่างจริงจัง ติดตามข่าวสาร และหาทางสื่อสารกับสังคม ตอบกลับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าทำแล้วถือว่ายังเงียบเกินไป ยังไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเท่าที่ควร ถ้าทำแล้วก็ขออภัย

Q : จะช่วยพลิกโฉมประชาธิปัตย์ได้อย่างไร

เขาก็น่าจะติดต่อผมสิ ใช้ผมสิ

Q : วิเคราะห์โอกาสของประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ได้เปรียบที่สุดในการเลือกตั้งคราวนี้ ต้องรู้จักช่วงชิงความได้เปรียบแล้วนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะคู่ของความขัดแย้งระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทย มีจุดอ่อนที่สังคมไม่ไว้วางใจทั้งคู่

พลังประชารัฐมีอดีตนักการเมืองเข้ามามากพอสมควรก็จริง แต่ความรู้สึกของคน นักการเมืองเหล่านั้นไม่ใช่นักการเมืองที่มีอุดมการณ์ พร้อมจะย้ายพรรคเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้ กลายเป็นที่รวมของนักการเมืองที่เห็นประโยชน์ส่วนตัว ที่ไหนอุดมสมบูรณ์ก็ไปอยู่ที่นั่น

และมีจุดอ่อนที่จะไปชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แม้หลายคนมองว่าเป็นจุดแข็ง แต่มองว่าเป็นจุดอ่อน ประชาชนที่พึงพอใจที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯจริง ๆ มีมากหรือน้อยกว่ากันภายใต้คำเยินยอที่รัฐบาลมีอำนาจอยู่
แต่อีกกลุ่มหนึ่งอาจอึดอัดกับการปกครองที่ผ่านมาในช่วง 4-5 ปี อึดอัดกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มีเงินในกระเป๋า คือเสียงซึ่งไม่เอา ไม่อยากได้แล้ว กับการที่เป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น การชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ นอกจากเป็นภาพการชูผู้นำที่ไม่มีความสามารถในสายตาของประชาชน ยังเป็นภาพของการสืบทอดอำนาจจากรัฐบาลทหาร นี่คือจุดอ่อนของพลังประชารัฐในการหาเสียงคราวนี้แน่นอน ไม่ได้คะแนนมากมายอย่างที่คิด

ขณะที่พรรคเพื่อไทยยังไม่สามาถสลัดออกจากคุณทักษิณ ชินวัตร ภาพที่บริหารประเทศแล้วเกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองจนนำไปสู่เหตุการณ์ชุมนุม มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น นำไปสู่การรัฐประหาร ทำให้พรรคประชาธิปัตย์อยู่ตรงกลาง ไม่ได้อิงทหาร และไม่ได้อิงกับระบอบทักษิณแบบเดิม น่าจะช่วงชิงสถานการณ์ดังกล่าว ในการสร้างทางเลือกที่ 3 ให้กับประชาชน

ไม่เอาทักษิณ ไม่เอาทหาร เลือกประชาธิปัตย์ นี่คือโอกาสของประชาธิปัตย์ในการทำแคมเปญรณรงค์การเมืองคราวนี้ ว่าเราจะยึดมั่นในประชาธิปไตย ไม่ใช่ทหาร หรือนายทุนที่มาทำงานการเมือง มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ถ้าขายจุดนี้ได้ ประชาธิปัตย์จะได้เปรียบ

Q : เป็นเหตุผลที่เลือกมาอยู่ประชาธิปัตย์ มากกว่าไปอยู่พรรคที่หวือหวา เช่น พรรคพลังประชารัฐ

(สวนทันที) พลังประชารัฐไม่เชิญผมอยู่แล้ว เพราะเขาก็รู้ว่าผมวิจารณ์หลายเรื่อง และไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

Q : ถ้าหลังเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ไปจับขั้วกับพรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลจะขัดใจอาจารย์หรือไม่

ผมไม่เชื่ออย่างนั้น คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีจุดยืน มองอะไรไกล ๆ กว่านั้น การเป็นรัฐบาลเพียงครั้งเดียวแล้วทำให้เกิดความเสียหายต่อพรรค ทำให้ประชาชนขาดความไม่ไว้วางใจไปตลอด มันไม่คุ้มกัน ดังนั้นยังเชื่อมั่นคุณอภิสิทธิ์ที่พูดว่าไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐจะเป็นจริง

Q : ถูกต้องแล้วที่คุณอภิสิทธิ์ได้รับการโหวตกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง

ใช่ ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะไม่ใช่แบบนี้ และการประกาศจุดยืนของคุณอภิสิทธิ์ ต้องพูดซ้ำ พูดตลอด อย่าทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัย การไม่เป็นรัฐบาลไม่ใช่เรื่องเดือดร้อน วันนี้ไม่เป็น วันหน้าก็เป็น แต่ถ้าเป็นโดยการเสียสัจจะ ทำให้สังคม แฟนคลับเสียอารมณ์ความรู้สึก ทำร้ายพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าที่คิด

Q : พรรคพลังประชารัฐอาจได้เปรียบจากเม็ดเงินที่ลงไปผ่านโครงการต่าง ๆ

ประชาชนพอใจแน่นอน อยู่ดี ๆ เอาเงินมาใส่กระเป๋าเขา แต่การเลือกตั้งยังอีกประมาณ 2-3 เดือนข้างหน้า วันนั้นประชาชนจะชั่งน้ำหนักและรู้จักคิดว่าจะเลือกใคร ต้องมองหลายองค์ประกอบ เช่น ตัวผู้สมัคร ถ้าพรรคพลังประชารัฐได้ผู้สมัครที่ประชาชนไม่รู้สึกว่าเป็นผู้แทนที่ดีได้คนก็ไม่เลือก ยังขึ้นอยู่กับนโยบายของพรรคอื่น ๆ เป็นอย่างไร

วันนี้พลังประชารัฐน่วมแล้ว อีก 2 เดือนจะน่วมกว่านี้ไหม วันนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้กระแสนิยมจากประชาชน ทุกอย่างอาจกลับกัน แต่เชื่อว่าสังคมรุมกินโต๊ะพรรคพลังประชารัฐ จะทำอะไรสังคมก็โวยไปหมด 4 รัฐมนตรีก็น่วม

เมื่อสร้างกติกา มุ่งสร้างความได้เปรียบมากเกินไปจะทำให้อยู่กลางแดดกลางฝนเพียงฝ่ายเดียว แล้วทุกคนก็จะขว้างก้อนอิฐ ก้อนหินเข้าใส่ กลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตกอยู่ฝ่ายเดียว