600 อรหันต์ กกต. อำนาจล้นฟ้า คุมกฎพิสดารเลือกตั้ง 62

เพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. 2561 ขีดเส้นให้การหาเสียงจะต้องคำนึงถึง “ความเท่าเทียม” โดยบัญญัติอยู่ในมาตรา 71

จึงทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 อาจเป็นการเลือกตั้งที่ “สงบราบคาบที่สุด” เพราะแม้แต่ “ป้ายหาเสียง” ที่เคยติดกันบนท้องถนน ตามเสาไฟฟ้าจนรกสายตา จะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป แต่อาจจะติดไว้ตามสถานที่ราชการ เช่น อำเภอ สำนักงานเขต โดยจะต้องมีขนาดที่เท่ากัน เพื่อความเท่าเทียมระหว่างพรรคการเมือง

“พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า กกต.ต้องเตรียมจัดทำป้ายไวนิลแนะนำตัวผู้สมัคร แผ่นป้ายขนาดใหญ่ที่จะให้ผู้สมัครแต่ละคนนำป้ายขนาด A3 มาติดประกาศแนะนำตัว โดยผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ต้องกำหนดสถานที่ให้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ระเบียบการหาเสียงเลือกตั้งที่ กกต.คลอดออกมาขีดเส้นว่า บนป้ายไม่สามารถใช้รูป “ผู้มีบารมีนอกพรรค-ในพรรค” มาไว้ในป้ายหาเสียงคู่กับผู้สมัคร และ “รถหาเสียง” ของผู้สมัครคนหนึ่งจะมีได้ไม่เกิน 10 คันเท่านั้น

ขณะที่การนำเสนอ “นโยบายหาเสียง” ของแต่ละพรรคการเมือง จะต้องแจ้งให้กับ กกต. เพื่อให้ กกต.ประกาศให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบ ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

โดยนโยบายของพรรคการเมืองจะต้องคำนึงถึง 1.วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดําเนินการ 2.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดําเนินนโยบาย 3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดําเนินนโยบาย

หากไม่ครบ 3 ข้อ กกต.สามารถสั่งให้ดําเนินการให้ครบถ้วนและถูกต้องภายในระยะเวลาที่กําหนด

อีกทั้ง กกต.ยังออกร่างระเบียบ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. อาทิ ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครแบบแบ่งเขต คนละไม่เกิน 2 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง คิดจากจำนวนการส่งผู้สมัคร 1-50 คน ไม่เกิน10 ล้านบาท 51-100 คน ไม่เกิน 20 ล้านบาท 101-150 คน ไม่เกิน 30 ล้านบาท 201-250 คน ไม่เกิน 50 ล้านบาท 251-300 คน ไม่เกิน 60 ล้านบาท และ 301-350 คน ไม่เกิน 70 ล้านบาท

โทรทัศน์ของรัฐต้องจัดสรรเวลาให้ทุกพรรคออกอากาศโฆษณาข้อความสั้น ๆ เกี่ยวกับนโยบายพรรคอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วินาที และออกอากาศเพื่อแถลงนโยบายของพรรค 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 10 นาที

ขณะที่สถานีวิทยุและโทรทัศน์สามารถเชิญพรรคการเมืองออกรายการแสดงวิสัยทัศน์ได้ แต่ห้ามกระทำการอันเป็นคุณหรือโทษต่อผู้สมัครและพรรคการเมือง

นอกจากนี้ ยังกำหนดการจัดเวทีดีเบตโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบ กลุ่ม 1 พรรคที่ส่งผู้สมัครตั้งแต่ 300-350 เขต กลุ่ม 2 พรรคที่ส่งผู้สมัครตั้งแต่ 200-299 เขต และกลุ่ม 3 พรรคที่ส่งผู้สมัครน้อยกว่า 200 เขต

โดยเฉพาะการหาเสียงผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย โดย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดไว้ในมาตรา 70 ว่า การหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ สามารถทำได้ตามหลักเกณฑ์ที่ กกต.กำหนด แต่ห้ามมิให้ผู้ใดหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ๆ

“พ.ต.อ.จรุงวิทย์” เลขาธิการ กกต. ซึ่งอยู่ระหว่างยกร่างระเบียบ กกต. ว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ภายหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.บังคับใช้ ทุกพรรคการเมืองต้องแจ้ง กกต.ให้รับทราบว่า จะใช้วิธีการหาเสียงรูปแบบใด

“การโฆษณาหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ หัวหน้าพรรคต้องยื่นความประสงค์ต่อ กกต.ก่อน ไม่แจ้งถือว่าสละสิทธิ์และใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หาเสียงของพรรคได้จนถึงเวลา 18.00 น. ก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน”

นอกจากกฎเกณฑ์-กติกาที่ขึงตึง-ยุ่บยั่บแล้ว กกต.ยังแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง 77 จังหวัด 603 คน “จับผิด-ตาสับปะรด” แบ่งออกเป็น จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งไม่เกิน 5 เขตเลือกตั้ง ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 5 คน จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 6-8 เขตเลือกตั้ง ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 6 คน จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 9-11 เขตเลือกตั้ง ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 7 คน จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งตั้งแต่ 12 เขตเลือกตั้งขึ้นไป ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 8 คน

อำนาจ-หน้าที่ อาทิ ตรวจสอบการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำใดที่จะเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าไปในที่เลือกตั้ง หรือสถานที่นับคะแนนเลือกตั้ง

แม้การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.จะถูกเรียกคืนอำนาจการให้ “ใบแดง” หรือ “การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” ไปไว้ที่ศาลฎีกา แต่ “คงอำนาจ” การระงับยับยั้ง-การเลือกตั้งใหม่ หรือ “ใบเหลือง”

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องใหม่ คือ “ใบส้ม” หรือ “ระงับสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้ง” ชั่วคราว (อย่างน้อย 1 ปี) โดยถือว่าอำนาจของ กกต.เป็นที่สิ้นสุด

ทั้งหมดคือสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในการเลือกตั้งปี 2562

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!