“บิ๊กตู่” ทาง 4 แพร่งอำนาจ คสช.คุมทุกพรรค-ลุ้น “นายกฯอุบัติเหตุการเมือง”

รายงานพิเศษ

24 ก.พ. 62 คือ “หมุดหมาย” การเลือกตั้งทั่วไป “ครั้งแรก” ในรอบ 8 ปี ครั้งแรกในวงรอบประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ “ผู้เล่น-คู่แข่งขัน” อยู่ในสถานะ “ทับซ้อน” ถึง 4 สถานะ

“บิ๊กตู่” ควบ 4 สถานะ

1 สถานะ “หัวหน้ารัฐบาล-นายกรัฐมนตรี” คุมทุกองคาพยพ ทั้งกลไกภาครัฐ 20 กระทรวงและทบวง-กรม กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 7,852 แห่ง

2 สถานะ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็น “นายกฯในบัญชี” ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง กับการสนับสนุนในทาง “พฤตินัย” จากพรรคการเมืองที่สนับสนุน “นายกฯ คสช.” เป็นประมุขตึกไทยคู่ฟ้าอีกสมัย

3 ผู้ถูกเสนอชื่อเป็น “นายกฯนอกบัญชี” พรรคการเมือง โดยมี “สภาสูง 250 ส.ว.สรรหา” เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการกับ “สภาร่าง-ส.ส. 126 เสียง”

และ 4 สถานะ “หัวหน้าคณะปฏิวัติ-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” เข้าได้กับทุกสถาบันตุลาการ-องค์กรอิสระ

ณ ปัจจุบัน ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จึงนั่งทับ “อำนาจซ้อนอำนาจ” ถึง 4 สถานะ-เข้าข่ายความเป็นไปได้ทั้งหมด

ทาง 4 แพร่ง ต่อท่ออำนาจ

ขณะที่เส้นทาง “ต่อท่ออำนาจ” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” มีให้เลือกถึง 4 ออปชั่น 4 ทางแพร่ง… แพร่งที่ 1 เป็น “นายกรัฐมนตรี-หัวหน้า คสช.” ไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ แต่ยังเป็น “ทีมเดียวกัน” กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี 4 รัฐมนตรี “สายตรง” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แม่ทัพเศรษฐกิจรัฐบาล-คสช.เป็น “ที่ปรึกษาทางใจ”

ส่งผลให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังรักษาเก้าอี้ “ผู้นำรัฐบาล-หัวหน้า คสช.” ที่มี “อำนาจเต็ม”-“อำนาจรัฏฐาธิปัตย์” อยู่เต็มมือ เพื่อ “กำหนดเกม” ให้ “เข้าทาง” และไม่ให้เพลี่ยงพล้ำก่อนเวลาอันสมควร

ช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” สำคัญ คือ “คณิตศาสตร์การเมือง-เกมต่อรอง” ในสภา หลังการเลือกตั้ง หากเกิด “เดดล็อก” จากกับดักกติกา-ระบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” จนไม่สามารถเลือก “นายกฯในสภา” ได้ ทำให้เกิดทางตัน-สุญญากาศ

รอเทียบเชิญ “นายกฯนอกสภา”

นำมาสู่ “นายกฯก๊อกสอง”-แพร่งที่ 2 เป็น “นายกรัฐมนตรี-หัวหน้า คสช.” ต่อไป เพื่อรอให้เกิด “อุบัติเหตุ” ในสภา-ผ่าทางตันด้วยการรอ “เทียบเชิญ” ให้มานั่งเป็น “นายกฯนอกบัญชี”

สถาปนา “ความชอบธรรม” ให้กับ “นายกฯนอกสภา” เพราะไม่ได้เป็น ส.ส.-ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง-ไม่ใช่ 1 ใน 3 นายกฯในบัญชีพรรคการเมือง แต่มาจาก “มติเอกฉันท์” ของ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร เป็นเส้นทาง “ลงจากหลังเสือ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ “สมูทที่สุด”…เพื่อขี่เสือตัวต่อไป

ดังนั้น การที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังรักษาสถานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 29-หัวหน้า คสช. ไปจนกว่า “รัฐบาล คสช.” จะหมดอายุขัย-ผ่องถ่ายอำนาจให้กับ “รัฐบาลใหม่” หรือจนกว่านายกฯคนที่ 30-คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มาจากการเลือกตั้งจะถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับหน้าที่เสร็จสิ้นเสียก่อน จึงเป็นทางที่ “เป็นไปได้มากที่สุด”

ไพรมารี่โหวตปูทางนายกฯทหาร

อย่างไรก็ตาม แพร่งที่ 3 หาก “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นทั้ง “นายกรัฐมนตรี-หัวหน้า คสช.” ควบ “นายกฯในบัญชี” พรรคการเมือง และแพร่งที่ 4 เป็น “นายกรัฐมนตรี-หัวหน้า คสช.” และ “นายกฯในบัญชีพรรค พปชร.”

โดยการปูทางของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน-สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” แกนนำ พปชร. ที่มีอีเวนต์เปิดหีบ 10 จังหวัดภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ ในวันที่ 23 ธ.ค. 61 เพื่อไพรมารี่โหวตบุคคลที่เหมาะสมที่จะได้รับการ “ทาบทาม” ให้เป็น 1 ในบัญชีนายกฯของพรรค พปชร. เพื่อสร้างความ “สง่างาม” เป็นเบาะรองให้ “พล.อ.ประยุทธ์” กระโดดลงมาเป็นคู่ชิงเก้าอี้นายกฯเต็มตัว

วัดใจ “นายกฯในบัญชี-พปชร.”

ทว่า แพร่งที่ 3 และแพร่งที่ 4 อาจจะมีความ “เป็นไปได้น้อยที่สุด” เนื่องจากระหว่างบรรทัด-บางแง่มุมทางกฎหมาย “ไม่เอื้อ” ให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ควบถึง 3 สถานะ คือ “หัวหน้ารัฐบาล-หัวหน้า คสช.-(ว่าที่) หัวหน้ารัฐบาลใหม่” ได้

แต่ถ้า “พล.อ.ประยุทธ์” ตัดสินใจกระโจนลงสู่สนามการเมือง-ใส่เสื้อคลุมพรรคการเมือง-สวมทับตำแหน่งนายกฯ-หัวหน้า คสช.อีกตัวหนึ่ง จะเป็นการ “เปิดหน้าเล่น” เป็น “ศัตรูกับทุกพรรคการเมือง” และต้องฝ่ากับดักข้อกฎหมายต้องห้าม-พายุ free & fair จากพรรคการเมืองคู่แข่ง-กลุ่มต่อต้านเผด็จการทหาร

มีตัวอย่างให้เห็นได้จากการถูกโจมตีเรื่องการให้ลาออกจากตำแหน่งของ 4 รัฐมนตรี-แกนนำพรรค พปชร. และทวงถามถึงสปิริต-ไม่เอาเปรียบพรรคการเมืองคู่แข่งขัน

ในแง่มุมทางกฎหมาย เรื่องการ “วางตัวเป็นกลาง” โดยการ “กลับลำ” 360 องศา ของ “สนธิรัตน์-อุตตม สาวนายน” เลขาธิการ-หัวหน้าพรรค 2 ใน 4 รัฐมนตรี-แกนนำ พปชร. ที่ “วางคิว” ขึ้นกล่าวต้อนรับ-ขอบคุณ 200 โต๊ะจีน บนเวทีระดมทุน “ประเทศไทยหนึ่งเดียว” วันที่ 19 ธ.ค. 61 ที่เมืองทองธานี

เนื่องจากติด “ข้อห้าม” ทางกฎหมาย-พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พรรคการเมือง 2560 มาตรา 73 บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไรหรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งมีบทลงโทษถึงตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี

เดินสายได้ แต่ห้ามหาเสียง

แม้ “พล.อ.ประยุทธ์” จะอยู่บนเก้าอี้นายกฯ-หัวหน้า คสช. “จนวินาทีสุดท้าย” และรัฐบาลมีอำนาจเต็ม-อำนาจพิเศษ แต่ “วิษณุ เครืองาม” มือกฎหมายรัฐบาล-คสช. สะกิด พล.อ.ประยุทธ์แรง ๆ ไว้ว่า แม้จะเดินสายลงพื้นที่เดือนละ 2 ครั้ง-ประชุม ครม.สัญจร อนุมัติโครงการและงบประมาณได้มากกว่ารัฐบาลปกติที่มาจากการเลือกตั้ง ทว่า “ห้ามหาเสียง”

“พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถเข้าร่วมการปราศรัย และไม่สามารถพูดหาเสียงให้พรรคการเมืองได้ เพราะมีความผิด ทำได้เพียงพูดเชิญชวนให้ประชาชนมาเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถพูดให้ประชาชนมาเลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนตนได้ แม้แต่นอกเวลาราชการก็ตาม”

“ก็เป็นเหมือนนายกรัฐมนตรีคนอื่นที่ผ่านมา ทั้งคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยุบสภาและไปหาเสียง หรือแม้กระทั่ง นายทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่ครบเทอมแล้วก็ไปหาเสียง ซึ่งรู้ว่าต้องพูดอย่างไร แต่อาจแตกต่างตรงที่ท่านนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์) ไม่ได้เป็นผู้สมัคร ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค จะพูดได้ก็แค่รณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง”

16 วันชี้ชะตา พล.อ.ประยุทธ์

ตาม “ไทม์ไลน์” การเลือกตั้งล่าสุดฉบับนายวิษณุ วางโรดแมปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันรับสมัคร ส.ส.เขต-บัญชีรายชื่อ ในวันที่ 14-18 ม.ค. 62 และกำหนดให้พรรคการเมืองส่ง “บัญชีนายกฯ” 3 รายชื่อ ก่อนวันปิดรับสมัคร ส.ส. หรือไม่เกินวันที่ 18 ม.ค. 62

นับจากนี้ไป เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การเลือกตั้งจะมีผลบังคับใช้ (คาดว่า) ในวันที่ 2 ม.ค. 62 จนกว่าจะถึงวันปิดรับ-ส่งบัญชีรายชื่อนายกฯ พรรคการเมือง “พล.อ.ประยุทธ์” จึงมีเวลาตัดสินใจเพียง 16 วัน

สุดท้ายแล้ว “พล.อ.ประยุทธ์” อาจไม่ใช่เพียงผู้เดียวที่จะตัดสินใจอนาคตทางการเมืองของตัวเอง ในห้วงเวลา 70 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง และหลังรู้ผลเลือกตั้งจนถึงวันได้รัฐบาลชุดใหม่ “อย่างน้อย” ก็ในเดือน มิ.ย. 62 หรืออย่างมาก “ไม่มีกำหนด”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!