4 พรรคว่าที่แกนนำรัฐบาลใหม่ สู้ไม่ถอยประชานิยม-สวัสดิการ

นโยบายเลือกตั้งฉบับเปิดตัวพรรคใหญ่ ว่าที่แคนดิเดต-แกนนำจัดตั้งรัฐบาล ยังย่ำอยู่ในรอย “ประชานิยม” ต่อยอดด้วยความเป็น “รัฐสวัสดิการ”

4 พรรคใหญ่ที่มีแกนนำระดับอดีตนายกรัฐมนตรี และว่าที่นายกรัฐมนตรี ทั้งหัวลวง-หัวจริง อาทิ พรรคฝ่ายทักษิณ ชินวัตร พรรคที่คาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะร่วมวง พรรคที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ งำประกายไว้ชิงธง และพรรคสายแข็งรัฐสวัสดิการในเงาของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

52 ล้านเสียง คือตัวประกันในนามผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 62

พปชร.พลิกประชานิยมเป็นรัฐสวัสดิการ

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรค “ตัวเต็ง” ที่จะสานนโยบายต่อจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากพรรคเกิดใหม่สู่พรรคใหญ่ปักธง 150 ที่นั่งในสภา ส.ส.

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” รองหัวหน้า พปชร. ตั้งโจทย์ของประเทศในศตวรรษที่ 21 ว่า “ต้องมี big idea ให้ประชาชนซื้อให้ได้และมีเสียงที่เพียงพอไม่ได้ซื้อเพื่อระยะสั้น แต่ซื้อเพื่ออนาคตประเทศ”

ประชาชนยังมีหนี้สินอยู่ ให้ปลด ลดหนี้ และมีเงินออม การสร้างสังคมสวัสดิการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เปรียบเสมือนเป็นแพลตฟอร์มขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ

“จะให้เป็นแต้มต่อของกับประชาชน สังคมที่เท่าเทียม เปลี่ยนสังคมให้เป็นรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่ประชานิยมเหมือนในอดีต คนที่ขาดก็ต้องเติม คนที่เกินก็ต้องรู้จักปัน สร้างสังคมเกื้อกูลและแบ่งปัน”

“สุวิทย์” ยืนยันว่า “วันนี้ประชานิยมอย่างเดียวไม่พออีกแล้ว”

สร้าง-เสริม-ปรับ-เปลี่ยน

“สังคมประชารัฐ” คือ “สร้าง-เสริม-ปรับ-เปลี่ยน” “สร้าง” หลักประกัน 3 เรื่อง ได้แก่ สวัสดิการแห่งรัฐ สุขภาพถ้วนหน้า หมดหนี้ มีเงินออม

“เสริม” ความเข้มแข็งของฐานราก-เกษตรยั่งยืน และชุมชนเข้มแข็ง การจ้างงานในชุมชน เกษตร กระจายอำนาจ กระจายโอกาส กระจายความเจริญในระดับภูมิภาค

“ปรับ” โครงสร้างเศรษฐกิจ 4 ระบบ ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจยั่งยืน-เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม-เศรษฐกิจแบ่งปัน-เศรษฐกิจฐานข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์

ปชป.อาสาแก้ปัญหา ศก.ปากท้อง

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคเก่าแก่ที่สุด “ตัวแปรสำคัญ” ในการจัดตั้งรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้า ปชป.โฟกัสปัญหา ปากท้องของเกษตรกร-ผู้ใช้แรงงาน

“เมื่อราคาสินค้าเกษตรไม่ดี ไม่ใช่แค่เกษตรกรเดือดร้อนแต่พ่อค้าแม่ขายทั่วประเทศขายของไม่ได้ ขณะที่ผู้ใช้แรงงานสะท้อนเรื่องรายได้ไม่พอรายจ่าย ควบคู่ไปกับปัญหาหนี้สิน”

“อภิสิทธิ์” อาสาแก้ปัญหาใหญ่เศรษฐกิจไทย 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ปัญหาเฉพาะหน้า-เศรษฐกิจไม่ดีเพราะคนไม่มีกำลังซื้อ-รายได้ไม่พอ 2.ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และ 3.ความเหลื่อมล้ำ

“โฉนดสีฟ้า”-ส.ป.ก.แลกเงิน

2 กลุ่มสำคัญที่ถูก “ล็อกเป้า” ได้แก่ “กลุ่มเกษตรกร” และ “กลุ่มผู้ใช้แรงงาน” กลุ่มเกษตรกร คือ 1.ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีความมั่นคงในหลักประกันที่อยู่อาศัย จำเป็นต้องยกระดับการถือครองที่ดินภายใต้ “โครงการโฉนดสีฟ้า”

“หลักการสำคัญมี 2 ข้อ ข้อที่ 1 คนที่ครอบครองที่อยู่อาศัยและที่ทำกินต้องมีความมั่นคง มีความมั่นใจว่าจะสามารถทำต่อไปได้ และข้อที่ 2 ต้องสามารถใช้ที่ดินในการสร้างโอกาสให้กับตัวเอง อาทิ หลักประกันในการกู้ยืม”

รวมถึงต่อยอดโฉนดชุมชน โดยออกเอกสารสิทธิให้กับชุมชนในพื้นที่ข้อพิพาทกับรัฐทั้งที่ค้างไว้และครอบคลุมอีกหลายพื้นที่

ยกระดับที่ดิน ส.ป.ก.ของเกษตรกรรายย่อยไม่เกิน 50 ไร่ ให้สามารถนำเอกสารเป็นหลักประกันเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุน พัฒนาพื้นที่ใน ส.ป.ก.ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เร่งออกโฉนดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคง

ขณะที่ปัญหาเรื่องน้ำจะปลดล็อกการเข้าถึงน้ำทุกไร่นา หรือ “กองทุนน้ำชุมชน” สนับสนุนให้เกิดสระน้ำขนาดกลาง-เล็ก

ประกันรายได้เกษตร-ค่าแรงขั้นต่ำ

จะฟื้นโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร ข้าวต้องไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเกวียน ปาล์ม 4 บาทต่อตัน ยางพาราไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม และนำนโยบายหลัก “ประกันรายได้ขั้นต่ำ-จ่ายส่วนต่าง” มาใช้สำหรับ “กลุ่มผู้ใช้แรงงาน” ต้องไม่ต่ำกว่า 120,000 บาทต่อปี

อุดหนุนกลุ่มผู้สูงอายุจะเพิ่ม “เบี้ยยังชีพ” ผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อเดือน และปรับปรุงโครงการการออมเพื่อชราภาพทั้งหมด เช่น ประกันสังคม กองทุนเงินออม กองทุนสวัสดิการชุมชน

กลุ่มสุดท้าย “กลุ่มผู้ยากไร้” หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน จะ “เติมเงินสด”-“โอนตรง” เข้าบัญชี ใส่บัตร 800 บาทต่อเดือน โดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อให้เศรษฐกิจของชุมชนหมุนเวียนทั้งระบบ

และนโยบายหลักด้านการศึกษา คือ “เกิดปั๊บ รับสิทธิเงินแสน” เบี้ยเด็กเข้มแข็ง 0-8 ปี 1,000 บาทต่อเดือนแบบถ้วนหน้าตั้งแต่แรกเกิด

พท.สร้างรายได้-ขยายโอกาส

พรรคเพื่อไทย (พท.) “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ออกจากกรอบพรรคเจ้าของ “ต้นฉบับประชานิยม”-ย้อนศรนโยบายประชารัฐของ “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์”

ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อไทย พุ่งเป้าเปิดนโยบายกระทบรัฐบาลทหารที่ใช้งบประมาณหลายล้านล้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจว่า พรรคจะทำการ rematching resources ประเทศใหม่ จะใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์อย่างชาญฉลาดเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

“สร้างโอกาสให้คนไทยได้เป็นเจ้าของธุรกิจ สร้างรายได้ด้วยความรู้และเทคโนโลยีของโลกยุคใหม่ สินทรัพย์ของโลกยุคใหม่ คว้าโอกาสในการสร้างรายได้”

“แก้หนี้คนไทยด้วยรายได้ เพิ่มกำลังซื้อให้คนไทยทั้งประเทศ”

“ไม่พึ่งพาเศรษฐกิจโลกที่กำลังทรุดลง ทั้งเรื่องการส่งออก การท่องเที่ยว ต้องเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ ต้องยืนแข็งแรงบนขาของตัวเอง จะใช้ความสามารถในเวทีโลกผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น เช่น ยางพารา ข้าว”

ขณะที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” คณะทำงานด้านเศรษฐกิจที่ถูก “เลื่อนชั้น” ขึ้นมาเป็นหัวหน้าเศรษฐกิจพรรค ขันอาสาพาคนไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง-ไม่พึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะเศรษฐกิจต้องเกิดขึ้นจากคนในประเทศ ต้องสร้างเกษตรกร SMEs สร้างอุตสาหกรรมในประเทศให้เข้มแข็ง

“คนจะหาความรู้ได้ต้องมีโอกาส มีความเท่าเทียม เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างโอกาสให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้น แต่ไม่ใช่การแจกเงิน แจกเงินเป็นแค่ระยะสั้น ต้องสร้างโอกาส เช่น 30 บาท รักษาทุกโรค โอท็อป กองทุนหมู่บ้าน”

พรรค “คุณชายเต่า” หนุนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์

ขณะที่พรรค (ว่าที่) พรรคร่วมรัฐบาล-พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งพรรค ที่เปล่งรัศมีเมื่อได้ราชนิกุลในรัชกาลที่ 4 “คุณชายเต่า”-ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตเทคโนแครตมาเป็นหัวหน้าพรรค

“คุณชายเต่า” เห็นด้วยว่าหากจะเขยื้อนเศรษฐกิจต้องมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ และหากมีอำนาจสิ่งแรกที่จะทำในโลก คือ การศึกษา ค้นคว้า และวิจัย ในรูปแบบ apply research ให้เกิดขึ้นให้ได้

โดยเฉพาะ apply research เพราะเวลานี้ R & D ของประเทศไทยมีเพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี แต่บางประเทศ เช่น สวีเดน 3.5-3.7 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี

“ประเทศไม่มีทางพัฒนาได้สำเร็จหากไม่มีการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนา 1-2 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพีขึ้นไป ประเทศไทยไม่ได้ใกล้ตรงนั้นเลย ต้องแก้ให้ถูกจุด คนไทยไม่ได้ขี้เกียจ ไม่ได้เก่ง แต่คนไทยไม่มีความรู้สะสม ไม่มีการสะสมความรู้”

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!