โพลชี้-ผลงานแย่ปากท้อง “ปู”ร้องศาลรธน.ตีความคดีจำนำข้าวส่อขัดรธน. ตู่ร่ายกวีสู่ขวัญเกษตรกร

โพลเผยชาวบ้านร้อยละ 81.33 ผิดหวังผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล รองลงมาเป็นเรื่องเรือดำน้ำและการใช้มาตรา 44 ด้าน ปชป.จี้ปฏิรูปเศรษฐกิจปากท้อง อย่ามัวแต่ปฏิรูปการเมือง-ตำรวจ ส่วน”บิ๊กตู่”ร่ายกลอนสู่ขวัญเกษตรกร อย่าเชื่อคนเลว-ให้ยึดหลักพอเพียง กมธ.ร่วมมั่นใจที่ประชุมสนช. 13 ก.ค.นี้ไม่โหวตคว่ำร่างพ.ร.บ.กกต. เหตุไม่ได้ปรับแก้ตามข้อโต้แย้ง 6 ข้อของกกต. อดีตส.ส.เพื่อไทยแนะกรธ.-สนช.ชะลอใช้ไพรมารี่โหวต แจงรอคสช.ปลดล็อกก่อนค่อยวางตัวผู้นำพรรค “ยิ่งลักษณ์”วอนศาลฎีกาฯ ส่งศาล รธน.ตีความกระบวนการพิจารณาคดีจำนำข้าวใหม่ ชี้ส่อขัดรัฐธรรมนูญ ปี 2560 “บิ๊กบี้”ถก รมว.แรงงานเมียนมาแล้ว ผุดศูนย์พิสูจน์สัญชาติตามแนวชายแดน เพิ่มจุดขึ้นทะเบียนต่างด้าวที่สมุย-เบตง พร้อมให้ยื่นทางคอมพิวเตอร์ด้วย

“บิ๊กตู่”ร่ายกลอน-อย่าเชื่อคนเลว

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่บทกลอนของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชื่อว่า “สู่ขวัญเกษตรกร” ซึ่งได้แต่งให้กำลังใจเกษตรกรใจความว่า “เกษตรกรไทย ล้วนเข้มแข็ง และอดทน ไม่เคยบ่น เคยว่า ด้วยศักดิ์ศรี สู้ทนทุกข์ ยาวนาน ผ่านหลายปี ไม่มั่งมี พร้อมหน้า กับครอบครัว ทิ้งบุตรหลาน สู้งาน ถิ่นไม่ไหว ต้องออกไป ทำกิน ถิ่นสลัว หวังทุกอย่าง ดีขึ้น ด้วยตื่นกลัว แต่มืดมัว ผ่านมา ไม่ยั่งยืน มาวันนี้ รัฐแน่วแน่ เร่งแก้ไข ไม่ทันใจ ปัญหาเยอะ ยิ่งเสียขวัญ การช่วยเหลือ จำต้องเดิน ไปพร้อมกัน อย่าใช้ฝัน อย่างเดียว เครื่องนำทาง ต้องขวนขวาย หาความรู้ ขั้นพื้นฐาน ทำกิจการ พอเพียง ไม่ล้มเหลว จุดประกาย ในใจ ให้เกิดเปลว ไม่เดินตาม คนเลว ที่ชี้นำ

อย่าละทิ้ง ถิ่นฐาน ไร่นาสวน ไม่เรรวน คำชี้นำ รอช่วยเหลือ เพียงปลายทาง ตั้งราคา มาจุนเจือ เราต้องเชื่อ คำแนะนำ ของทางการ หลายมาตรการ ไม่เคยทำ มาแต่ก่อน รัฐเว้าวอน ช่วยติดตาม ความแก้ไข ทั้งระบบ ครบวงจร อย่าร้อนใจ ทั้งภายนอก ภายใน ให้รวดเร็ว ทนเหนื่อยกาย เหนื่อยใจ ไปอีกนิด เราต้องฟิต ระเบิดใจ ให้กว้างขวาง พัฒนาตน พัฒนากลุ่ม สหกรณ์กลาง เปิดเส้นทาง โอกาส ให้ตนเอง ประชารัฐ เป็นหนทาง สู่สำเร็จ ครบเบ็ดเสร็จ ปลูกขาย หลายสาขา สู้อดทน ยากลำบาก เก่าก่อนมา อยู่พร้อมหน้า ครอบครัว อย่างยั่งยืน”

โพลปลื้มผลงานรัฐปราบโกง

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,112 คน ระหว่างวันที่ 3-7 ก.ค. เรื่อง “การรับรู้ผลงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์” เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเข้ามาบริหารประเทศจะครบ 3 ปี ซึ่งรัฐบาลจะแถลงผลงานเพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงผลการทำงานที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ถึงผลงานต่างๆ ของรัฐบาลที่มีทั้งถูกใจและไม่ถูกใจประชาชน โดยพบว่า ร้อยละ 54.32 ระบุพอรับรู้ผลงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์อยู่บ้าง เพราะมีข่าวทุกวัน ติดตามจากสื่อต่างๆ ฟังจากคนรอบข้าง เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ร้อยละ 19.78 รับรู้อย่างดี เพราะสนใจทางการเมือง ติดตามข่าวสารของรัฐบาลเป็นประจำ ร้อยละ 17.99 ไม่ค่อยรับรู้ เพราะไม่ค่อยได้ติดตามข่าว สนใจข่าวอื่นมากกว่า และร้อยละ 7.91 ไม่รับรู้เลย เพราะไม่ชอบการเมือง ไม่มีเวลา

ทั้งนี้ ผลงานรัฐบาลที่ประชาชนรับรู้ ร้อยละ 78.14 ระบุว่าเป็นการปราบปรามการทุจริต ส่วนผลงานที่อยากประชาสัมพันธ์ ร้อยละ 74.60 ระบุว่าเป็นเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ปฏิรูปประเทศ

ผิดหวังแก้เศรษฐกิจล้มเหลว

เมื่อถามว่าผลงานเด่นและผลงานแย่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ พบว่า ด้านผลงานเด่นของรัฐบาล อันดับ 1 ปราบปรามการทุจริต ร้อยละ 84.38 อันดับ 2 จัดระเบียบสังคม ทวงคืนผืนป่า ร้อยละ 72.19 และอันดับที่ 3 การพัฒนาระบบคมนาคมรถไฟความเร็วสูง ร้อยละ 66.93 ส่วนด้านผลงานแย่ อันดับ 1 การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 81.33 อันดับที่ 2 การใช้งบประมาณทางทหาร กรณีเรือดำน้ำ ร้อยละ 70.04 และอันดับที่ 3 การใช้มาตรา 44 โดยเฉพาะเรื่องห้ามนั่งท้ายกระบะ ร้อยละ 67.45

ส่วนภาพรวมผลงานของรัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ พบว่า ร้อยละ 46.76 ระบุผลงานดีและแย่พอๆ กัน ร้อยละ 38.49 ระบุผลงานดีมากกว่าผลงานแย่ และร้อยละ 14.75 ผลงานแย่มากกว่าผลงานดี

ปชป.จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาปากท้อง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลพยายามเร่งปฏิรูปหลายเรื่องขณะนี้ ทั้งปฏิรูปการเมือง หรือปฏิรูปตำรวจ แต่อย่าลืมปัญหาสำคัญอีกเรื่องที่มีต่อเนื่องตลอด 3 ปีของรัฐบาลนี้คือ ประชาชนอยากให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจปากท้อง ต้องยอมรับความจริงว่าปัญหาเศรษฐกิจติดขัดจนชาวบ้านใช้ชีวิตประจำวันอย่างฝืดเคือง เเม้รัฐบาลจะพยายามแก้ไขด้วยนโยบายต่างๆ แต่ยังไม่ส่งผลถึงประชาชนรากหญ้าได้รู้สึกว่ามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขอให้รัฐบาลหันมาใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษด้วย ต้องทำให้เกิดสภาพคล่องให้ได้

กมธ.ย้ำไม่ปรับแก้ 6 ประเด็นกกต.

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือ กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย เปิดเผยถึงการประชุม กมธ.ร่วม นัดที่ 2 เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมยังยืนตามมติเดิม คือให้ยึดเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. ตามที่ สนช.มีมติให้ความเห็นชอบวาระ 3 ทั้ง 6 ประเด็นที่ กกต.มีความเห็นโต้แย้งมา ขณะที่ กกต.ยังสงวนความเห็นทั้ง 6 ประเด็นเช่นกัน

นายสมชายกล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้ย้อนกลับมาพิจารณารายประเด็นใหม่ เป็นเพียงการบันทึก ตรวจและปรับปรุงรูปแบบรายงาน ที่ กมธ.ร่วมต้องเสนอต่อที่ประชุม สนช. ก่อนจะประชุมครั้งสุดท้ายในวันที่ 11 ก.ค.นี้ เวลา 09.30 น. เพื่อตรวจรายงานแล้วจะนำเข้าสู่การประชุมวิป สนช. ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน เพื่อให้วิป สนช.ตรวจทานความเรียบร้อยอีกครั้ง เบื้องต้นได้ประสานกับประธาน สนช.แล้วว่าจะบรรจุวาระการพิจารณาร่างของ กมธ.ร่วมเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช.ในวันที่ 13 ก.ค.

มั่นใจสนช.ไม่โหวตคว่ำร่าง

นายสมชายกล่าวว่า การตั้ง กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องใหม่ ที่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 จึงต้องนำประเพณีของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา รวมทั้งข้อบังคับการประชุมของ สนช.มาบังคับใช้โดยอนุโลม โดยขั้นตอนการพิจารณาในที่ประชุม สนช.วันที่ 13 ก.ค.นี้จะเปิดโอกาสให้ประธาน กกต.ได้ชี้แจงข้อโต้แย้ง 6 ประเด็นที่สงวนความเห็นไว้ จากนั้น กมธ.ร่วมเสียงข้างมากก็จะชี้แจงว่าเหตุใดจึงเห็นแย้งความเห็นของ กกต.

นายสมชายกล่าวว่า เมื่อที่ประชุม สนช.ได้ฟังการชี้แจงของทั้ง 2 ฝ่ายก็จะมีการลงมติทั้งร่างว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างของ กมธ.ร่วม หากเห็นชอบต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือ 126 เสียงขึ้นไป แต่หากคะแนนเสียงไม่เห็นชอบเกิน 2 ใน 3 ของสมาชิกที่มีอยู่ หรือ 167 คนขึ้นไป จะมีผลให้ร่างนั้นตกไป และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ยกร่างเสนอเข้ามาใหม่

“ส่วนตัวเห็นว่า สนช.ไม่น่าจะคว่ำร่างที่ กมธ.ร่วมพิจารณาเสร็จแล้ว เนื่องจาก กมธ.ร่วมไม่มีการปรับแก้ร่างใดๆ เชื่อว่า สนช.คงไม่คว่ำร่างที่ตัวเองได้โหวตผ่านวาระ 3 ไปแล้ว ถึงแม้ สนช.จะคว่ำร่างดังกล่าว กรธ.ก็จะส่งร่างเดิมกลับมาอีกแน่นอน ดังนั้น ทิศทางที่ควรจะเป็นคือ สนช.น่าจะให้ความเห็นชอบร่างที่ผ่านการพิจารณาของ กมธ.ร่วม” นายสมชายกล่าว

ถกหาทางออกไพรมารี่โหวต

นายเธียรชัย ณ นคร กรธ. เปิดเผยว่า ในการประชุม กรธ.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีการเชิญ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการ เมืองเข้ามาหารือ ในประเด็นไพรมารี่โหวต เพื่อหาทางออกร่วมกัน ให้การปฏิบัติเกิดความราบรื่นมากที่สุด และปิดช่องการตีความที่อาจเกิดขึ้นภายหลังกฎหมายบังคับใช้ แต่ยังไม่ได้ข้อยุติใดๆ

พท.เชื่อพรรคเล็กไปไม่รอด

นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข่าวนางมณฑาทิพย์ โกวิทเจริญกุล พี่สาวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคเพื่อไทยว่า ข้อเท็จจริงไม่น่าจะใช่ เพราะนางมณฑาทิพย์ไม่เคยร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ยังทำงานให้พรรคอยู่ ส่วนอนาคตใครจะมานำพรรคเพื่อไทยนั้นต้องรอให้ คสช.ปลดล็อกคำสั่ง ให้พรรคสามารถประชุมและทำกิจกรรมได้ก่อน

ส่วนที่อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวนหนึ่งลาออก หวังควบรวมพรรคขนาดเล็กให้เป็นพรรคขนาดกลางเตรียมลงเลือกตั้งนั้น นายสมคิดกล่าวว่า มองว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำได้จริง เพราะรัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาให้ทำลายทุกพรรค ไม่ใช่เฉพาะแค่พรรคใหญ่อย่างเดียว ยิ่งร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองให้นำระบบไพรมารี่โหวตมาใช้ พรรคขนาดเล็กจะยิ่งแย่ มันต้องใช้ทรัพยากรทั้งคนและเงิน นี่คือการบอนไซหรือบ่อนทำลายพรรคการเมืองโดยอ้อม แม้แต่ผู้ร่างกฎหมายเองก็อาจจะไม่รู้ตัว

แนะกรธ.-สนช.ชะลอไว้ก่อน

นายสมคิดกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่ปฏิเสธไพรมารี่โหวต หากทำได้เหมือนในระดับสากลก็เป็นเรื่องดี พรรคเห็นด้วย แต่หากจะใช้ในการเลือกตั้งครั้งถัดไปทันทีอาจก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรค โดยเฉพาะกรอบเวลาการคัดสรรผู้สมัคร หากใช้ทันทีการบล็อกโหวตตัวคนลงส.ส.ก็มีเหมือนเดิม ไม่ได้ประโยชน์ จึงขอเสนอให้ กรธ.และ สนช.ปรับแก้ร่างกฎหมายพรรคการเมือง ในบทเฉพาะกาล กำหนดว่าการเลือกตั้งที่จะถึงตามโรดแม็ปให้ยึดตามหลักเดิม แล้วให้ใช้ระบบไพรมารี่ในการเลือกตั้งครั้งถัดไปแทน เพื่อให้เวลาทุกพรรคมีโอกาสเตรียมตัว ประชาชนมีเวลาทำความเข้าใจ ทำความรู้จักบุคคลในแต่ละพื้นที่ก่อน

“ปู”ยื่นศาลฎีกาส่งศาลรธน.ตีความ

นายวิม รุ่งวัฒนจินดา อดีตเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยถึงทีมกฎหมายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าวว่า กระบวนพิจารณาคดีที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนก.พ.2558 เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่บัญญัติว่าการพิจารณาคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ยึดสำนวน ของป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณาคดี และให้ศาลใช้ดุลยพินิจพิจารณาไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติ่มได้นั้น ขณะนี้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งมีบทบัญญัติใหม่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ที่ระบุตอนท้ายว่า การพิจารณาของศาลฎีกาฯ ให้นําสํานวนการไต่สวนของป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ศาลมีอํานาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้

ชี้กระบวนพิจารณาคดีข้าวส่อขัดรธน.

นายวิมกล่าวว่า ดังนั้น การยื่นคำร้องของทนายฝ่ายจำเลยเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การพิจารณาตามกระบวนการเดิมเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงเป็นการร้องขอความเป็นธรรมต่อศาล เพื่อให้จำเลยได้ต่อสู้คดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองอย่างเต็มที่ เนื่องจากการต่อสู้คดีของจำเลยที่ผ่านมาอัยการฝ่ายโจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานเอกสารเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ โดยไม่มีการไต่สวนไว้ในรายงาน และสำนวนของป.ป.ช. เอกสารบางเรื่องเป็นเอกสารใหม่ในคดีที่กล่าวหาบุคคลอื่น และไม่ได้อยู่ในสำนวนของป.ป.ช.มาตั้งแต่ต้น ซึ่งจำเลยได้ร้องคัดค้านเพราะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี และองค์คณะ ผู้พิพากษาพิจารณาแล้วยกคำร้อง

แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า หลังการสืบพยานจำเลยนัดวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลได้อ่านสรุปการพิจารณาคดีโดยแจ้งต่อคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายว่า ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องโต้แย้งการพิจารณาคดีของศาลว่าเป็นการขัดแย้ง ไม่เป็นไปตามมาตรา 235 วรรคหก ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงได้ขอให้ศาลฎีกาฯ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความโดยองค์คณะฯ ได้รับคำร้องของจำเลยไว้พิจารณา เพื่อมีคำสั่งอีกครั้งในนัดหน้าวันที่ 21 ก.ค.นี้ว่าจะให้ส่งหรือไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ

“บิ๊กบี้”ถกรมว.แรงงานเมียนมา

วันเดียวกัน นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเดินทางติดตาม พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน เพื่อเข้าร่วมการประชุมหารือรัฐมนตรีร่วมเมียนมา-ไทย ว่าด้วยแรงงานเมียนมาในประเทศไทย ที่กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ในการประชุมฝ่ายไทยขอให้ทางการ เมียนมาดำเนินการ 4 ข้อ คือ 1.เร่งรัดการตรวจสัญชาติและออกใบพิสูจน์สัญชาติ หรือซีไอ ให้กับแรงงานเมียนมา 2.ขอให้จัดส่งแรงงานเมียนมาในกิจการต่างๆ แบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)

นายวรานนท์ กล่าวว่า 3.ชี้แจง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 33/2560 เรื่องมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และประกาศกระทรวงแรงงานเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาตทำงานและการอนุญาตให้ทำงาน ตามพ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และ 4.ขอให้ตั้งคณะทำงานร่วมไทย-เมียนมา เพื่อแก้ไขปัญหากรณีมีข้อขัดข้องเพื่อให้ทันการดำเนินการในช่วง 6 เดือน ที่ชะลอบทลงโทษ โดยต้องยกระดับความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติจุดชายแดน

นายวรานนท์ กล่าวว่า ด้านฝ่ายเมียนมารับข้อเสนอของฝ่ายไทยและรับทราบมาตรการชั่วคราว เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ทั้งนี้ ได้ขอให้ทางการไทยประชาสัมพันธ์ให้แรงงานได้รับทราบข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง พร้อมให้การคุ้มครองแรงงานให้เป็นไปตามสัญญาจ้างตามกฎหมายไทย และขอทราบข้อมูลจำนวนแรงงานต่างด้าวว่ามีเท่าใด เพื่อประกอบการจัดเตรียมเครื่องมือ เจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ต่างๆ ในการเปิดศูนย์ให้คำปรึกษา และให้ฝ่ายไทยตรวจสอบความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวของนายจ้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย รวมทั้งขอให้ตรวจสอบเอกสารแรงงานเมียนมาให้ละเอียดรอบคอบเพื่อป้องกันการสวมรอยจ้างแรงงาน นอกจากนี้ ยังขอให้ไทยมีมาตรการรองรับแรงงานเมียนมาที่เดินทางกลับประเทศช่วงที่ออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และจะเดินทางกลับเข้ามาทำงานอีกด้วย

“ฝ่ายไทยขอให้ทางการเมียนมาจัดตั้งศูนย์การพิสูจน์สัญชาติบริเวณชายแดนเพื่อออกใบพิสูจน์สัญชาติให้กับแรงงานที่จะเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยให้นายจ้างไปรับเข้ามา ซึ่งฝ่ายไทยจะออกวีซ่าและอนุญาตให้ทำงานต่อไป โดยฝ่ายเมียนมารับในหลักการ และขอให้หารือในรายละเอียดร่วมกันเพื่อให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ พล.อ.ศิริชัย กำชับให้ดูแลแรงงานเมียนมาให้เหมือนกับคนไทย ซึ่งการจัดระเบียบแรงงานมีผลดีกับทั้งสองฝ่าย และปัจจุบันความร่วมมือระหว่างกันเป็นรูปธรรมมากขึ้น สังเกตได้จากผลสำเร็จของการตรวจพิสูจน์สัญชาติ ออกเอกสารซีไอและการนำเข้าเอ็มโอยู” นายวรานนท์ กล่าว

เพิ่มจุดขึ้นทะเบียนสมุย-เบตง

นายวรานนท์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ได้เผยแพร่ประกาศกรมการจัดหางาน เรื่องกำหนดสถานที่ยื่นคำขอและแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) เพื่อกำหนดสถานที่ในการยื่นคำขอและแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวเพิ่มเติมให้นายจ้างและคนต่างด้าวที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถรับบริการจากหน่วยงานของรัฐได้โดยสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในข้อ 36 (3) ของกฎกระทรวงว่าด้วยการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต และแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวพ.ศ.2554

นายวรานนท์ กล่าวว่า ให้ยกเลิกความในข้อ 2 (1) แห่งประกาศกรมการจัดหางาน เรื่องกำหนดสถานที่ยื่นคำขอและแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวลงวันที่ 21 มิ.ย. 2554 แล้วใช้ความต่อไปนี้แทน สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร สำหรับการยื่นคำขอและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวในเขตกรุงเทพฯ และให้เพิ่ม (3) และ (4) ด้วยว่าศูนย์จัดหางานสาขาเกาะสมุย กรมการจัดหางาน สำหรับการยื่นคำขอและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ในเขต อ.เกาะสมุย และ อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี, ด่านตรวจค้นหางานเบตง กรมการจัดหางาน สำหรับการยื่นคำขอและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ในเขต อ.เบตง จ.ยะลา

สำหรับสำนักงานจัดหางานกทม. และศูนย์จัดหางานสาขาเกาะสมุย-เกาะพะงันนั้น เดิมมีกำลังเจ้าหน้าที่รองรับเพียงการต่ออายุใบอนุญาตทำงานเท่านั้น แต่เมื่อมีการขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ออกไปอีก 6 เดือนจนถึงสิ้นปี 60 นี้ จึงพิจารณาเพิ่มจุดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวใน 2 แห่ง คือศูนย์จัดหางานสาขาเกาะสมุย และที่ด่านตรวจคนหางานเบตง อย่างไรก็ตามขณะนี้กรมการจัดหางานกำลังจัดทำโปรแกรม เพื่อให้แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนได้โดยยื่นผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อจัดทำโปรแกรหมเสร็จ จะรีบประกาศอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนอีกทางหนึ่งด้วย

“บิ๊กตู่”แจก13หน้าเสนอปฏิรูปตร.

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้เขียนข้อเสนอแนะด้วยลายมือจำนวน 13 หน้า แจกให้แก่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แจกข้อเสนอแนะดังกล่าวให้คณะกรรมการทุกคน เพื่อใช้เป็นแนวทางการทำงาน ซึ่งคณะกรรมการหลายคนอ่านและก็เข้าใจกันแล้ว แต่อยากให้ออกมาเป็นทางการ ซึ่งเท่าที่ตนอ่านก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษนอกเหนือไปจากที่นายกรัฐมนตรีได้พูดไปหลายครั้งแล้ว

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสปท. หนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ กล่าวถึงสูตรการทำงาน 2-3-4 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มอบนโยบายว่า เหมาะสม เป็น กรอบเวลาที่ชัดเจน สำหรับ 36 คณะกรรมการ มีความตั้งใจและมั่นใจว่า การปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ จะเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ซื้อขายตำแหน่ง โครงสร้างงานด้านการสืบสวนสอบสวน โอนย้ายภารกิจงานที่ไม่ใช่ของตำรวจโดยตรง กระจายอำนาจตำรวจไปยังท้องถิ่น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วม สิ่งเหล่านี้จะทำให้การแก้ไขปัญหาตรงประเด็นมากที่สุด ทำให้ตำรวจเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง ระบบเทาๆ ที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนต้องไม่มีอีกต่อไป

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์