อนุทิน : ภท.เมดอินไทยแลนด์ กำทุนสำรอง ส.ส. 2 หมื่นแต้ม ตัวเต็งไม่มีกั๊ก

อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
สัมภาษณ์พิเศษ
กว่า 1 ทศวรรษ ที่พรรคภูมิใจไทย(ภท.) กำเนิดขึ้นมาบนวัฏจักรการเมือง มี 2 ตระกูลการเมือง “ชิดชอบ-ชาญวีรกูล” ผนึกกำลังร่วมกันปฏิสนธิ

ปัจจุบันมี “อนุทิน ชาญวีรกูล” เป็นหัวหน้าพรรคมี “เนวิน ชิดชอบ” เจ้าของอาณาจักรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็น “ครูใหญ่” ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้ง

การเลือกตั้งครั้งแรก 3 ก.ค. 2554 ได้ที่นั่ง ส.ส. 34 เก้าอี้ หลุดจากเป้าที่วางไว้ 70 ที่นั่ง ครั้งที่สอง 2 ก.พ. 2557 บังเอิญที่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

เมื่อสังเวียนเลือกตั้งหมุนวนมาอีกคำรบ ภท.ของ “อนุทิน” กลายเป็นพรรคดูดี มีราคา มากกว่าการเลือกตั้ง 2554 นักการเมืองด้วยกันเองยังยอมรับว่า “น่าเกรงขาม” ขีดเส้นตัวผู้สมัครของพรรคจะต้องมี “ฐาน 2 หมื่นคะแนน” ขึ้นไปถึงจะส่งลงสมัครเลือกตั้ง

ต่อไปนี้คอนเซ็ปต์การเมืองของ “อนุทิน” และ ภท.ที่จะใช้ “ขาย” เพื่อเรียกคะแนนจากโหวตเตอร์ 50 ล้านคน

“ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ไม่คุยเรื่องเกมการเมือง ความขัดแย้งหรือการจับขั้ว เพราะในปัจจุบันปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ อาจมาจากความไม่แน่นอนในเรื่องการเลือกตั้ง ยังมีการชะงักของการลงทุนหรือการตัดสินใจใช้จ่ายงบประมาณไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ชัดเจนว่าหลังเลือกตั้ง ความแน่นอนของประเทศก็เกิดขึ้น คนที่จะมารับใช้ประชาชน คนหนึ่งก็คือ ภท.”

“ภท.เป็นพรรคที่มีผลงานชัดเจนในอดีต หลายโครงการที่เป็นตัวพยุงให้เศรษฐกิจภายในประเทศดำเนินมาได้ ข้ามยุคต่าง ๆ ที่ไม่มั่นคง วันนี้มีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีแดง ที่เกิดจากสมัย ภท. เริ่มเปิดดำเนินการ ถนนปลอดฝุ่นที่คนบอกว่า เป็นโครงการไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ ลองไปถามคนต่างจังหวัด เขาเรียกร้องถนนปลอดฝุ่นทั้งนั้น”

แต่เมื่อปัญหาเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้านเป็นวาระเร่งด่วนหลังเลือกตั้ง สิ่งที่ “อนุทิน” เสนอเป็นรูปธรรมคือ

“ภท.เข้าใจวิถีชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จะไม่ลงทุนในสิ่งที่เงินต้องหลุดออกไปนอกประเทศ ไม่นำเข้าสินค้าต่าง ๆ มาใช้ให้ดูว่าประเทศนี้มีความทันสมัยในเทคโนโลยี ทั้งที่ความต้องการยังไม่ถึงตรงนั้น จะเน้นทุกอย่างที่เป็น made in Thailand อะไรที่ทำในประเทศไทยได้ ภท.จะสนับสนุนทุกเรื่อง”

“โครงการระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ภท.เน้นให้มีถนน มีมอเตอร์เวย์ มีทางด่วนขยายช่องทางจราจรมากขึ้น ให้คนไทยทั่วประเทศไม่ต้องพึ่งการขนส่งสาธารณะเพียงอย่างเดียว รถไฟความเร็วสูงอาจทำได้เพียงสายสั้น ๆ ขืนเอาเงินไปทิ้งตรงนั้นหมด กว่าจะเสร็จ คนคงทนไม่ไหว”

“ภท.สามารถทำให้เงินที่มีอยู่จำกัดได้รับการใช้ และตกถึงทุกภาคส่วน ทุกระดับ ของระบบงบประมาณ ไม่ใช่คาอยู่เฉพาะผู้ประกอบการ แต่ลงไปถึงระดับผู้ใช้แรงงาน หาเช้ากินค่ำ”

แทบทุกพรรคต่างเสนอแคมเปญลด แลก แจก แถม รัฐสวัสดิการ-ประชานิยม ซื้อใจชาวบ้าน “อนุทิน” เห็นต่าง เชื่อว่าการแจกเงินไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง

“ภท.ไม่แจกปลา เราสอนให้คนถือเบ็ดไปตกปลา ให้เขาสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง เราจะสร้างค่านิยมแบมือรอรับการช่วยเหลืออย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป” 

“เพราะการแจกเงินครั้งเดียวก็หมดเร็ว แต่มีหนทางให้เขาทำกินอย่างยั่งยืนได้ เช่น จะแก้กฎหมาย Grab การแบ่งปันผลกำไรในภาคการเกษตร profit sharing ทำ Airbnb ให้ทุกคนที่มีบ้านสามารถรับแขกบ้านแขกเมืองได้”

หนุน TEC แทน EEC

แม้ว่าทีมงานเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามเข็น 10 อุตสาหกรรมในโลกยุคใหม่ ปักหมุดที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่ในความคิดของผู้ที่เคยบริหารอาณาจักรก่อสร้าง บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) มองว่ายังเกาไม่ถูกที่คัน

“เวลาพึ่งพาต่างชาติเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ คนในชาติได้อะไร เราต้องการเทคโนโลยีของเขา แต่ก่อนเรามีต่างชาติมาช่วยทำสะพานแขวน ไม่มีโครงสร้าง ต้องตอกเสาอยู่กลางแม่น้ำ จะหล่อคาน หล่อเสาต้องใช้ต่างชาติหมด เราซึมซับเทคโนโลยีของเขาเพราะเราไม่ได้ใช้เงินกู้ของเขา เรามีสภาพเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่เราจะไปจ้างต่างชาติเข้ามาแล้วซึมซับมาใช้”

“แต่วันนี้มีแต่ไปเปิดให้ต่างประเทศเข้ามา โดยที่ไทยไม่ต้องลงทุนสักบาทเดียว เพียงแค่แลกกับเรื่องพาณิชย์ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อาชีพต้องห้ามต่าง ๆ ที่เคยสงวนไว้ให้คนไทย กลับให้คนต่างชาติ ให้เข้ามาทำอย่างเสรี เช่น สถาปนิก วิศวกร แพทย์ นักบิน วันนี้สอนให้คนเรียนสูงๆ แต่ปล่อยให้คนต่างชาติมาแย่งงานของเรา”

“เราไม่ต้องการเทคโนโลยีสูง ๆ แล้วคนในประเทศมีหน้าที่เพียงแต่ลำเลียง ขนส่ง ฉาบปูน ก่ออิฐ โดยที่ไม่ได้ซึมซับเทคโนโลยีของต่างประเทศมาได้เลย”

“อนุทิน” ไม่ได้ปิดกั้นเรื่องการมีเขตพัฒนาพิเศษอย่าง EEC ไม่ได้ปิดกั้นการลงทุนจากต่างชาติ เพียงแต่ไม่ต้องการเน้นไปที่การพัฒนาภาคตะวันออกเพียงอย่างเดียว ต้องการให้ทุกพื้นที่ทั้งประเทศได้ประโยชน์ ด้วยการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่นักลงทุนต่างชาติใหม่

“ถ้ามี EEC ได้ ก็มี TEC ได้ ทั่วประเทศก็ทำได้ ไม่ต้องเฉพาะภาคตะวันออก ทำไมมาอยู่ที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ถึงควรจะได้สิทธิประโยชน์มากกว่าหนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ อุตรดิตถ์ อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ระนอง พัทลุง ลำพูน แพร่ ในเมื่อภาคเหล่านี้สมควรจะได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า ไม่ได้บอกว่า ภท.เข้ามาจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการเชิญต่างชาติมาลงทุน”

ไม่มีก๊ก-ไม่มีกั๊ก สู้เต็มที่ 

ในสงครามการเมืองครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ก๊ก เผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตย แต่ ภท.ถูกนักการเมืองด้วยกันเองจัดลำดับให้อยู่ในขั้วพิเศษ คือ “ขั้วกั๊ก”

เขาปฏิเสธทันที… “คนที่บอกว่า ภท.กั๊ก ก็คือพวกก๊ก เราเป็นตัวของตัวเองเต็งกับพี่น้องประชาชน ภท.แปลความต้องการของประชาชนได้ชัดเจน ไม่มีเพี้ยน ประชาชนต้องการสิ่งใด ภท.จัดให้หมด ไม่กั๊ก เราต้องเคารพเสียงของประชาชนและพรรคที่ร่วมงานด้วย ไม่มีกั๊ก ทำงานเต็มที่”

ถาม “อนุทิน” ว่า กับ “ก๊กทักษิณ” ที่ ภท.ถือเป็นพันธมิตรเก่า กับ “ก๊กประยุทธ์” ที่ ภท.ทำงานด้วยได้ ลำบากใจไหมที่ทั้ง 2 ขั้วขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด “อนุทิน” ตอบสั้น ๆ แต่ได้ใจความว่า “ไม่ลำบากใจ ต่อให้รักใครแค่ไหนก็รักประเทศไทย รักประชาชนมากกว่า ผ่านจุดมุ่งมั่นของเรา คือ แก้ไขปัญหาปากท้องให้ประชาชน ไม่มีความลำบากใจทั้งสิ้น”

ตั้งเป้าเป็นพรรคระดับชาติ

การเลือกตั้งปี 2562 “อนุทิน” วางเป้าว่าจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งครบทุกเขต แม้เป็นการเลือกตั้งรูปแบบใหม่ สามารถส่งผู้สมัครไปแพ้เพื่อรวบรวมคะแนนเขต แปลงมาเป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้

“ตอนแรกคิดว่าบางพื้นที่เอาแต่คะแนน แพ้ก็ได้ แต่หลังจากลงพื้นที่ทำระบบไพรมารี่ภายในพรรค รู้สึกสู้ได้ มีลุ้นทุกเขต ไม่มีคำว่าแพ้ ภท.มีแต่ส่งไปเพื่อชนะ ขอให้เขตชนะจนปาร์ตี้ลิสต์ ภท.ไม่มี”

“นึกไม่ถึงว่าจะมีพี่น้องที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน หรือสนใจทำงานการเมืองด้วยกัน ให้ความสนใจนโยบายของ ภท. เยอะจน ต้องปรับสถานะตัวเองว่า ไม่ใช่พรรคท้องถิ่นแล้ว”

“อนุทิน” ขยายปัจจัยที่ทำให้ ภท.พลิกจากพรรคท้องถิ่นมาเป็นพรรคระดับประเทศว่า “วันนี้เรามีครบ ไฮเทคก็ได้ เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม สาธารณสุข การแพทย์ สังคม การศึกษา นี่คือความเปลี่ยนแปลง สมัยก่อนคิดกันเองในพรรค จะไปขอความร่วมมือหรือความช่วยเหลือก็ได้ในสิ่งที่เขาพอใจให้ได้ แต่วันนี้ท่านเหล่านั้นยอมทิ้งงานเข้ามาเป็นทีมยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศของ ภท.”

ในฐานะหัวหน้าพรรคเนื้อหอมที่สุด พร้อมที่สุด เขาถึงวางเกณฑ์คัดผู้สมัครว่าจะต้องมีฐานคะแนน 2 หมื่นคะแนนในพื้นที่ขึ้นไป จึงส่งลงสมัคร เหมือนการสอบเอนทรานซ์

“ภท.มีข้อสอบให้บรรดาสมาชิกที่จะเสนอตัวเป็นผู้สมัครต้องทำ ท่านเหล่านั้นก็ได้ทำข้อสอบให้เห็นว่า ผ่านหรือไม่ผ่าน จะเห็นได้ว่าคนที่ว่าแน่ ๆ แล้วเจอคนรุ่นใหม่มาแข่งขันกันทำข้อสอบ คนรุ่นใหม่ผ่าน แต่คนเก๋า ๆไม่ผ่าน ภท.เลือกคนหน้าใหม่เป็นผู้สมัคร ส.ส. ใครมีฐานคะแนนต่ำกว่า 2 หมื่นคะแนน คือสอบตก ดังนั้นฐานของ ภท.จะต้องเป็นคนที่มีความศรัทธาจากชาวบ้าน”

แข่งกับตัวเองไม่ออกนอกลู่

นอกสนามการเมือง “อนุทิน” ใช้เวลาไปกับการขับเครื่องบิน แต่ในสนามเลือกตั้งเขาเปรียบเป็นลู่แข่งม้าในฐานะจ๊อกกี้เขาไม่แข่งกับใคร แต่ขอแข่งกับตัวเอง

“ผมแข่งกับตัวเอง อย่าออกนอกลู่ เรารู้อยู่แล้วว่าเป้าหมายของเราอยู่ตรงไหน ขี่ม้าหันซ้ายหันขวาเมื่อไหร่ตกม้า แล้วต้องระวังด้วยว่าทางแยกอยู่ตรงไหน เกร็งขาไว้ให้ดี เดี๋ยวก็ถึงเป้าหมาย คือ ความสงบสุขของประเทศชาติ การอยู่ดีกินดีของประชาชน ความสามัคคีของคนในชาติ”

“แม้ว่าจ๊อกกี้ของคู่แข่งจะมีแบ็กดีแค่ไหน แต่ม้ารัดเข็มขัดไม่ได้ ถ้าจ๊อกกี้ไม่ดีอยู่ไม่ได้ เวลาอยู่บนหลังม้าต้องมีความพร้อมทุก ๆ ด้าน ภท.มีความพร้อมทุกด้าน มั่นใจ”

เมื่อเป้าหมายอยู่ที่เส้นชัย จะเข้าที่ 1 หรือที่ 2 “อนุทิน” ไม่ตอบ บอกว่า “ถึงเวลานั้นรู้เอง”

“คำว่าที่ 1 เรากำหนดเอง ไม่ให้ใครมากำหนด คราวที่แล้ว ภท.มี 34 คน ถ้าเลย 34 คนก็ที่ 1 ของคน ภท. ถ้าต่ำกว่า 34 คน หัวหน้าพรรคก็ต้องพิจารณาตัวเอง ไม่มีอะไรมากมาย”

จากนี้ “อนุทิน” จะเป็นนายกฯในบัญชีพรรคภูมิใจไทยคนเดียว ไม่มีชื่ออื่นประกบ ส่วนจะ “เก๋า” พอที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ เขาตอบปิดท้ายว่า


“ถ้ามีเจตนาดีกับประเทศชาติไม่ต้องใช้ความเก๋า สู้กับคนที่เขาไม่ยินดียินร้าย สู้กับคนที่อะไรก็ได้ เป็นการต่อสู้ที่ยาก ขอเข้าสภาให้ได้ ที่เหลือค่อยว่ากัน”