4 ด่านหิน พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ล้างมรดกต้องห้าม คสช.

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดทางคืนประชาธิปไตย

แต่ใช่ว่าหลังเลือกตั้งอำนาจ คสช.จะหมดไปโดยพลัน ทันทีทันใด ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “มรดก” คสช.ตกค้าง แม้ว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

ไม่ว่าฝ่ายนั้นจะเป็นพรรคการเมืองฝ่ายสืบทอดอำนาจ คสช.หรือเป็นพรรคการเมืองขั้วที่เรียกตนเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยก็ตาม

“มรดก” คสช.ที่จะ “ตกค้าง” หลังเลือกตั้งแบ่งได้ 2 ช่วง คือ ช่วงหลังเลือกตั้งและจะหมดไปหลังมีรัฐบาลใหม่เข้าบริหารประเทศ กับช่วงมีรัฐบาลใหม่ไปแล้วแต่มรดกยังคงอยู่

ช่วงแรกที่ “มรดก” คสช.จะหมดไปหลังจากมีรัฐบาลใหม่

1.ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ต่อไปจนกว่าจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้ง ตามมาตรา 263

2.ให้คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ ตามมาตรา 264

3.ให้ คสช.อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่และให้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ตามมาตรา 265

นักการเมืองที่อ่านรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด วิเคราะห์ไปได้ล่วงหน้าหลังเลือกตั้งว่า หากหลังการเลือกตั้งเกิดอุบัติเหตุการเมือง ไม่สามารถหานายกรัฐมนตรีไม่ว่านายกฯคนใน หรือคนนอกจนเกิด dead lock ในการจัดตั้งรัฐบาล

“พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะหัวหน้า คสช.สามารถใช้ทุกกลยุทธ์บีบให้นักการเมืองหันมาเทเสียงให้กับนายกฯคนนอก หากไม่พลิกขั้ว สามารถใช้ ม.44 “ยุบสภา” แล้วเลือกตั้งใหม่ได้

ส่วนมรดก คสช.ที่จะอยู่คงทนไปแม้มีรัฐบาลใหม่

1.ส.ว. 250 คน มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาที่ คสช.แต่งตั้ง 194 คน ส่วนอีก 6 คน มาจากปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

มีหน้าที่สำคัญร่วมยกมือ “โหวตเลือกนายกฯ” ในสภาได้ 2 สมัย ครั้นมีรัฐบาลใหม่ จะต้องรายงานผลการปฏิรูปประเทศต่อ ส.ว. 250 คน ทุก ๆ 3 เดือน หากนักการเมืองคิดจะ “แก้รัฐธรรมนูญ” ต้องกล่อมให้ ส.ว.จำนวน 1 ใน 3 เห็นชอบ (84 คน) ไม่เช่นนั้นจะแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้

2.ยุทธศาสตร์ชาติ ที่วางทิศทางประเทศไว้ 20 ปี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 65 สามารถปรับปรุงทบทวนได้ทุก ๆ 5 ปี มีมาตรการบังคับว่าการออกนโยบายของรัฐบาลจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ หากไม่ทำตาม อาจถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอน ยุทธศาสตร์ชาติจึงเป็นสิ่งที่นักการเมืองต่างร้องยี้…

การบัญญัติให้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ จะควบคู่กับแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะมีคณะกรรมการปฏิรูปชุดต่าง ๆ 11 ด้าน ที่ออกตามระเบียบสำนักนายกฯ ร่างแผนปฏิรูปในแต่ละด้านก่อนชงให้รัฐบาลไปปฏิบัติตาม ในบรรทัดสุดท้ายรัฐบาลจะต้องมาแถลงผลงานต่อหน้า ส.ว. 250 คน ทุก ๆ 3 เดือน

3.ประกาศ และคำสั่ง คสช.เป็นที่รู้กันในวงการกฎหมาย ว่า กฎ-ระเบียบต่าง ๆ ที่ออกโดยคณะปฏิวัติ-คณะรัฐประหารตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน มีศักดิ์เท่ากับกฎหมาย และจะอยู่คงทนจนกว่าจะมีการออกกฎหมายมายกเลิก

นับตั้งแต่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจ 2557 ได้ออกประกาศ และคำสั่ง คสช.จนถึงบัดนี้ประมาณ 540 ฉบับ

4.มรดกชิ้นใหญ่ที่สุดคือ รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยกตัวอย่างความยากของการล้างมรดก คสช.ชิ้นนี้ อาจต้องทำประชามติ 4 รอบ ถึงจะแก้ไขได้

แค่ถ้าใช้วิธีแก้ไขตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ ปกติในรัฐสภาจะมี “ด่านหิน 4 ด่าน”

1.ขั้นรับหลักการวาระ 1 ต้องได้เสียงเห็นชอบในการแก้ไขเพิ่มเติม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (ส.ส.500 คน+250 ส.ว.=750) คือ 376 เสียงขึ้นไป ในการเห็นชอบ ส.ว.จะต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 (84 เสียง)

2.การลงคะแนนในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย จะต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย

โดยต้องได้เสียงเห็นชอบจะต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง ส.ส.และ ส.ว.คือ 376 เสียง โดยเสียงของ ส.ส.จะต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ส.ของพรรคการเมืองที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของ

ทุกพรรคการเมืองรวมกัน และจะต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 สมาชิกทั้งหมดของ ส.ว.

3.ถ้าจะแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงอำนาจของศาลและองค์กรอิสระ “ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ” ก่อนถ้าผลออกมาว่า “เห็นชอบ” กับร่างที่แก้ไข ต้องรอไว้ 15 วัน แล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ

4.ก่อนนายกฯนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขนำขึ้นทูลเกล้าฯ เปิดโอกาสให้ ส.ส.หรือ ส.ว.ใช้เสียงแค่ 1 ใน 10 ของ 2 สภา เสนอ “คัดค้าน” ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อีกครั้งว่า เข้าข่ายการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือไม่ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ

การ “ล้างมรดก” คสช.ของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจึงยากยิ่งกว่ายาก